ss

7 เมษายน 2554

ช่างภาพข้างถนน การถ่ายภาพแนวสตรีท (Street Photographer)


พอได้ยินคำว่า "ช่างภาพข้างถนน" แล้ว ภาพในหัวจะนึกถึงแต่ช่างภาพที่แต่งตัวซอมซ่อ สกปรก เสื้อผ้าขาดวิ่น ผมเป็นกระเซิง สะพายกล้องเก่า ๆ สายสะพายจะขาดมิขาดเหล่อยู่แล้ว เดินต๊อก ๆ ข้างถนน แค่ชื่อก็ดูเหมือนไม่มีความ ไพเราะอยู่แล้ว เป็นอะไรที่ต่ำต้อยเสียเหลือเกิน เป็นช่างภาพเฉย ๆ ไม่ได้ ทำไมต้องอยู่ข้างถนน" ด้วยเล่า "
     คำว่า "ช่างภาพข้างถนน" เป็นคำที่ แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Street Photographer" นับคำ
แปลที่ตรงตัวและให้ความหมายในตัวมันเองอย่างสมบูรณ์ลงตัวที่สุดสถานที่ทำงานของช่างภาพข้างถนน ก็คือข้างถนนนั้นเอง เขาจะเป็นช่างภาพที่เก็บภาพจากรอบ ๆ ตัว ตามท้องถนน
หน้าปากซอย ในเมือง ในหมู่บ้าน หรือในสังคมที่อยู่ขณะนั้น โดยมากมักจะเป็นภาพอากัปกิริยาต่างของผู้คนที่ถูกถ่ายอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ภาพเป็นไปอย่างธรรมชาติ ตามบรรยากาศในความเป็นจริง ต้องไม่มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งแต่อย่างใด ลืมเรื่อง Photoshop ไปเลย ภาพทั้งภาพจะให้ความรู้สึกเหมือนผู้ดูเข้าไปอยู่ในภาพนั้น ๆ รู้สึกมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ กับเขาด้วยช่างภาพที่ถ่ายภาพในลักษณะนี้ คล้าย ๆ กับช่างภาพสารคดีเชิงบอกเล่าความเป็นไปต่าง ๆ ของสังคม หรือที่เรียก ว่า Photojournalist หรือ Documentary Photographer เพียงแต่ Street Photographer จะมีอิสระในทางความคิดมากกว่า ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เห็นได้จังหวะเมื่อไร ก็เก็บภาพเมื่อนั้น นึกอยากจะถ่ายก็ทำเลยโดยไม่ต้องมี บก. ต้นสังกัดมานั่งตีกรอบหา Topic ให้ทำ






ปัจจัยในของการเป็นช่างภาพข้างถนนที่ดีประกอบไปด้วย 1. สถานที่ถ่ายภาพ 2. ช่างภาพ 3. อุปกรณ์ถ่ายภาพ และ 4. เทคนิคการถ่ายรูป  และ 5. เทคนิคของตัวช่างภาพเอง โดยขอเริ่มจาก

1.
สถานที่ถ่ายภาพ
     การถ่ายภาพข้างถนนนั้น อาจจะเรียกว่าเป็นการถ่ายภาพแนวไลฟ์ แนวแคนดิท ก็ว่าได้ ดังนั้นสถานที่จะถ่ายภาพให้สนุก มีความหลากหลาย
มีชีวิตชีวากว่าก็น่าจะเป็น ตามเมืองใหญ่ ๆ ที่มีแต่ความวุ่นวาย ผู้คนต่างคนต่างทำกิจกรรมของตนเอง โดยไม่ได้ใส่ใจกับบุคคลรอบด้านนัก ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ คงเป็นแถว ๆ  เยาวราช, รามคำแหง, บางกะปิ อะไรแบบนั้น ต่างประเทศใกล้ ๆ บ้านเรา ที่ผมเคยไปเดินเก็บภาพมาแล้วก็มี ฮ่องกง, โตเกียว, เชียงไฮ้, เซินเจิ้น ฯลฯ เมืองเหล่านี้จะถ่ายภาพได้สนุกมาก ต่างคนต่างไม่สนใจใคร ตัวช่างภาพสามารถเดินเข้าไปใกล้ชิดกับแบบ จะได้ภาพ แบบที่เป็นธรรมชาติ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี นอกจากผู้คนที่หลากหลายแล้ว ยังมีวัฒนธรรมแตกต่างกันอย่างมี นัยยะให้เราถ่ายรูปสนุกด้วย
 
2. ช่างภาพ
     สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับงานนี้ก็คือ ตัวช่างภาพเอง จริงมั๊ยครับ มีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแต่ไม่มีคนถ่าย
ภาพถ่ายนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับผู้ที่รักในการถ่ายแนวสตรีทพวกนี้ นอกจากจะเป็นคนที่มีหัว
ทางอาร์ตหน่อย ประเภทที่ว่ามองเห็นกองขยะก็สวยงามได้
ต้องสามารถมองจากสิ่งธรรมดาสามัญ สิ่งที่พบเห็นจนเจนตา บรรจุลงในภาพถ่ายให้มีความสวยงาม ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และควรต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มองเห็นมนุษย์เป็นเพื่อน ไม่ใช่สัตว์กินเนื้อที่คอยจ้องจะรับประทานเราได้ทุกเวลา
ตัวช่างภาพเองไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบหรือกฏเกณฑ์ของการถ่ายภาพมากนัก มิฉะนั้นแล้วพวกเราก็จะอยู่แต่ในกรอบเดิม ๆ ภาพออกมาเป็นรูปแบบเดิม ๆ ตราบใดที่ยังมีกรอบล้อมรอบตัวเรา ความคิดสร้างสรรค์หรือความครีเอทีฟคงไม่บังเกิดออกมาจากสมองซีกขวาของเราแน่
 

3. อุปกรณ์ถ่ายภาพ
3.1  กล้อง

     กล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพในแนวนี้ ต้องเป็นกล้องขนาดไม่ใหญ่ เลนส์ไม่โตนักมิฉะนั้นจะเป็นที่สังเกตของตัวแบบได้ ลองนึกดูว่าตัวคุณเองโดน ช่างภาพที่ไหนก็ไม่รู้ เอากล้องตัวเบอะเรอะ ติดแบตเตอรีแพ็ค พร้อมเลนส์สีขาวใหญ่กว่ากระบอกข้าวหลาม พอยกกล้องขึ้นเล็งแล้ว รับรองตัวใครตัวมัน ตัวแบบที่ถูกถ่ายต้องระวังตัว หวาดระแวง แสดงท่าที่ขัดเขิน ประหม่า ก็รีบวิ่งหนีหายไปเลย

     ถึงคราวเคราะห์หามยามร้าย ผีซ้ำด้ามพลอย ประเภทพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ตัวแบบวิ่งเข้าใส่ กระชากคอช่างภาพ มาถามว่า "แอบถ่ายตรูเรื่องอะไรฝ่ะ" มีเรื่องมีราวเจ็บตัวกันไปเปล่า ๆ อย่าลือว่า เราเป็น Street Photographer นะครับ ไม่ใช่ พวก ปาปารัสซี่ที่คอยไล่ตามแอบถ่ายดาราดัง คนดังวงการต่าง ๆ เพื่อไปขายหาเงินเลี้ยงปากท้อง แต่เราทำเพียงสร้างงานศิลปะนะครับ

2.2 ชนิดของกล้อง
กล้องสำหรับถ่ายสตรีทนั้น เป็นอะไรก็ได้แต่ขอให้มีขนาดเล็ก ๆ ก็พอแล้ว เวลาเราเดินไป

ไหนมาไหน ผู้คนหรือแม้แต่ตัวแบบเองจะได้มองตัวช่างภาพเหมือนกับพวกทัวร์รีสจากแผ่นดินใหญ่ ที่มาเดินช็อปปิ้ง
ท่องเที่ยวอาโนเน๊ะ แทนที่จะเห็นหน้าเรามีเขี้ยวโผล่ออกจากปากเหมือนบรรดามือโปรทั้งหลาย สามารถกลมกลืนไปกับ สภาพแวดล้อมได้ดี
 
     
กล้องแรงจ์ไฟเดอร์ กล้องดิจิตอล
     ช่างภาพสตรีทที่มีชื่อเสียงโดยมากจะใช้ฟิลม์ขาว-ดำ กับงานของเขา ภาพขาว-ดำ เป็นภาพที่เหมาะกับการภาพสตรีทมาก เพราะให้อารมณ์ ความรู้สึก ออกมาได้ดีกว่าการเป็นภาพสี ภาพขาว-ดำมีความเป็นนิรันดร ดังนั้นกล้องที่ ใช้ควรเป็นกล้องฟิลม์ มากกว่ากล้องดิจิตอล ซึ่งกล้องฟิลม์ตัวเล็ก ๆ มักจะเป็นกล้อง Range Finder ซึ่งมีให้เลือกทั้งที่เป็นระบบแมคคานิคล้วน และมีระบบออโตปรับความเร็วอัตโนมัติในตัว โดยช่างภาพเพียงแต่เลือกเปิดรูรับแสงเท่านั้น กล้องก็จะปรับความเร็วให้สัมพันธ์กับสภาพแสงในเวลานั้นให้เอง
    
     ข้อดีของกล้องฟิลม์ Range Finder อีกอย่างหนึ่งคือการกินแบตเตอรี่น้อยมาก โดยเฉพาะกล้องแมคคานิค ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพื่อเครื่องวัดแสงเท่านั้น แม้แบตฯ หมด ยังสามารถใช้ถ่ายต่อไปได้สบาย ถ้าเป็นกล้องออโตรุ่น
ใหม่ต่าง ๆ เวลาที่แบตฯ หมด ชีวิตช่างภาพก็อาจหมดลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดากล้องดิจิตอลทั้งหลายนั้นเอง
   

2.3 เลนส์
     กล้องแรงจ์ไฟเดอร์ เป็นกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ให้เหมาะสมกับระยะเป้าหมายได้ ถึงตรงนี้นักเล่นกล้องดิจิตอลอาจจะแย้งว่า กล้องดิจิตอลคอมแพ็ค รุ่นต่าง ๆ ที่มีขายทั่วไป ล้วนแล้วแต่ติดเลนส์ซูมถ่ายได้ถ้าได้หลายระยะ โดยไม่เห็น
จำเป็นต้องแบกเลนส์ติดตัวไปให้มากเรื่อง แต่...ครับ...แต่... อย่างที่นักถ่ายภาพทุกคนรู้ว่าเลนส์ fixed ยอมให้ความคมชัดมากกว่าเลนส์ซูมของกล้องดิจิตอลอยู่แล้ว และสามารถถ่ายทอดโทนของสีได้ออกมามากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทนของภาพขาว-ดำ

กล้องตัวเล็ก ๆ ประเภทคอมแพ็ค หรือกล้องฟิลม์ชนิด
Range Finder จะเหมาะสมกับภาระกิจมากกว่าแน่นอน โดยเฉพาะข้อดีด้านน้ำหนัก สามารถนำติดตัวไปได้หลายเลนส์ หรือหลายความยาวโฟกัส ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ขณะนั้น งานถ่ายภาพข้างถนนจำเป็นต้องเดินหามุมถ่ายภาพ อุปกรณ์ที่ติดตัวทั้งกล้องและเลนส์ต้องมีขนาดกระทัดรัดน้ำหนักเบา ทำให้กระเป๋ากล้องของคุณเบาขึ้นด้วย และก็ไม่จำเป็นต้องใช้กระเป๋ากล้องใบใหญ่ให้เป็นที่สังเกตุของคนรอบข้าง
 
เลนส์สำหรับถ่ายภาพสตรีทนั้น เลนส์?ที่เหมาะสมควรเป็นเลนส์ไวด์ ตั้งแต่ 21, 28 และ 35 มม. ไปจนกระทั่งเลนส์ 50 มม. สำหรับเลนส์ 35 มม. จะเป็นเลนส์ที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพสตรีทมากที่สุด คือไม่ไวด์จนทำให้ภาพผิดส่วน ขนาดเดียวกันก็กว้างพอสำหรับเก็บตัวแบบและบรรยากาศโดยรอบได้ดี ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้ไม่เหมาะกับงานอย่างนี้ เพราะทำให้มุมมองแคบ เหมาะกับการถ่ายภาพแบบ Portrait มากกว่า

3. ฟิลม์
     ถ้าเป็นกล้องดิจิตอล คอมแพ็ค ก็คงไม่ต้องมีเรื่องให้ปวดหัวในการเลือกใช้ฟิลม์แบบต่าง ๆ เพียงแต่เตรียมเม็มโมรี่ให้พอเพียงเท่านั้น งานช่างภาพข้างถนนนิยมถ่ายเป็นภาพขาว-ดำ ซึ่งภาพขาว-ดำ เป็นภาพที่ให้ความลึกลับซับซ้อนชวนติดตาม สามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้เหมาะกับงานลักษณะนี้มาก
     ในการถ่ายภาพข้างถนน เรามิอาจกำหนดตายตัวลงไปได้ว่า จะต้องถ่ายอะไร ถ่ายที่ไหน เวลากี่โมง มีแสงแดดมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมด้วยการใช้ฟิลม์ไวแสงที่มี ISO 400 ขึ้นไป ปัจจุบันร้านถ่ายรูปทั่วไปมักไม่สต็อกฟิลม์กันแล้ว อาจต้องไปซื้อร้านเฉพาะกิจที่ขายฟิลม์เหล่านี้กับช่างภาพมืออาชีพโดยตรง
     ฟิลม์ที่แนะนำทางฝั่งโกดักมี Kodak Tri-X 400, T-MAX 400 ทางค่ายฟูจิฟิลม์มี Fuji NeoPan 400, Neopan 1600 และ Neopan 3200 อย่าลืมว่ายิ่ง ISO สูงยิ่งทำให้มีเกรนในภาพมากขึ้น ฟิลม์ 400 พวกนี้สามารถเพิ่ม ISO ของฟิลม์ขึ้นอีก 1-2 สต็อปได้ง่าย เช่นจากฟิลม์ ISO 400 เวลาถ่ายภาพเราสามารถ push  เพิ่ม ISO 800 หรือเป็น ISO  1600 ได้ โดยต้องระบุเวลาส่งฟิลม์ไปล้างว่าได้เพิ่มหรือลดเท่าไร ทางแล็ปที่ล้างจะได้ เพิ่ม-ลด เวลาในการล้างให้เหมาะสมกับภาพที่ถ่ายมาด้วย
        
     จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของกล้อง Rangefinder ที่เหนือกว่ากล้อง SLR ก็คือการที่กล้อง RF ไม่มีกระจกสะท้อนแสงหน้าชัตเตอร์ จึงทำให้ไม่มีความสั่นสะเทือนเวลากดชัตเตอร์ ผู้ถ่ายภาพจึงใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้มากกว่าถึง
1-2 สต็อป ยิ่งใช้ประกอบกับฟิลม์ไวแสง ISO 400 ด้วยแล้ว เปรียบเสมือนมีระบบ IS กันสั่นในตัว ทำให้คล่องตัวในการถ่ายรูปตามท้องถนนมากขึ้น
  
     กล้อง Rangefinder ของกล้อง Leica M series มีม่านชัตเตอร์เป็นผ้าสังเคราะห์  วิ่งในแนวนอน ทำให้กล้องไลก้าเป็นกล้องที่ถ่ายภาพใช้มือถือในระดับความเร็วต่ำได้ดี และเสียงที่เกิดจากการกดชัตเตอร์จากม่านชัตเตอร์ผ้าจะเงียบ
กว่ากล้องที่ใช้ม่านชัตเตอร์โลหะ   ไม่เกิดเสียงรบกวน เหมาะในการถ่ายภาพโดยที่ตัวแบบไม่มีสิทธิ์รู้ว่าได้ถูกบันทึกภาพไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอีกอย่างของไลก้า
 
4. เทคนิคการถ่ายภาพ
     สำหรับผู้ที่ชินกับกล้องดิจิตอล มักมีคำถามว่ากล้องแมนนวลธรรมดาแถมเลนส์ไม่ออโตโฟกัสอีกต่างหาก จะใช้ถ่ายได้หรือครับ ตอบแบบฟันธงเลยว่า "ได้สบายมาก" ยกกล้องขึ้นมาก็ถ่ายได้ทันที เราจะทำได้ด้วยการ ตั้งค่าต่างๆ
ไว้ล่วงหน้า   ในการเดินถ่ายภาพสตรีท สภาพแสงบริเวณนั้นจะใกล้เคียงกัน เราสามารถวัดแสงบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ต้องการถ่าย แล้วตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือตั้งค่ารูรับแสงเตรียมพร้อมไว้ได้เลย
     ที่นี้มาถึงเรื่องการปรับความคมชัด แน่นอนว่าการถ่ายภาพแนวไลฟ์ แนวแคนดิค อย่างนี้ ต้องอาศัยความไว มั่วแต่มานั่งหมุนโพกัสด้วยมือรอจนกว่าจะชัด รับรองไม่ทันรับประทานแน่ เราจะใช้ตั้งระยะชัดไว้ล่วงหน้า โดยที่กระบอก เลนส์แมนนวล จะมีสเกลบอกระยะชัด ( Depth of Field) ไว้ให้เสร็จต่างจากเลนส์สมัยใหม่ที่มีแต่กระบอกเปล่า ๆ ไม่ได้ทำสเกลบอกตัวเลขสำคัญนี้ไว้
  

ลองดูจากในภาพนะครับ เลนส์ที่เห็นเป็นเลนส์ไวด์ของ Leica Summicron-M 35 mm. F/2 APSH  ถ้าเราเปิดหน้ากล้องกว้างสุดที่ f/2 ความคมชัดจะอยู่ที่ระยะ 2.5 เมตร หรือ 8 ฟุตเท่านั้น แต่ถ้าเราหรี่หน้ากล้องให้แคบลงไปที่ f/11 ช่วงของความคมชัดจะเริ่มตั้งแต่ที่ระยะ 1.5 เมตร (5 ฟุต) ชัดตลอดไปจนกระทั่ง 10 เมตร (30 ฟุต) ทำนองเดียวกันถ้าเราปรับให้รูรับแสงแคบเท่าที่เลนส์ทำได้ ในที่นี้เป็น f/16
ความคมชัดจะเริ่มตั้งแต่
1.2 เมตร (4ฟุต) เรื่อยไปจนสุดลูกหูลูกตาที่ระยะอินฟินิตี้
เพียงแค่ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ถ่ายรูปได้เลย เวลาเราเดินถ่ายรูปอยู่ข้างถนน สายตาคงพอคาดเดาระยะระหว่างเรากับตัวแบบได้ ก็สามารถเลือกเปิดหน้ากล้อง คำนวณระยะชัดลึกชัดตื้นได้ เห็นไหมครับว่า เร็วอย่าบอกใครเชียว ดังนั้น จึงไม่ควรไปดูถูกกล้องแมนนวลมือหมุน ช่างภาพสงครามสมัยเก่า ไม่มีทั้งออโตฯ โฟกัส ไม่มีตั้งค่าโปรแกรมอัตโนมัติต่าง ๆ พวกเขายังสามารถจับภาพนาทีชีวิตที่สำคัญมาได้ด้วยวิธีการตั้งกล้องไว้ล่วงหน้าแบบนี้  
     ถ้าเราต้องการภาพอย่างที่ตัวแบบแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ลองใช้วิธีตั้งค่าต่าง ๆ ล่วงหน้าตามที่แนะนำไว้ แล้วเวลาเดินผ่านแบบ ห้อยกล้องไว้ที่คอตามปกติ ไม่ต้องยกกล้องขึ้นเล็ง ให้กดชัตเตอร์ได้เลย อาศัยการกะระยะระหว่าง ตัวช่างภาพกับตัวแบบนิดหน่อยเท่านั้น เห็นไหมครับว่า ถ้าภาพแบบนี้สนุกดีออก ได้บริหารสมองด้วย โดยไม่จำเป็น ต้องพึ่งเทคโนโลยียุคใหม่เลย  
 
5. เทคนิคตัวช่างภาพ
   การถ่ายภาพในแนวสตรีทดูไปดูมาคล้าย ๆ กับ เป็นการแอบถ่ายเหมือนกันนะครับ ดังนั้น
การแต่งกายของตัวช่างภาพเองก็มีส่วนช่วยด้วย แต่งกายให้กลมกลืนกับประชาชนท้องถิ่น ต้องไม่ให้เป็นที่สะดุดตา
แต่งตัวให้เข้ากับสังคมแวดล้อมที่เราต้องการไปถ่าย อย่าแต่งตัวจนเวอร์เกินเหตุ เช่น ใส่ชุดหมีสีส้มแบบพนักงานดับ เพลิงไปเดินย่านเยาวราช อย่างนี้เป็นต้น
     เสื้อกั๊กช่างภาพก็ไม่ควรใส่ด้วย เดียวจะเป็นที่สังเกตว่ามีช่างภาพระดับมือโปรมาเดินอยู่ใกล้ ๆ เป็นที่แตกตื่นได้ กระเป๋ากล้องไม่ต้องเอาใบใหญ่ติดตัวออกไป ให้หากระเป๋าใบเล็กกะทัดรัด ถ้ามองไม่เหมือนกระเป๋ากล้องได้ก็ยิ่งดี อุปกรณ์ต่าง ๆ เอาติดตัวไปเท่าที่จำเป็นสำหรับภาระกิจในวันนั้น ภาพสตรีททั่วไปใช้แค่บอดี้กล้องและเลนส์อีก 2-3 ตัวก็น่าจะพอแล้ว อย่าลืมเตรียมฟิมล์ไปให้พอ อย่าแบกของหนัก เพราะเราต้องเดินถ่ายภาพข้างถนนเป็นวัน เดี๋ยวจะ เดี้ยงหมดแรงเดินเสียก่อน จำไว้ว่าอุปกรณ์ต้องเบา คล่องตัว จะได้เดินถ่ายภาพได้นาน ๆ
   
  
สมมุติว่าเรากำหนดสถานที่ถ่ายภาพไว้แน่นอนแล้ว ถ้ามีเวลาควรเดินสำรวจดูรอบ ๆ ก่อน เมื่อได้เห็นภูมิประเทศจริง เราอาจมีไอเดียเพิ่มเติมขึ้นมากก็ได้ ให้วางแผนการถ่ายรูปไว้ในใจ เมื่อเห็นจุดที่ต้องการถ่ายแล้ว ถือว่าจุดนั้นเป็น Killing Zone สำหรับแบบที่จะเดินเข้ามา ให้วัดแสง ตั้งกล้อง ยืนรอพอตัวแบบเดินเข้าจุดก็สั่งยิงได้เลย 
     กรณีที่แบบหันมามอง หรือจำเป็นต้องให้เขาเห็นว่าเราจะถ่ายรูปเขา ให้ขออนุญาตก่อน ใช้ยิ้มให้เป็นประโยชน์ ยิ้มเข้าไว้ อย่าลืมใช้ยิ้มให้เป็นประโยชน์   ยิ้มเป็นเครื่องมือในการสร้างมิตรภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่นี้ถ้าตัวแบบเขาไม่ต้องการให้เราถ่าย ก็ต้องไม่ถ่ายจริง ๆ เดี๋ยวเป็นเรื่องเป็นราวเจ็บตัวเปล่า ๆ ครับ ให้พยายามเข้าใจกล้อง เล่น กับกล้องให้คุณเคย เวลาที่นำออกมาใช้ต้องเสมือนว่ากล้องคืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย (จะเวอร์ไปมั๊ยเนี้ย....)   ...... ยิ้ม.....ครับ.....ยิ้ม......

ที่มา : www.thailandoutdoor.com


บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง