ss

24 เมษายน 2554

เทคนิคการถ่ายภาพ: 7 เทคนิคควรรู้ไว้ ก่อนไปถ่ายงานปริญญา


เทคนิคการถ่ายภาพ:  7 เทคนิคควรรู้ไว้ ก่อนไปถ่ายงานปริญญา

     1. หน้าชัดหลังเบลอง่าย ๆ แต่ได้ผล

เทคนิคการถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้าง ๆ เพื่อทำให้ได้ระยะชัดน้อย ๆ หรือที่เรียกว่าชัดตื้น จะทำให้ซับเจคของเราที่ถูกโฟกัสมีความคมชัด ในขณะที่ฉากหลังถูกทิ้งให้เบลอหลุดโฟกัสออกไปเพื่อทำการแยกสิ่งที่เราสนใจออกจากสิงที่ดูวุ่นวายและไม่น่าสนใจ เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง ๆ อย่างเช่น 50/1.8 เป็นเลนส์ที่ทำหน้าที่ได้ดีกับสถานการณ์แบบนี้และมีราคาถูก คุ้มค่ามาก ๆ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ วิธีนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราจะแยกซับเจคออกจากฉากหลังอันแสนวุ่นวายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพทั้งชุดต้องถูกละลายฉากหลักทุกภาพนะครับ เพราะฉากหลังบางทีก็มีอะไรที่น่าสนจะและบัณฑิตของเราอาจจะมีความผูกพันกับสถานที่นั้น ๆ อยู่ด้วยก็ได้ และหากถ่ายภาพคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ต้องระวังว่าที่ค่ารูรับแสงกว้างมาก ๆ อาจจะทำให้ได้ใบหน้าชัดไม่ครบทุกคน ดังนั้นเราควรปรับค่ารูรับแสงที่ไม่กว้างเกินไป และให้คนยืนอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน หากต้องการให้ได้ภาพหน้าชัดหลังเบลอแบบที่ยังคงความชัดไว้ได้ครบทุกคน



     2. ถ่ายมุมเสย หลบผู้คน หลีกหนีความวุ่นวาย

เทคนิคการถ่ายภาพ ในบางสถานการณ์ เช่น ฉากหลังที่มีผู้คนมากมาย การละลายฉากหลังด้วยค่ารูรับแสงกว้าง ๆ อย่างเดียวอาจไม่พอเพราะในความเบลอนั้น เราก็ยังจะต้องเจอกับสีสันของเสื้อผ้าที่แตกต่างกันดูน่ารำคาญตาและบางทีถึงขั้นแย่งความน่าสนใจไปจากซับเจคกันเลยทีเดียว การแก้ปัญหาทำได้โดยถ่ายเสยให้กล้องต่ำกว่าระดับสายตาปกติ เราจะได้ฉากหลังที่อยู่สูงพ้นผู้คนเหล่านั้นไป ถ้าบัณฑิตเรามีโครงหน้าในแบบที่ไม่ควรถ่ายเสยก็อย่าทำครับ หรือในวันแดดจัด ๆ แล้วเราถ่ายภาพกลางแจ้ง หากถ่ายเสยขึ้นไปเจอดวงอาทิตย์หรือท้องฟ้าขาว ๆ ก็ไม่ดีแน่ ๆ

     3. เลือกฉากหลักสักนิด แล้วถ่ายให้ชัดทั้งภาพไปเลย

สำหรับคนที่มีเลนส์คิทหรือเลนส์ที่ไม่ใช่ f/2.8 การละลายฉากหลังจะทำได้ยากขึ้น ถึงจะเบลอได้ก็เป็นแบบที่เบลอไม่สุดสู้เลนส์เทพเอฟกว้าง ๆ ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเสียใจไปครับ เพราะการเลือกฉากหลังที่เหมาะสมมันก็ทำให้เราได้ภาพที่สวยงามได้ ดีไม่ดีอาจสวยกว่าแบบที่ฉากหลังเบลอซะอีก ระยะชัดลึกที่มีมากในรูรับแสงแคบ ๆ มันก็เป็นข้อดีให้เราเอาไปเล่นกับสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้างที่มีรายละเอียดอันสวยงานไปเลยครับ ไม่จำเป็นต้องถ่ายให้เบลอแล้วยังปรับรูรับแสงเพิ่มความชัดลึกแถมเข้าไปอีก ภาพก็สวยได้นะครับ กรณีที่ไม่มีแฟลชผมนะนำว่าการถ่ายตามแสงในบริเวณกลางแจ้งจะทำให้เราเล่นกับค่า f ได้หลากหลายขึ้น

     4. ใช้ความวุ่นวายของผู้คนให้เป็นประโยชน์

ในสถานการณ์ที่ผู้คนมากมาย ลูกเล่นที่ผ่าน ๆ มาก็งัดมาใช้หมด ทั้งละลายคนก็แล้ว ทั้งเสยหลบก็แล้ว เล่นเอาช่างภาพเริ่มหมดมุขที่จะเล่น ถ้างั้นก็เอาคนที่วุ่นวายนี่แหลช่วยเราสร้างงานขึ้นมาเลยสิครับ เริ่มจากพูดแนะนำเตรียมการกับซับเจคของเราให้ไปโพสท่าอยู่ ณ ตำแหน่งที่ต้องการเสียก่อน ส่วนช่างภาพก็ถอยออกมาห่าง ๆ แล้วใช้เลนส์ซูมช่วงเทเลโฟโต้ซูมเข้าไปหาซับเจค วัดแสงตั้งค่าให้ชัตเตอร์สปีดต่ำ ๆ และถือกล้องให้มั่นคงที่สุด แล้วรอจังหวะเพื่อถ่ายภาพ ซึ่งภาพที่ได้ก็จะแสดงได้ถึงซับเจคของเราที่อยู่ทามกลางบรรยากาศอันแสนวุ่นวาย

     5. แสงและเงา

แสงเงาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพเรามีมิติ และช่วยสร้างอารมณ์ภาพให้น่าสนใจมากขึ้นกว่าภาพที่สว่างเคลียร์ ๆ ซึงจะแลดูแบนมากเกินไปและขาดมิติ ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงด้านข้างที่ได้ผ่านทางประตูและหน้าต่างนั้น นิยมใช้ในการถ่ายพอร์ตเทรตในเวลาที่แสงยังไม่สวยหรือเวลากลางวัน เพราะมันให้แสงเงาที่นุ่มและมีทิศทางที่ชัดเจน เล่นง่ายและได้ผลดี 

     6. ภาพทีเผลอหรือแคนดิต

เวลาถ่ายภาพมาชุดหนึ่ง ๆ เราอาจจะเคยรู้สึกเบื่อกับภาพที่มีแต่การมองกล้องแล้วยิ้มให้ปรากฏอยู่บนภาพทุกภาพ แต่นั้นเป็นสิ่งปกติที่ผู้ที่ถูกถ่ายภาพส่วนใหญ่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งถ้าหากมีคนมายกล้องตรงหน้าเรา เราก็ย่อมสนใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าในฐานะช่างภาพหากต้องการได้ภาพทีเผลอหรือแคนดิต เราควรจะมีการอธิบายแบบเตรียมตัวกันไว้ก่อนเลยหรือแอบถ่ายโดยไม่นับ 1 2 3 หรือจับจังหวะขณะที่ซับเจคเราสนใจกล้องตัวอื่น หรือสนใจในสิ่งอื่นอยู่ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บบันทึกเรื่องราวให้ได้ภาพบรรยากาศแห่งความสุขที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น

    7. ผลทางมุมมองด้วยเลนส์แบบต่าง ๆ

การใช้เลนส์แบบพิเศษที่มีผลทางเปอร์สเปคทีฟและดิสทอร์ชั่น อย่างเช่นเลนส์มุมกว้างจะทำให้ภาพดูยิ่งใหญ่และมีพลังมากกว่าที่ตาเห็น ส่วนเลนส์ฟิชอายจะมีดิสทอร์ชั่นสูงมาก เหมาะกับการเอาไปเก็บบรรยากาศโดยรวมหรือถ่ายภาพเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน ทั้งนี้การเลือกใช้เลนส์แบบต่าง ๆ ช่วยให้ได้ภาพที่มีมามองแปลกใหม่และไม่จำเจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้ภาพหลากหลายขึ้น ณ โลเคชั่นเดิม ๆ

ในงานพิธีแบบนี้นอกจากภาพที่เต็มไปด้วยแสงเงาและการใช้เทคนิคเพื่อภาพที่สวยงามแล้ว อย่าลืมนะครับว่าภาพช็อตง่าย ๆ เช่น ภาพรวมญาติหน้าตรง ยืนเรียกหน้ากระดานนั้น หากได้รับการเอาใจใส่เรื่องฉากหลังเข้ามาด้วยจะทำให้ได้ภาพดูดีขึ้นเยอะ ส่วนบรรยากาศแนวเพื่อนฝูงที่มีความสนุกสนานเฮฮาก็อาจจะเอาการถ่ายภาพแบบแคนดิตไปบันทึกเรื่องราว บรรยากาศ สีหน้าและอารมณ์ของเพื่อน ๆ จะทำให้ได้ภาพที่มีรสหลากหลายขึ้นอีกเยอะ หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นไกด์ให้กับช่างภาพมือใหม่หลายคนได้นะครับ หลังจากที่เข้าใจวิธีการง่าย ๆ ขั้นพื้นฐานของงานถ่ายภาในพิธีรับปริญญาบัตรแล้ว ที่เหลือก็คงเป็นการทำความคุ้นเคยในการใช้อุปกรณ์ที่มีและฝึกฝนเพื่อพัฒนามุมมองกันต่อไปครับ 

[เทคนิคการถ่ายภาพ]



บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง