ss

9 สิงหาคม 2553

LENS FOR LANDSCAPE PHOTOGRAPHY

LENS
FOR LANDSCAPE PHOTOGRAPHY

        ในการถ่ายภาพทิวทัศน์นั้นมืออาชีพ และนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์จะทราบดีว่า เลนส์มีความสำคัญต่อภาพที่ได้มากเพียงใด ความอลังการของขุนเขาความตระการตาของทะเลหมอกความสวยงามของทุ่งดอกไม้ หาดทราย ทะเล ทั้งหมดนี้ต้องสร้างภาพมาจากเลนส์ ดังนั้น การเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อการได้ภาพทิวทัศน์ที่ดี
          แต่เมื่อนึกถึงภาพทิวทัศน์เราก็มันจะนึกถึงเลนส์มุมกว้าง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ภาพทิวทัศน์ดี ๆ ไม่ใช่จะต้องบันทึกด้วยเลนส์มุกกว้างเสมอไป ภาพจากเลนส์มาตรฐาน เลนส์เทเลโฟโต้ หรือซุปเปอร์เทเลโฟโต้ก็สร้างภาพทิวทัศน์ดี ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของเลนส์แต่ละช่วงจะช่วยให้คุณเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมกับสภาพของสถานที่
เลนส์มุมกว้างมาก (Utra Wide-angle)

เลนส์มุมกว้างมากที่เราเรียกกันว่า เลนส์ซุปเปอร์ไวด์ หรืออัลตร้าไวด์นั้นคือ เลนส์ที่มีทางยาวกัสตั้งแต่ 20 มม. ลงไป เช่น 20 มม., 17 มม., 14 มม., 16-35 มม., 17-40 มม. เป็นต้น สำหรับเลนส์ของกล้องฟอร์แมต APS-C ทางยาวโฟกัสของเลนส์จะเป็น 10-20, 10-22, 10-24, 11-18 หรือ 12-21-4 มม. เป็นต้น
ด้วยมุมรับภาพประมาณ 100 องศา ทำให้เลนส์ช่วงนี้เก็บภาพได้กว้างมากใกล้เคียงกับการเห็นภาพของสายตา แต่สิ่งที่แตกต่างจากตาของเราอย่างมากคือ เพอร์สเปคทีฟ เพราะเลนส์อัลตร้าไวด์จะมีความบิดเบือนสูง วัตถุที่อยู่ใกล้กับกล้องจะมีขนาดใหญ่ บิดเบี้ยว ส่วนวัตถุที่อยู่ไกลจะมีขนาดเล็ก ความลึกใกล้ไกลเมื่อมองจากช่องมองภาพของกล้องที่ติดเลนส์อัลตร้าไวด์จึงแตกต่างจากการเห็นภาพด้วยสายตาของเรา ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ คุณสมัติในด้านนี้จะมีผลต่อภาพด้วย
          เลนส์ชนิดนี้ นักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์มักจะใช้เพอร์สเปคทีฟของเลนส์ไวด์ในการเปรียบเทียบขนาดในการสร้างฉากหน้า เพื่อให้ภาพมีมิติ และดูน่าสนใจในขณะที่มือใหม่มักจะเก็บภาพกว้างโดยขาดฉากหน้า ทำให้ภาพดูกว้างแบบเวิ้งว้างไร้จุดเด่น และภาพดูแบนไม่มีมิติ
          ดังนั้นการใช้เลนส์อัลตร้าไวด์ถ่ายภาพทิวทัศน์ นอกเหนือจากทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว คุณควรหาสิ่งต่าง ๆ มาประกอบในภาพ เพื่อใช้เป็นฉากหน้า เช่น ต้นไม้ โขดหิน ดอกไม้ เป็นต้น เพราะวัตถุเหล่านี้จะทำให้ภาพดูมีความลึก และทำให้ภาพดูไม่กว้างจนเวิ้งว้าง แต่สิ่งที่อยู่ใกล้กับกล้องจะมีความบิดเบือนสูง โดยเฉพาะถ้าอยู่ใกล้ขอบภาพ ดังนั้นจึงต้องระวังหากจะวางซับเจกต์ เช่น คน ไว้ที่หน้าฉาก แต่กับฉากหน้าที่เป็นก้อนหิน ดอกไม้ ต้นไม้ คงจะไม่มีผลอะไรถ้าจะบิดเบี้ยวผิดรูปทรงไปบ้าง
         แม้จะเป็นเลนส์มุมกว้างมาก แต่คุณจะต้องใส่ใจกับเรื่องควบคุมความชัดลึก ควรตรวจความชัดลึกว่าครอบคลุมถึงจุดที่คุณต้องการหรือไม่ ด้วยปุ่มเช็คความชัดลึก หรือลองบันทึกภาพแล้วซูมขยายภาพขึ้นมาเพื่อตรวจสอบก็จะแน่นอนกว่า ควรใช้ความชัดลึกเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเปิดรูรับแสงแคบมาก ๆ เช่น f/10 หรือ f/22 โดยหวังว่าจะได้ความชัดลึกสูงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความชัดจะลงลงไปอย่างมาก

เลนส์มุมกว้าง (Wide-Angle-Lens)

คือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 24 มม. จึงถึง 35 มม. มีมุกรับภาพตั้งแต่ 94 องศา ถึง 65 องศา ในปัจจุบันเลนส์มุมกว้างช่วงนี้อยู่ในเลนส์ซูมมาตรฐาน เช่น เลนส์ซูม 24-70 มม., 24-105 มม. ทำให้ความนิยมในเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวเช่น เลนส์ 24 มม., 28 มม. และ 35 มม. มีน้อยลงมาก แต่จุดเด่นของเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวก็คือ ขนาดที่เล็กกว่า มีความสว่างสูงกว่าและดิสทอร์ชั่นต่ำกว่า
         เลนส์มุมกว้างช่วงนี้ให้ภาพไม่กว้างมากนัก ผู้ที่ชื่อชอบถ่ายทิวทัศน์ โดยเฉพาะมือใหม่จึงมักจะไม่สนใจ โดยให้เหตุผลว่าเก็บภาพได้ไม่กว้างพอ ให้ภาพไม่เร้าใจ แต่นักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์จะทราบดีว่า ภาพทิวทัศน์ที่ดีอาจไม่ภาพที่บันทึกมากว้างมาก ๆ การเลือกมุมรับภาพให้เหมาะสม ไม่กว้างเกินไป ไม่แคบเกินไป จะได้ภาพที่ดีกว่า ซึ่งเลนส์มุมกว้างช่วง 24 มม. ถึง 35 มม. จะใช้ประโยชน์ได้ดีในกรณีนี้และด้วยเหตุที่เลนส์ช่วงนี้ให้ภาพไม่กว้างมากนัก ความบิดเบี้ยวของวัตถุในภาพจึงน้อยกว่า
          หากเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว เลนส์ 24 มม. จะใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้สนุก และให้ภาพกว้างกำลังดี ในขณะที่เลนส์ 28 มม. ก็ยังใช้งานได้ดี ส่วนเลนส์ 35 มม. จะใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่า

เลนส์มาตรฐาน (Standard Lens)

เลนส์ช่วงมาตรฐาน หรือเลนส์ 50 มม. นั้นมีประโยชน์ค่อนข้างน้อยในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ด้วยมุมรับภาพ 46 องศา ซึ่งมักจะไม่กว้างพอสำหรับภาพทิวทัศน์ส่วนใหญ่และก็ไม่แคบพอสำหรับการเลือกครอปเฉพาะบางส่วนของทิวทัศน์ อีกทั้งด้วยเพอร์สเปคทีฟที่ใกล้เคียงกับการมองเห็นของสายตาทำให้เมื่อมองภาพทิวทัศน์ผ่านช่องมองของกว้าง ภาพอาจดูไม่เร้าใจเหมือนการใช้เลนส์มุมกว้าง ทำให้เลนส์มาตรฐานไม่นิยมนำไปใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์เท่าใดนัก แต่ประโยชน์ของเลนส์มาตรฐานก็ยังมีไม่น้อยครับ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้งานในสภาพแสงน้อยโดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องความสว่างของเลนส์จะทำให้สามารถใช้งานแบบถือถ่ายด้วยมือเปล่าอย่างหวังผลได้ และอาจเหมาะกับบางฉาก บางสถานที่ โดยจุดเด่นที่สำคัญของเลนส์มาตรฐานคือคุณภาพเยี่ยมยอด ทั้งความคมชัด สีสัน และคอนทราสต์

เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens)

เลนส์ถ่ายไกล หรือที่เรียกทับศัพท์กันว่าเลนส์เทเลโฟโต้นั้น มีประโยชน์อย่างมากในการถ่ายภาพทิวทัศน์ เพียงนักถ่ายภาพมือใหม่อาจจะยังไม่เห็นประโยชน์ของเลนส์ชนิดนี้ การดึงภาพเข้ามาใกล้กว่าที่สายตาเห็นและมุมรับภาพที่แคบ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ในระยะใกล้ได้ เช่น ภาพดวงอาทิตย์ตก ภาพแนวทิวเขาในระยะไกล ภาพเจาะบางส่วนของทิวทัศน์ซึ่งภาพที่ได้จะขึ้นอยู่กับสายตาในการมองภาพของผู้ถ่ายว่าจะถ่ายกว้าง หรือแคบเพียงใด ต้องครอปแค่ไหนภาพจึงจะสวย
          ดังนั้นการใช้เลนส์ชนิดนี้ จึงมักนิยมใช้เลนส์ซูมมากกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว เพราะเป็นการเลือกครอปบางส่วนของทิวทัศน์ จากการเห็นภาพของสายตา เลนส์ซูมจะทำให้การเลือกขนาดภาพทำได้ง่าย คล่องตัว และได้เฟรมภาพดังใจมากกว่า เลนส์ที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์คือ เลนส์ซูมช่วง 70-200 มม. และ 55-200 มม. เป็นต้น ส่วนเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวจะไม่นิยมเท่าใดนัก จะมีเพียงเลนส์ 300 มม. f/4 ซึ่งหลายท่านเอาไว้ใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ และภาพนก ภาพสัตว์ป่า

เลนส์ฟิชอาย (Fisheye Lens)

          เลนส์เพื่อผลพิเศษที่ทำให้มุมรับภาพกว้างถึง 180 องศา ชนิดนี้ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ เพราะให้ภาพที่แปลก สะดุดตา และแตกต่างจากเลนส์มุมกว้างอย่างชัดเจน ด้วยความกว้างสุดสายตาของภาพที่ได้ ด้วยดิสทอร์ชั่นที่สูงมากและด้วยเพอร์สเปคทีฟ ที่สามารถใช้ในการเปรียเบเทียบขนาดวัตถุ แสดงถึงความใกล้ไกลได้ดี ทำให้มันเป็นเลนสี่ให้ภาพทิวทัศน์สวยงามได้ หากใช้อย่างสร้างสรรค์ และเลือกมุมภาพได้ดี เลนส์ฟิชอายมีดิสทอร์ชั่นสูงมาก เส้นตรงต่าง ๆ ในภาพจะเป็นเส้นโค้ง ยกเว้นเส้นผ่าศูนย์กลาง (ทุกระนาบ) ดังนั้นในการถ่ายภาพทิวทัศน์ หากต้องการให้เส้นขอบฟ้าเป็นเส้นตรง จะต้องวางเส้นกลางภาพเสมอ ไม่ว่าจะถ่ายแนวตั้ง หรือแนวนอน หากเส้นขอบฟ้าอยู่สูงกว่ากลางภาพเส้นจะโค้งนูน ในการถ่ายภาพทิวทัศน์เส้นขอบฟ้าจะโค้งออก จนบางภาพดูคล้ายผิวโค้งของโลก แต่ถ้าวางไว้ส่วนล่างของภาพ เส้นขอบฟ้าจะโค้งออกไปยังส่วนล่างของภาพเช่นกัน
           ในการลดความบิดเบี้ยวจึงต้องวางไว้กลางภาพ ยกเว้นว่าคุณต้องการผลพิเศษของภาพจากความบิดเบี้ยว ซึ่งบางครั้งอาจได้ภาพที่สวย แปลกตาก็เป็นได้ขึ้นอยู่ในสภาพฉาก และการวางเฟรมของช่างภาพ การใช้ฉากหน้ามีความสำคัญสำหรับเลนส์ฟิชอาย ฉากหน้าเช่น ดอกไม้ โขดหิน ที่อยู่ในระยะใกล้จะเพิ่มมิติ และทำให้ภาพทิวทัศน์จากเลนส์ฟิชอายดูน่าสนใจมากขึ้น การเข้าใกล้ฉากหน้ามาก ๆ แล้วคุมความชัดลึกให้ถึงระยะอินฟินิตี้ เป็นเทคนิคที่มักใช้ในการถ่ายภาพด้วยเลนส์ชนิดนี้
          ด้วยมุมรับภาพที่กว้างมาก ทำให้เมื่อใช้เลนส์ฟิชอายจะติดมุมโพลาไรซ์เข้ามาในภาพเสมอ แม้เลนส์ชนิดนี้จะใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ไม่ได้ (ส่วนใหญ่ต้องใส่แบบเจลาตินที่ด้านท้ายเลนส์) แต่จะทำให้ท้องฟ้าเข้มได้เช่นกัน โดยความกว้างของมุมรับภาพ อาจทำให้บางส่วนในมุมย้อนแสง ฟ้องฟ้าขาวจ้า และอีกด้านของภาพเป็นมุมโพลาไรซ์ ท้องฟ้าจะเป็นสีน้ำเงินเข้มได้
          เลนส์ฟิชอายนำมาใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์แบบย้อนแสงได้ดี ความกว้าง 180 องศาทำให้ดวงอาทิตย์ในภาพมีขนาดเล็กมาก ภาพมักจะไม่มีแสงฟุ้ง แต่จะมีภาพหลอนเรียงเป็นดวง ๆ ให้ภาพย้อนแสงที่ดูน่าสนใจ โดยสีของภาพยังอิ่มแน่น ความชัดลึกของเลนส์ฟิชอายไม่แตกต่างจากเลนส์มุมกว้างทั่ว ๆ ไป ดังนั้นในการถ่ายภาพทิวทัศน์โดยมีฉากหน้าระยะใกล้ ควรตรวจสอบเรื่องความชัดลึกให้ดี ก่อนบันทึกภาพจริง

เลนส์ (Tilt & Shift)

            เลนส์สำหรับควบคุมเพอร์สเปคทีฟของภาพนั้น คงมีช่างภาพน้อยคนนักที่จะนำไปใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ เหตุผลคือ ราคาที่สูงมาก น้ำหนักมาก ใช้งานไม่สะดวก แต่มีช่างภาพมืออาชีพของต่างประเทศไม่น้อยที่ใช้เลนส์ชนิดนี้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์
          คุณสมบัติเด่นของเลนส์ชนิดนี้นอกเหนือจากการปรับแก้เฟอร์สเปคทิฟ เพื่อใช้กับภาพสถาปัตยกรรม แล้วยังสามารถทิลท์เพื่อเปลี่ยนระนาบการตกกระทบของภาพบนเซ็นเซอร์ได้ ทำให้สามารถเพิ่มความชัดลึกให้วัตถุในภาพทิวทัศน์ได้ เช่น คุณสามารถใช้รูรับแสงเพียง f/4 ให้ภาพชัดตั้งแต่ระยะใกล้จนถึงอินฟินิตี้ได้ จึงมีประโยชน์ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ เลนส์ทิลท์แอนด์ซิฟท์ จะผลิตออกมาหลายทางยาวโฟกัส แต่ที่นำมาใช้สำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์คือ เลนส์มุมกว้าง เช่น Canon TSE 24mm f/3.5 LII และ Nikon FC-E 24 mm f/3.5 ED เพราะให้มุมรับภาพกว้าง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยการใช้ระบบ TILT และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบภาพกว้างมาก ๆ แคนนอนมีเลนส์ TSE 17mm f/4 L ให้เลือกใช้ด้วย โดยกับกล้องฟูลเฟรมจะให้ภาพกว้างถึง 104 องศา
          แต่ข้อจำกัดของเลนส์ชนิดนี้คือ ใช้งานยาก เพราะเป็นระบบแมนนวลโฟกัส คุณต้องโฟกัสด้วยตัวเองเท่านั้น อีกทั้งราคาที่สูงมาก ทำให้ความคุ้มค่าที่จะซื้อมาใส่ในการถ่ายภาพทิวทัศน์มีน้อยมาก

เลนส์มาโคร (Macro Lens)


          จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ในการนำเลนส์มาโครไปใช้ถ่ายภาพธรรมชาตินั้น มักจะไม่ใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ แต่เป็นการใช้ถ่ายภาพโคลสอัพของสิ่งเล็ก ๆ รายทาง เช่น ดอกไม้ แมลง ผีเสื้อ สัตว์ตัวเล็ก ๆ ดังนั้นนักถ่ายภาพธรรมชาติจึงมักจะมีเลนส์มาโครติดกระเป๋าเสมอเมื่อเดินทางท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณสนใจการถ่ายภาพมาโครมากน้อยแค่ไหน ถ้าชอบก็ควรมีเลนส์มาโครไว้ใช้งาน แต่ถ้าไม่สนใจเท่าใดนัก ก็ใช้ระบบมาโครของเลนส์ซูม หรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ท่อยืดระยะ (Extension Tube) หรือฟิลเตอร์โคลสอัพก็ได้
เลนส์มาโครที่น่าสนใจคือ เลนส์ช่วง 90-105 มม. เพราะใช้งานได้คล่องตัวกว่าเลนส์ช่วง 50-60 มม. ขนาดก็ไม่ใหญ่น้ำหนักก็ไม่มากนัก และราคาไม่สูงเกินไป นอกจากจะใช้ถ่ายภาพระยะใกล้แล้ว ยังนำมาใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อีกด้วย

เทคนิคเล็ก ๆ น้อย เลนส์กับการถ่ายภาพทิวทัศน์

- นำเลนส์ไปเท่าที่จำเป็น เน้นน้ำหนักเบาความคล่องตัวและความเบาในการแบกกระเป๋ากล้อง อาจสำคัญกว่าความไวแสงและคุณภาพของเลนส์
- ใช้ขาตั้งกล้องเสมอเมื่อมีโอกาส อย่าเชื่อมือตัวเอง โดยเฉพาะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เพียงแค่ควรเลือกขาตั้งกล้องที่มีน้ำหนักไม่มากเกินไป และใช้งานได้คล่องตัว
- ใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์เมื่อต้องการคุณสมบัติในการตัดแสงสะท้อน และการปรับให้ท้องฟ้าเข้ม แต่ไม่ควรสวมฟิลเตอร์โพลาไรซ์ไว้ตลอด เพราะเสียแสง 2 สตอป และลดคุณภาพของภาพลงเล็กน้อย (หากฟิลเตอร์คุณภาพไม่ดีจริง ๆ )
- ระวังในการถอดเปลี่ยนเลนส์ในสภาพที่มีฝุ่น หรือละอองน้ำ
- หมั่นตรวจสอบหน้าเลนส์ว่ายังใสหรือไม่ เพราะภาพที่ไม่ชัด และฟุ้งมักเกิดจากคราบหยดน้ำ คราบรอยนิ้วมือ มากกว่าคุณภาพของเลนส์

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง