ss

24 เมษายน 2554

เทคนิคการถ่ายภาพ สัตว์เลี้ยงริมถนน

เทคนิคการถ่ายภาพ สัตว์เลี้ยงริมถนน

เวลาเราเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากวิวทิวทัศน์ วิถีชีวิตผู้คนแล้ว บรรดาเจ้าตูบหรือน้องเหมียว ทั้งจรจัดหรือที่มีเจ้าของก็เป็นอีกซับเจคที่เราชอบถ่ายติดมาด้วย เพราะความน่ารักน่าชัง ประกอบกับการเป็นคนรักสัตว์ด้วยแล้ว ทำให้ในแต่ละทริปต้องมีภาพเจ้าตูบน้องเหมียวติดมาด้วยทุกครั้ง

แต่การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงที่เราไม่คุ้นเคยหรือสัตว์เลี้ยงที่เราพบเห็นตามท้องถนนนั้น บางครั้งก็ไม่ง่าย ที่สำคัญจัดฉากหรือจัดท่าทางในการถ่ายก็ทำได้ยาก อีกทั้งสัตว์แต่ละตัวต่างมีนิสัยที่แตกต่างกันออกไป ทำให้คาดเดาอารมณ์ไม่ได้ แล้วทำยังไงถึงจะได้ภาพ เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงตามท้องถนนมาฝากกันครับ
เทคนิคการถ่าย

การถ่ายภาพสัตว์ตามท้องถนน คาดเดาได้ยาก ด้วยเหตุที่เราไม่รู้ถึงอุปนิสัยใจคอของพวกเขา ทำให้การจัดท่าทางหรือจัดฉากถ่ายนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ดังนั้นเทคนิคการถ่ายภาพจึงเน้นไปที่การถ่ายที่รวดเร็วฉับไว เพื่อให้จับจังหวะที่น่าสนใจได้ทัน การโฟกัสก็ต้องถูกที่ถูกจุดซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายกับการถ่ายภาพแคนดิด คือเน้นการจับเอาจังหวะท่าทางที่น่ารัก น่าสนใจและดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด
สิ่งที่ต้องระวังในการถ่ายคือเรื่องของความไวชัตเตอร์และการโฟกัส เนื่องจากสัตว์อาจไม่อยู่นิ่ง อีกทั้งการถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัสสูง ๆ มีโอกาสเกิดภาพสั่นไหวได้ง่าย เพื่อความมั่นใจแนะทำให้

           - เปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหว
           - เร่ง ISO ขึ้นมาอีก
           - เลือกใช้ระบบโฟกัสติดตามวัตถุ (Servo)
           - เปิดระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง (แล้วมาคัดเลือกภาพที่จังหวะดีที่สุด และคมชัดที่สุดเอาภายหลัง)

ช่วงเลนส์

การถ่ายภาพสัตว์ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นสัตว์เลี้ยงของคนอื่นตามท้องถนน บางครั้งก็ไม่สามารถเข้าใกล้ได้ เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกันระหว่าเรากับสัตว์ ดังนั้นช่วงเลนส์ที่ถือว่ามีความจำเป็นและมีโอกาสได้ใช้งานได้บ่อยที่สุด คือเลนส์ในช่วงเทเล เพราะทำให้เราสามารถดักถ่ายจากในระยะไกลซึ่งจะช่วยลดความระแวงสงสัยจากคนและสัตว์ ทำให้มีโอกาสได้ภาพง่ายกว่าเลนส์ช่วงอื่น อย่างไรก็ตามเลนส์มุมกว้างกับเลนส์นอร์มอลก็สามารถนำมาใช้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าตัวที่เราจะถ่ายเป็นมิตรมากแค่ไหน เข้าใกล้ได้แค่ไหน และมีเวลาให้เราเลือกจัดองค์ประกอบได้ทันหรือไม่

โฟกัสที่ไหน

การถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ การเลือกจุดโฟกัสก็ยังคงเหมือนกัน นั่นก็คือไม่ว่ายังไงก็ต้องพยายามถ่ายดวงตาให้คมชัดเอาไว้ก่อน เพราะดวงตามันเป็นจุดสนใจของการภาพและดวงตาสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของพวกเขาได้ค่อนข้างชัดเจน

ถ่ายภาพระดับสายตา

เทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ดีกับภาพถ่ายที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราว คือการถ่ายภาพมุมต่ำ หรือการถ่ายในระดับสายตา ด้วยเลนส์มุมกว้างแต่การถ่ายภาพในมุมต่ำกับสัตว์เลี้ยงของคนอื่น มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยการเข้าไปถ่ายในระยะใกล้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการหลอกล่อ หรือสร้างความคุ้นเคยกันบ้าง หรือการส่งเสียงเรียก เมื่อเขาคุ้นเคยกับคุณมากขึ้น คราวนี้ก็ถ่ายได้ไม่ยากแล้ว แต่ต้องระวังสุนัขหรือแมวบางตัว ถ้าคุณเข้าใกล้มากเกินไปอาจกัดหรือข่วนให้เราเลือดตกยางออกได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้เลือกถ่ายตัวที่ดูไม่น่าจะมีอันตรายไว้ก่อนเป็นดีที่สุด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เป็นมิตรก็ต้องระวัง โดยเฉพาะกับเจ้าตูบที่ชอบเอาลิ้นมาเลียที่หน้าเลนส์ของเรา

เรื่องราวและอารมณ์

อย่าลืมใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม สถานที่เติมเข้าไปบอกเล่าเรื่องราว รวมถึงธรรมชาติความเป็นอยู่ของพวกเขา และหากต้องการเพิ่มอารมณ์ให้กับภาพ การปรับให้เป็นภาพขาวดำ ก็จะยิ่งช่วยให้ภาพนั้นได้อารมณ์สมกับเป็นการบันทึกเรื่องราวจากริมท้องถนนมากยิ่งขึ้นไปอีก


ที่มา: นิตยสาร ON CAMERA
เทคนิคการถ่ายภาพ

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง