ss

ผู้สนับสนุน

28 ตุลาคม 2555

เรียนรู้เรื่องเทคนิคการวัดแสง และ ล็อกแสง AE lock


จากคำถามของเพื่อนสมาชิกว่า การวัดแสงและล็อกแสง (AE lock) ต่างกันอย่างไร ผมจึงไขข้อข้องใจให้คร่าว ๆ ดังนี้ครับ

การวัดแสง.. เป็นกระบวนการวัดแสง ซึ่งกล้องดิจิตอลจะมีเซ็นเซอร์สำหรับวัดแสงขึ้นกับคุณสมบัติของกล้องนั้นๆ ส่วนใหญ่จะมี 3 รูปแบบได้แก่ วัดเฉลี่ยทั้งภาพ, วัดเฉลี่ยหนักกลาง และ เฉพาะจุด เรื่องนี้ผมอธิบายทุกครั้งที่มีการสอนเทคนิคการถ่ายภาพ และมีการแสดงตัวอย่างให้ดูด้วยครับ 
ปกติระบบวัดแสง จะใช้สีเทา 18 เปอร์เซ็นต์เป็นจุดอ้างอิง การทำงานของระบบวัดแสง คือจะตรวจสอบไฮไลท์ (พื้นที่สว่าง) และชาโดว์ (เงา) เพื่อใช้ในการตัดสินใจของกล้อง ว่าปริมาณแสงเท่านี้ควรใช้ค่าการถ่ายภาพเท่าไหร่
Spot_Metering
ตัวอย่างสัญลักษณ์ของโหมดวัดแสง ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายกัน Spot หมายถึงวัดแสงเฉพาะจุด, Center Weighted วัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง, ส่วนเฉลี่ยทั้งภาพแล้วแต่ยี่ห้อ ไอคอนจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

วัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ :
กล้องจะนำไฮไลท์และชาโดว์ มาคำนวณทั้งภาพ ซึ่งใช้ในสถานการณ์ทั่วไปได้ดี แต่ถ้ามีแสงยาก เช่น ถ่ายย้อนแสง แสงลงเป็นหย่อม ๆ หรืออยู่ในที่มืดมาก ๆ ระบบวัดแสงแบบนี้จะคำนวณผลออกมาไม่ได้ดั่งใจครับ เพราะกล้องไม่รู้หรอกว่าเราต้องการถ่ายจุดสนใจตรงไหนของภาพ กล้องจะคำนวณหยาบ ๆ แล้วปรับค่าการถ่ายภาพโดยเฉลี่ยออกมา
วัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง :
กล้องจะวัดแสงตรงกลางของเฟรมเป็นวงกลมขนาดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของเฟรม หมายความว่ากล้องจะนำไฮไลท์และชาโดว์บริเวณกึ่งกลางเฟรมมาคำนวณค่าแสงเท่านั้น แล้วจึงตัดสินใจว่าจะใช้ค่าถ่ายภาพเท่าไหร่ (โหมดอัตโนมัติเท่านั้น P, A, S, Scene)
วัดแสงเฉพาะจุด :
โหมดวัดแสงแบบนี้ ผู้ใช้ต้องเข้าใจระบบวัดแสงก่อนจึงจะใช้ได้ผลสูงสุด การวัดแสงเฉพาะจุดเมื่อก่อนจะวัดตรงกลางของเฟรมเป็นจุดเล็กๆ ประมาณ 8 เปอร์เซ็น แต่ในกล้องรุ่นใหม่ๆ จะวัดแสงเฉพาะจุดที่จุดโฟกัสของเราครับ การวัดแสงเฉพาะจุดจะแม่นยำก็ต่อเมื่อเราเลือกจุดอ้างอิงในเฟรมให้ใกล้เคียงกับสีเทา 18 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราวัดที่สีผิวของนางแบบ นางแบบก็ควรจะมีสีผิวกลางๆ ไม่ขาวมาก ไม่ดำมาก ถ้าผิวขาวมาก การวัดแสงเฉพาะจุดจะให้ผลอันเดอร์ เพราะกล้องเข้าใจว่าสว่างเกินไป แต่ถ้าวัดแสงที่ผิวสี กล้องจะเข้าใจว่าภาพมืดเกินไปและจะปรับค่าการถ่ายภาพให้โอเวอร์ (ขาวเกินไป)
aelockตัวอย่าง ภาพนี้สังเกตุว่าปริมาณสีดำ (ชาโดว์) ในภาพค่อนข้างเยอะ ถ้าใช้โหมดวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ และถ่ายภาพด้วยโหมด P/A/S หรือ Scene กล้องจะเข้าใจว่าภาพมืด และจะปรับค่าการถ่ายภาพออกมาโอเวอร์ (ขาวเกินไป) เราอาจใช้วิธีชดเชยแสงเป็นลบ - หรือใช้วิธีปรับโหมดวัดแสงเป็น spot (เฉพาะจุด) จากนั้นวัดที่ใบหน้าของแบบ (สีผิวกลางสามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงได้) ถ้าใช้โหมด P/A/S หรือ Scene คุณซูมไปที่หน้าแบบวัดแสงแบบ spot จากนั้นกด AE lock เพื่อล็อคค่าการถ่ายภาพ ค่อยถอยซูมออกมาถ่ายภาพนี้ จะได้แสงที่ใกล้เคียงความจริงครับ แต่ถ้า spot ไปตกที่สีดำ ภาพนี้ขาวเว่อร์แน่นอน
aelock1ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพแสงลงเป็นหย่อมๆ มักจะเกิดขึ้นช่วงพระอาทิตย์ตรงหัว หลีกเลี่ยงเงาไม่ได้ เราเฉลี่ยแสงและเงาแล้วใกล้เคียงกัน อาจใช้เฉลี่ยทั้งภาพในการถ่ายภาพนี้ก็ได้ แล้วค่อยชดเชยแสงเอาครับ
aelock2ภาพนี้ใช้โหมดวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลางก็ได้ สังเกตุจุดที่มาร์คสีเอาไว้ ถ้าคุณใช้โหมดวัดแสงแบบเฉพาะจุด spot เล็งไปที่จุดสีฟ้า ภาพจะมืดลงเพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่สว่าง กล้องจะเข้าใจว่าภาพสว่างมากก็จะปรับค่าการถ่ายภาพให้มืดลง แต่ถ้าคุณวัดเฉพาะจุดที่สีเหลือง (เสื้อสีดำ) กล้องจะเข้าใจว่าภาพมืด ทำให้กล้องปรับค่าการถ่ายภาพให้สว่างขึ้นอาจโดยการลดความเร็วชัตเตอร์ลงภาพ นี้ก็จะขาวเวอร์ ส่วน จุดสีเขียวที่หน้าผาก เป็นโทนสีกลางๆ แสงที่ได้อาจพอดีหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับว่าพื้นที่ตรงนั้นใกล้เคียงกับสีเทา 18 เปอร์เซ็นต์หรือไม่นั่นเอง

เรื่องของการวัดแสงก็เป็นอย่างที่อธิบายครับ

การล็อกค่าแสง AE lock:

จาก เรื่องการวัดแสง การล็อกค่าแสง ต้องเข้าใจก่อนว่าในแต่ละเฟรมของภาพ เมื่อเราเปลี่ยนสถานที่ ค่าแสงก็เปลี่ยน ดังนั้นเพื่อความสะดวกสบายในการถ่ายภาพ ผู้ผลิตกล้องจึงให้ฟังก์ชั่นล็อกค่าแสงมาให้เราใช้งาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในกรณีที่เรารู้ว่าเราต้องการวัดแสงที่ไหนในเฟรมให้ ภาพออกมาพอดี เช่นเราอาจถ่ายภาพไวด์กว้างๆ ซึ่งความเปรียบต่างแสงในเฟรมเยอะ เราอาจต้องการให้แสงพอดีที่หน้านางแบบของเรา ในกรณีนี้เราอาจซูมเข้าไปที่หน้านางแบบแล้วเลือกวัดแสง (โหมดใดก็ได้ เพราะซูมแล้วแสงของฉากจะไม่เข้ามากวน)
ถ้าเราอยู่ในโหมด P, A, S, Scene กล้องจะปรับค่าการถ่ายภาพให้เราอัตโนมัติ (ซึ่งเป็นการวัดแสงที่หน้าแบบจากผลของการซูมเข้าไปคร็อปที่หน้า) จากนั้นเราก็แค่กดล็อกแสง AE lock เพื่อคงค่าการถ่ายภาพนั้นไว้ แล้วก็หมุนซูมออกมาที่มุมกว้าง ค่าการถ่ายภาพก็จะอยู่คงเดิมที่เราล็อกไว้ เราก็ลั่นชัตเตอร์ได้เลยครับ...
บางครั้งผมก็ประยุกต์ใช้การวัดแสง เพื่อดูค่าการถ่ายภาพที่เหมาะสม จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นโหมด M แล้วตั้งค่าการถ่ายภาพตามนั้น ลองถ่ายภาพดู แล้วปรับค่าอีกนิดหน่อยให้ได้ดั่งใจก็สามารถทำได้ ไม่ต้องซื้อเครื่องมือวัดแสงเหมือนสมัยก่อนให้เสียกระตังครับ
ขอบคุณบทความและรูปภาพดี ๆ จาก http://www.pixview.net/

เทคนิคง่าย ๆ ในการช่วยให้โฟกัสได้ดีขึ้น


คนที่เริ่มถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลมีหลายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ หนึ่งในนั้นคือ "การโฟกัส" โฟกัสได้ตรงจุด ทันเวลา ก็จะได้ภาพที่สวยอย่างที่ใจคิด แต่ในบางขณะการโฟกัสก็สร้างความยุ่งยากลำบากใจให้กับเราเหมือนกัน บางครั้งก็โฟกัสได้ตรงกับจุดที่เราต้องการ แต่ในบางขณะก็โฟกัสมั่วไปหมด อยากให้คนชัดแต่ต้นไม้ข้างหลังคนกลับชัดซะงั้น..ก็มีเหมือนกัน

บางคนก็ตัดปัญหาไปใช้แมนนวลโฟกัส หมุนมือเองจะได้ชัวร์ ๆ แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ..ไม่สะดวก กว่าจะหมุนกว่าจะชัดบางทีตาก็เบลอ ๆ อีก สรุปว่าใช้ออโต้โฟกัสช่วยประหยัดเวลาตรงนี้ได้เยอะกว่า สะดวกกว่า เรามาดูวิธีการโฟกัสให้แม่นยำและรวดเร็วง่ายๆ กันดีกว่าครับ
#1 กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างไว้เพื่อตรวจเช็คโฟกัสก่อน ค่อยจัดองค์ประกอบภาพ
ตั้งจุดโฟกัสของกล้องให้อยู่ตรงกลางแค่จุดเดียว แล้วหันจุดโฟกัสนี้เล็งไปที่จุดสนใจในภาพที่คุณต้องการถ่ายแล้วก็กดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัส ย้ำว่ากดชัตเตอร์ลงไปแค่ครึ่งหนึ่งก่อนให้สำรวจว่าจุดที่เราต้องการถ่ายถูกโฟกัสแล้ว ให้กดค้างไว้ก่อนอย่าเพิ่งกดลงไปจนสุด และอย่าเพิ่งปล่อยนิ้วจากปุ่มชัตเตอร์ แล้วในขณะที่คุณกดชัตเตอร์ค้างไว้ครึ่งหนึ่งก็ให้ขยับกล้องจัดองค์ประกอบภาพจนเป็นที่พอใจ แล้วค่อยกดชัตเตอร์ลงไปจนสุดเพื่อถ่ายภาพ

#2 ปรับโหมดโฟกัสเป็นแมนนวลหลังจากโฟกัสอัตโนมัติเสร็จแล้ว

วิธีนี้ใช้ในกรณีที่คุณมั่นใจในสายตาของคุณ ตาดีได้ตาร้ายเสียนะครับสำหรับวิธีนี้ นั่นคือให้ใช้ออโต้โฟกัสเพื่อโฟกัสจุดสนใจในภาพตามปกติ เสร็จแล้วให้เปลี่ยนเป็นโหมดโฟกัสแบบแมนนวล เลนส์ของคุณจะยังค้างค่าโฟกัสไว้ที่จุดเดิมเมื่อกี้ วิธีนี้จะใช้ได้ดีถ้าใช้ร่วมกับขาตั้งกล้องและคุณต้องการถ่ายจุดสนใจนั้น ๆ หลายครั้ง เช่นการถ่ายภาพวิว การถ่ายภาพมาโครที่ต้องการโฟกัสแม่น ๆ เป็นต้น

#3 ใช้ปุ่มออโต้โฟกัสที่ด้านหลังเครื่อง

โดยปกติแล้ว กล้องของเราจะออโต้โฟกัสเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ แต่คุณสามารถใช้ปุ่มออโต้โฟกัส [AF] ที่หลังเครื่องแทนได้ (เชื่อว่าหลายท่านเห็นปุ่มนี้ แต่ก็ไม่เคยใช้เลย) ช่วยให้เราควบคุมการโฟกัสได้ดียิ่งขึ้นครับ
ปุ่มออโต้โฟกัสหลังกล้อง คุณสามารถตั้งจุดโฟกัสไปที่ตรงกลางภาพ เล็งไปที่จุดที่ต้องการโฟกัส และจากนั้นก็กดปุ่ม [AF] หรือปุ่มออโต้โฟกัสหลังกล้องแทนชัตเตอร์ เมื่อคุณกดแล้วในการถ่ายภาพหลังจากนั้นทุกครั้งในตำแหน่งนั้น ๆ การโฟกัสจะถูกรักษาตำแหน่งไว้ (กล้องจะไม่โฟกัสตกไปที่ฉากหลัง และจะคงตำแหน่งโฟกัสไว้ที่ตำแหน่งนั้น)

คุณสามารถใช้วิธีนี้กับการโฟกัสแบบแมลนวลได้เช่นกัน โดยการใช้ปุ่มออโต้โฟกัสหลังกล้องจะช่วยประหยัดเวลาและโดยวิธีนี้คุณไม่ต้องสลับไปสลับมาระหว่างแมนนวลโฟกัสและออโต้โฟกัส (ซึ่งกระบวนการสลับนี้อาจทำให้กล้องขยับตำแหน่งได้)
ปุ่มออโต้โฟกัสหลังกล้องจะช่วยได้มากสำหรับช่างภาพที่ต้องการถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหว อย่างเช่นภาพนกบิน สัตว์ป่า แค่สลับโหมดโฟกัสเป็นแบบต่อเนื่อง ตั้งจุดโฟกัสไปตรงกลางภาพ และกดปุ่มออโต้โฟกัสหลังกล้องค้างไว้ แค่นี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะเผลอกดชัตเตอร์ลงไปในขณะที่กดโฟกัสครึ่งหนึ่งด้วยปุ่มชัตเตอร์ โดยใช้ปุ่มโฟกัสหลังกล้องแทนในขณะที่คุณมองตามเป้าหมายในวิวไฟน์เดอร์ได้อย่างสะดวก
ที่มา www.pixview.net/article/novice/item/41-3way-auto-focus.html

Leica M9-P กล้องคอมแพคเร้นจ์ไฟน์เดอร์สำหรับมืออาชีพ


กล้องดิจิตอลเร้นจ์ไฟน์เดอร์ขนาดกะทัดรัด M ซีรีส์ของไลก้าอัพเดทรุ่นล่าสุด M9-P ถ่ายภาพนิ่ง 18 ล้านพิกเซลแบบฟูลเฟรม ก่อนหน้านี้เปิดตัวรุ่น M9 ออกมากระชากเงินในกระเป๋าเศรษฐี (เขาว่าเจาะกลุ่มช่างภาพมืออาชีพ ดูจากราคาแล้วนอกจากเป็นช่างภาพมืออาชีพแล้วก็ต้องรวยด้วย) เวอร์ชั่น P เครื่องนี้มาพร้อมจอแสดงผล sapphire crystal LCD glass ใช้โลหะที่ใกล้เคียงกับคำว่าไม่มีวันแตก
Leica M9-P
จอแสดงผลถูกป้องกันด้วยโลหะ sapphire crystal ซึ่งมีความทนทานสูงมาก ข่าวว่าจะผลิตโลหะชนิดนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตัดพิเศษที่ใช้เพชรเลยทีเดียว ผลที่ได้คือ sapphire crystal LCD glass จึงมีความทนทานใกล้เคียงกับคำว่าไม่มีวันแตก ใช้ได้นานหลายปี
Leica M9-P
กล้องดิจิตอลซีรีส์ M ของไลก้ารองรับเลนส์เมาน์ M อันโด่งดังของไลก้าซึ่งผลิตมาตั้งแต่ปี 1954 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้แฟนไลก้ากลืนน้ำลายเอื๊อกใหญ่ (อยากได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ฮา..) กล้องใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม 18 ล้านพิกเซล หมายความว่าถ่ายภาพที่ช่วงเลนส์ตั้งแต่ 16mm ถึง 135mm โดยไม่ต้องมีตัวคูณ
ที่มา www.pixview.net/camera/leica/item/50-leica-m9-p.html

31 กรกฎาคม 2555

เราควรซื้อไฟแฟลชนอกเมื่อไหร่ดี

เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการบันทึกภาพในกรณี ที่สภาพแสงขณะนั้นมีน้อย การมีไฟแฟลช ช่วยเพิ่มแสงสว่างก็ช่วยให้สามารถบันทึกภาพในที่ที่มแสงน้อยได้ และยังสามารถใช้เพื่อการสร้างสรรค์ภาพในรูปแบบใหม่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพที่ถ่ายได้




การเลือกซื้อแฟลช จำเป็นจะต้องวางแผนก่อนเลือกซื้อเพราะ แฟลชนอก เป็นอุปกรณ์เสริมที่สำคัญ
และเป็นอุปกรณ์เสริมที่เราไม่ได้ซื้อเพิ่มบ่อยนัก ไม่เหมือนกับเลนส์ ดังนั้นการเลือกซื้อไฟแฟลชตัวแรกนั้น ย่อมมีความสำคัญพอสมควร เราควรซื้อไฟแฟลชนอก เมื่อไหร่ดี เป็นคำถามสำคัญที่ ช่างภาพที่มีงบจำกัดมักจะคิดคำนึงถึงเพราะ กล้องที่เรามี มักจะมีแฟลชภายในให้เราใช้อยู่แล้ว 

ประกอบกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล ไม่จำเป็นต้องใช้แฟลชก็สามารถถ่ายภาพออกมา ได้ค่อนข้างสวยงามอยู่แล้ว ดังที่เห็นมีช่างภาพบางกลุ่มนิยมใช้แค่ไฟแฟลช หัวกล้องอย่างเดียว เพื่อผลทางภาพบางอย่าง เช่น การใช้แฟลชหัวกล้องเพื่อให้เกิดขอบภาพมืดเป็นวง เป็นต้น

เนื่อง จากไฟแฟลชนอก เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูง ดังนั้นการเลือกซื้อ เราควรเลือกซื้อเมื่อการบันทึกภาพด้วยแฟลชจากตัวกล้อง ไม่สามารถสร้างสรรค์ภาพอย่างที่เราตั้งใจ เช่น การถ่ายภาพบุคคล หรือภาพบันทึกภาพงานอีเว้นท์ ที่ต้องการความคมชัด คล่องตัว หรือความตั้งใจจะรับงานถ่ายภาพประเภท ภาพบุคคล ภาพวันงานพิธีรับปริญญา ซึ่งการใช้แฟลช มีผลต่อความคมชัดของภาพถ่าย และความคล่องตัวของช่างภาพในการบันทึกภาพ

การเลือกซื้อไฟแฟลชนอก ควรเลือกซื้อ ขนาดใหญ่ที่สุด หรือกำลังส่องสว่างสูงที่สุด เท่าที่กำลังทรัพย์เราพอจะซื้อได้ เพราะความสว่าง หรือความแรง ที่มีค่าความสว่างเป็น GN หรือ Guild Number ยิ่งสว่างมาก ก็ยิ่ง สามารถส่องแสงสว่างไปได้ไกล ทำให้สามารถใชเลนเทโฟโต้ ถ่ายภาพ พร้อมแฟลช ที่ระยะไกลได้

ข้อดีของการเลือกซื้อแฟลชนอก รุ่นใหญ่สุด หรือกำลังไฟแฟลชสูงสุดคือ อุปกรณ์ไฟแฟลชรุ่นท๊อป มักจะมีฟังก์ชั่น พิเศษ มาให้ ผิดกับรุ่นกลางหรือรุ่นเล็กที่อาจจะมีบ้าง หรือไม่มีเลย ฟังก์ชั่นที่เราสามารถนำมาใช้ เพื่อสร้างสรรค์ภาพมีหลายฟังก์ชั่น ตั้งแต่การลดกำลังไฟแฟลช การแยกแฟลชออกจากตัวกล้อง การ ยิงแฟลชติดต่อกัน เพื่อสร้างภาพแบบ สโตป (การถ่ายภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันในภาพเดียว โดยไฟแฟลชจะยิงไฟออกมาเป็นจังหวะ ตามที่เรากำหนด) บางยี่ห้อ แฟลชรุ่นใหญ่สุดจะแถมฟิลเตอร์สี หน้าแฟลชเพื่อให้เราสามารถยิงไฟสีได้

สรุป เราควรซื้อแฟลช เมื่อมีงานที่ต้องการใช้แสงไฟสว่างๆ ต้องการความคล่องตัวในการถ่ายภาพ 
หรือเมื่อแฟลชในกล้องไม่สามารถตอบสนองเราได้ การเลือกซื้อไฟแฟลช ควรเลือกตัวเลือกไฟแฟลช ที่มีกำลังไฟสูงก่อนเสมอ เพื่อความหลากหลายในการใช้งาน และความคงทนที่มากกว่า

18 กรกฎาคม 2555

ถ่ายภาพด้วยระบบแมนนวล

ถ่ายภาพด้วยระบบแมนนวลแสนสนุก

กล้อง DSLR เกือบทุกตัวในปัจจุบันจะมีระบบมากมายให้เลือกใช้เพิ่มเติมจากกล้องฟิล์มก็ ระบบWBซึ่งในกล้องฟิล์มจะต้องใช้ฟิลเตอร์แก้กันตามชนิดของแสง ระบบวัดแสงที่มีในกล้องดิจิตอลก็มีให้เลือกวัดได้หลายแบบ มีถ่ายวิดีโอได้ด้วย การเลือกตั้งค่าความไวแสง ASA ได้ตามใจชอบ ในขณะที่กล้องฟิล์มจะต้องพกฟิล์มหลายๆขนาด AS ตามสภาพแสงที่ต้องการถ่าย ฯ

          ยังมีอีกเยอะที่เป็นข้อได้เปรียบของกล้องดิจิตอลยิ่งรุ่นใหม่ความสามารถก็ ยิ่งมีมากเป็นการพัฒนาเพื่อไล่รุ่นเก่าออกจากตลาดเป็นทั้งการพัฒนาการทางเท คโนโลยี่และผลทางการค้าควบคู่กันไป ซึ่งก็เป็นผลดีแก่คนใช้ที่ได้ของที่มีประโยชน์ใช้สอยสูงในราคาที่จูงใจ ในที่นี้เราจะไม่สนใจส่วนที่ให้มามากมายเกินกว่าการถ่ายภาพโดยใช้ความรู้การ ถ่ายภาพด้วยความสามารถจากคนเป็นผู้กำหนดขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ส่วนกล้องทำหน้าที่บันทึกภาพไปเหมือนกับกล้องฟิล์มที่เคยปฎิบัติกัน เป็นความสนุกที่ได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพมาใช้งานและสามารถเห็นผล ได้จากการตรวจภาพจากreviewเป็นตัวเช็ค ความรู้ในการถ่ายหลักๆที่ต้องการใช้ก็คือเรื่องขนาดของแสงกับขนาดของรูรับ แสงร่วมกับความไวแสงของตัวรับแสง ซึ่งมักเป็ปัญหากับมือใหม่หรือผู้ที่ชอบถ่ายภาพแบบระบบอัตโนมัติ แล้วการกำหนดขนาดรูหน้ากล้องกับขนาดความเร็วจะรู้ได้อย่างไรหลายคนคงอยากจะรู้ ที่จริงแล้วผู้ผลิตสินค้ามักต้องการให้ใช้สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง สุดเพื่อความพอใจสุด ๆ เช่นกัน

           กล่องฟิล์มที่บรรจุฟิล์มจึงมักพิมพ์ค่าการตั้ง ล้องไว้เสมอ ซึ่งเป็นค่าอ้างอิงซึ่งเราอาจอาจดัดแปลงไปใช้ค่าอื่นๆที่ให้ผลเมื่อถ่ายภาพ แล้วจะไม่อันเดอร์หรือโอเวอร์เกินไป พูดไปอาจจะงงขอยกตัวอย่างกล่องฟิล์ม ASA100 ที่ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆ กำหนดให้ใช้ F=8 ,speed=1/250 (ดูจากข้อเขียนหัวข้อsunny 16) เราต้องการถ่ายคนซึ่งต้องการความชัดที่ตัวแบบเท่านั้น หากใช้ตามคำแนะนำความชัดของวัตถุด้นหลังภาพที่ไม่ต้องการก็จะติดมาเป็นการ แย่งความสนใจของภาพทำให้แบบไม่เด่น ก็ต้องใช้ F ให้ต่ำลงเช่น F4 หรือ F2.8 เพื่อลดความชัดหรือละลายฉากหลังเพื่อเน้น แบบให้เด่นขึ้น(ซึ่งยังมีวิธีการอีกมากนอกจากวิธีดังกล่าว)สมมุติว่าใช้ F2.8 แล้วความเร็วชัตเตอร์จะเท่าไร ลองไล่ว่าจาก 2.8 , 4 , 5.6 , 8 จะห่างกัน 3 stop 

ฉะนั้นเมื่อเพิ่มความกว้างของรูหน้ากล้องก็ต้องเพิ่มความเร็วลง 3 stop เช่นกันคือ 1/250 , 1/500 , 1/1000 ,1/2000 นั่นคือความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้คือ 1/2000 นั่นคือรูหน้ากล้องและความเร็วชัตเตอร์คู่ใหม่คือ F2.8 กับ speed=1/2000 และความเร็วชัตเตอร์สูงๆยังสามารถหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วๆได้ดีด้วย เช่นรถยนต์วิ่ง ม้าแข่ง นักบาสเก็ตบอล ฟุตบอลฯ ทีนี้มาดูว่าถ้าเราต้องการถ่ายวิวที่ต้องการความคมชัดมากก็ต้องใช้ F สูงๆ เช่น F16 หรือ F22 สมมุติว่าใช้ F22 จะใช้ speed เท่าไรมาลองไล่ดู F8 , F11 , F16 , F22 จะพบว่ารูหน้ากล้องแคบลง 3 stop เราก็ต้องลดความเร็วลง 3 stop เช่นกัน 1/250 , 1/125 , 1/60 , 1/30 นั่นคือต้องใช้ speed=1/30 ฉะนั้นคู่สัมพันธ์ใหม่คือ F22 และ speed=1/30

          นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่เป็นพื้นฐานในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่ รับแสงขนาดพอดี ส่วนเรื่องถ่ายภาพอย่างไรให้สวยงาม บางครั้งเป็นเรื่องความชอบส่วนตัว แต่ที่หนีไม่พ้นก็หลักการทางศิลป์ที่ว่าด้วย หลักการของสี หลักของมิติของภาพ ฯ นอกจากนี้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อหลุดพ้นจาก กฎเกณฑ์เก่า ๆ ซึ่งอาจซ้ำซากจำเจสำหรับบางคนและต้องแสวงหาอะไรที่แปลกใหม่ เพื่อการพัฒนาซึ่งอาจเป็นที่ยอมรับหรืออาจไม่มีใครยอมรับก็ได้ ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

กล้องฟิลม์ อดีตที่ยังมีลมหายใจ

กล้องฟิลม์ อดีตที่ยังมีลมหายใจ

สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เกิดในยุคดิจิทัล กล้องฟิลม์ อาจเป็นเพียงอุปกรณ์ถ่ายภาพในอดีต ที่ถึงยุคร่วงโรย หรือสินค้าตกยุค เพราะกล้องถ่ายรูปในปัจจุบันมีการพัฒนาแข่งขันกันไปอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถตอบสนองความต้องการของนักถ่ายภาพ ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพ และก็ยังไม่มีทีท่าว่า จะจบลงเมื่อใด กลับมีแต่ข่าวการพัฒนาของเทคโนโลยี่ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง มีการคิดค้น ผลิตกล้องรุ่นใหม่ๆ ที่แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ การปรับปรุงคุณภาพของตัวรับภาพและบันทึกภาพ ให้มีความสวยงาม คมชัด หรือเหมือนจริง ได้ดีกว่าฟิลม์ธรรมดา ทำให้ตากล้องมืออาชีพยอมรับ และยังได้ใจมือสมัครเล่นกลุ่มใหญ่ๆ ก็คือความง่ายในการใช้งาน ความสะดวกรวดเร็วทันใจ ในการได้ภาพมาชมหลังการถ่าย และเครื่องช่วยให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้น เช่นการโฟกัส การวัดแสง และการแก้การสั่นไหว ทำให้ใครๆ ก็ถ่ายภาพได้ โลกของการถ่ายภาพในปัจจุบันจึงขยายตัวมากกว่าครั้งใดๆในอดีต

         กล้องฟิลม์ในอดีต มากมายหลากหลาย brand เช่น Nikon , Leica , Canon , Hasselblad , Pentax , Contax , Minolta , Olympus , Fujica , Yashica , Ricoh , Rollei , Yashica , Voigtlander , Bronica , Kodak , Argus , Zorki ฯลฯ บางส่วนจากหายไป ด้วยการแข่งขันกันเอง แม้เกิดก่อน... ดังกว่า.... แต่ถ้าขาดการพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับของตลาดผู้ใช้แล้ว ก็ยากที่จะยืนอยู่ได้ ต้องทยอยปิดตัวไปหลายๆ brand โดยเฉพาะรายเล็ก รายน้อย ที่สู้กับ brand ใหญ่ๆไม่ได้ หรือแม้แต่ Brand ใหญ่ๆบาง Brand เอง ที่ผ่านจุดสูงสุดของมันมาแล้ว ก็ยังไม่วายต้องโดน take over โดยค่ายยักษ์ของญี่ปุ่น ที่กินตลาดไปได้เรื่อยๆ (แม้กระทั่งตลาดรถยนต์ พี่ยุ่นแกก็กวาดไปซะ !!)

         กล้องฟิลม์ในอดีต มีการพัฒนาจากหลักการง่ายๆ ใช้งานก็ไม่ยาก แต่จะถ่ายให้สวยนั้นค่อนข้างยาก เพราะไม่ค่อยมีตัวช่วย ชัตเตอร์มีไม่กี่สปีด ไม่มีเครื่องวัดแสง ต้องอาศัยการจดจำและประสบการณ์ แต่เดี๋ยวนี้ นอกจากกล้องจะช่วยผู้ถ่ายได้เยอะแล้ว ยังมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยตกแต่งภาพได้อีกสารพัด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมกล้องฟิลม์ จึงถูกทอดทิ้ง เก็บเข้ากรุ หรือขายต่อกันถูกๆ อย่างน่าเสียดาย

         แต่สำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับวิวัฒนาการยุคเก่านี้ กล้องเปรียบเสมือนคู่ขาหรือเพื่อนเก่า ที่ยังมีคุณค่า ทั้งการใช้งาน และทางจิตใจ (ไม่มากก็น้อย) กล้องเก่าๆที่มีคุณภาพดี ส่วนใหญ่ยังใช้การได้ดี ด้วยระบบกลไกที่แข็งแรงทนทาน โดยเฉพาะเลนส์มือหมุน ที่ให้ภาพได้สวยงามสุดยอด (ที่กล้องดิจิทัล ยังไม่มีเทคโนโลยี่อย่างอื่น มาทดแทน) ทำให้การใช้กล้องฟิลม์มีอะไรให้เล่นได้สนุก และมีเสน่ห์ในตัวเอง แม้ว่าอะไรๆมันจะทำได้เชื่องช้าอืดอาดกว่า ระบบ “ สารพัด auto ” ในปัจจุบัน ในทางกลับกัน คนรุ่นก่อนๆ (เช่นผม) ก็สับสนและไม่คุ้นเคยกับโปรแกรมและ mode การใช้งานของกล้อง ดิจิทัล ด้วยเหมือนกัน

         กล้องยุคกลางๆที่เป็นอิเลคโทรนิค ก็ถูกกระแสการตลาดกลืนกินไปเช่นกัน เพราะเมื่อขาด battery เสียแล้ว มันก็กลายเป็นกล้องง่อย กล้องพิการ ทำงานไม่ได้ไปเลย สู้กล้องรุ่นเก่ากว่าที่เป็นแมคคานิคไม่ได้ นอกจากกล้องที่ช่างภาพอาชีพทั่วโลกยอมรับเช่น Leica หรือ Hasselblad แล้ว ยังมีกล้องฟิลม์ระดับรองๆลงมาอีกหลาย Brand ที่ยังใช้งานได้ดี และราคาไม่แพง เช่น Nikon , Canon , Pentax , Olympus ที่คนรุ่นใหม่ ที่เริ่มถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัล และเริ่มสนุกกับการถ่ายภาพ น่าจะลองหันมาเล่นกันได้ พวกกล้อง SLR จะมีให้เลือกมากหน่อย เลนส์มือหมุนก็มีเยอะแยะ ราคาไม่แพง ส่วนใครเล่นจนติดใจ อยากจะลองข้ามไปเล่นพวก rangefinder หรือ medium format อีก ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด เพราะเดี๋ยวนี้ ในต่างประเทศเขาเก็บสะสมกล้องพวกนี้กันแบบจริงๆจังๆ ขนาดซ่อมได้ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ หรือมีชมรมเฉพาะกล้องเก่าแต่ละ brand กันเลย

         ข้อเสียอย่างหนึ่งของกล้องฟิลม์ (หรือกล้องดิจิทัลก็คงไม่น้อยไปกว่า) คือการ “เสีย” ที่ซ่อมไม่ได้ หรือซ่อมไม่คุ้ม ก็ต้องหา body ตัวใหม่มาแทน แต่บางส่วนที่เสีย ก็ไม่จำเป็นต้องซ่อม ก็สามารถใช้งานได้ เช่น ตัววัดแสง ส่วนใหญ่จะใช้งานไม่ได้ ใช้ได้ไม่เที่ยงตรง หรือไม่มี แบตเตอรี่ เราก็สามารถหาเครื่องวัดแสงเป็นตัวมาใช้แทนได้ (จะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ) เช่นของ Sekonic หรือ Gossen ที่ใช้งานได้ดี และเมื่อเราใช้งานจนคล่องแล้ว เราก็จะใช้แทนกล้องทุกตัวได้เลย

         แม้เลนส์มือหมุนรุ่นเก่าๆ จะมีข้อเสียเรื่องการเคลือบผิว ที่ไม่ดี เหมือนเลนส์รุ่นใหม่ๆ เพราะเขาใช้ถ่ายภาพขาว-ดำ แต่ข้อดีก็ยังมีอยู่บ้าง เช่น ภาพจะนุ่มนวลกว่า contrast น้อยกว่า เหมาะกับการถ่ายภาพ portrait และเลนส์เก่าของค่ายดังๆ อย่าง Rokkor , Super-Takumar หรือ Zuiko ก็มีคุณภาพดี น่าใช้ ไม่แพงมาก และยังได้รับความนิยมจากทั้งคนชอบมือหมุน และดิจิทัล

         ที่อยากจะพูดประเด็นหนึ่ง นอกจากที่จะมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกล้องฟิลม์ กับกล้องดิจิทัล ว่าอะไรจะดีกว่ากัน คือเรื่องของ “ศิลปในการถ่ายภาพ” เพราะกล้อง ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน มันก็เป็นเพียงเครื่องมือในการบันทึกภาพเท่านั้น ภาพที่ดีหรือสวย มันจะออกมาจากสายตาและมันสมองของช่างภาพมากกว่า หรือที่ฝรั่งมันพูดไว้ว่า “ Great photographers can take good pictures with any equipment. ” (ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ ไอ้ photographers ที่ว่านั่น ก็มักจะบ้ากล้องและอุปกรณ์ที่ดีๆ เสมอ)

         สำหรับตัวผมเอง นอกจากการถ่ายภาพ ด้วยกล้อง ทั้งสองประเภท แล้วแต่โอกาสและการใช้งานแล้ว การสะสมกล้องฟิลม์ หรือกล้องโบราณ ก็ยังเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้เล่น ได้จับ ได้ดูรูปร่าง รูปแบบและวิธีคิด ของการสร้างกล้อง ให้ตอบสนองการใช้งานของแต่ละ brand ออกมา ไล่ตั้งแต่พวก BOX มาเป็นพวก Folding เรื่อยมา แต่ละแบบ แต่ละประเภท ก็มีความน่าสนใจ ความสวยงาม หลากหลาย แตกต่างกันไป เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ที่ยากจะปฏิเสธ ...... และน่าเสียดาย ถ้ากล้องเหล่านี้ จะถูกละเลย ลืมเลือน ไปจากวิถีชีวิตของ “คนถ่ายภาพ” 

ที่มาจาก : Bloggang.com

เทคนิคการถ่ายภาพ: การตั้งความไวแสง

การตั้งความไวแสง  

กล้องดิจิตอลไม่มีความไวแสงที่แท้จริง ความไวแสงที่มีให้ปรับตั้งนั้นเป็นความไวแสงเทียบเคียง (ISO Equivalents) เมื่อเทียบกับฟิล์มถ่ายภาพ ความไวแสงของกล้องดิจิตอลจะสามารถปรับตั้งได้หลายค่า มีตั้งแต่ ISO100 ไปจนถึง ISO3200 แล้วแต่รุ่นกล้องความไวแสงสูงจะช่วยให้สามารถใช้ขนาดช่องรับแสงแคบและความ เร็วชัตเตอร์สูงมากๆ ได้ ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้สะดวก การตั้งความไวแสงของกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะอยู่ที่ MENU > ISO
    
แต่ จะเกิดปัญหาภาพมีสัญญาณรบกวนสูง เนื่องมาจากการเพิ่มความไวแสง กล้องจะต้องเพิ่มสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปในระบบ ทำให้สัญญาณรบกวนสูงตามไปด้วย ผู้ผลิตกล้องดิจิตอลปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาสัญญาณรบกวน โดยการออกแบบวงจรหรือใช้ระบบประมวลผลเพื่อลดสัญญาณรบกวนลงให้เหลือน้อยที่ สุด ผลจากสัญญาณรบกวนทำให้ภาพขาดความคมชัด สีไม่อิ่มตัว คล้ายๆ กับเกรนแตกในฟิล์มความไวสูง โดยจะเห็นได้ชัดบริเวณส่วนสีทึบหรือส่วนมืดของภาพ  ควรใช้ความไวแสงต่ำที่สุดเท่าที่ยังสามารถถ่ายภาพได้ในขณะนั้นจะได้ภาพที่ดีสุด


ที่มาจาก : camera-station.com

5 กรกฎาคม 2555

การหาจุดสนใจให้กับภาพ

การหาจุดสนใจให้กับภาพ


วันหนึ่งนายป๊อด ตากล้องมือใหม่ที่เพิ่งถอยกล้อง Canon 400D พร้อมเลนส์คิท 18-55mm ออกมาแบบยังอุ่นๆ แถมกลิ่นหอมฉุย นายป๊อดนึกอยากจะทดสอบฝีมือการถ่ายภาพ ที่เคยอ่านหนังสือศึกษามาร่วมเดือน เขาเลยตัดสินใจขับรถ civic คู่ใจไปหาโลเคชั่นชายทะเลสักที่หนึ่ง เพื่อทดสอบเจ้า 400D แสนรักตัวนี้

ในที่สุดนายป๊อดก็เลือกชายทะเลจังหวัดระนอง ณ หาดประพาส ที่แสนจะเงียบสงบ เป็นส่วนตั๊วส่วนตัว บรรยากาศสบายๆลมเย็นๆ เมื่อถึงแล้วก็ไม่รอช้านายป๊อดงีบหลับไปเกือบสอง ชั่วโมง ตื่นมากว่าจะเรียกสติกลับมาได้ว่านี่เรามาทำอะไรหว่าก็ปาไปเกือบเที่ยงแล้ว

เมื่อได้สติ นายป๊อดก็วิ่งตรงรี่ไปยังชายหาด หาโลเคชั่นเหมาะๆ เมื่อได้ที่แล้ว ก็ได้ฤกษ์ที่จะกดชัตเตอร์ครั้งแรกในชีวิตเสียที "แชะ..." นายป๊อดก้มลงดู ภาพที่จอ LDC ขนาด 2.5 นิ้ว ความละเอียด 230,000 พิกเซลที่ท่องมาจากโบรชัวร์จนขึ้นใจ ปรากฏว่าภาพที่นายป๊อดได้เห็นคือ...

IPB Image

ความโล่ง...

ก็สวยดีนี่(นายป๊อด แอบคิดด้วยความหลงตัวเองเล็กน้อย) แต่มองแล้ว มองอีก มองกล้องที มองทะเลที ทำไมมันเหมือนกับขาดๆอะไรไปซักอย่างหว่า ?? อยู่ๆนายป๊อดก็นึกขึ้นได้ถึง เรื่องๆหนึ่งที่เคยอ่านมาจากที่ไหนซักแห่ง ว่าในการถ่ายรูปให้ออกมาครบถ้วนทั้งองค์ประกอบ และเรื่องราวนั้น เราควร หาวัตถุ หรือจุดสนใจมาใส่ไว้ในภาพ

ว่าแล้วในป๊อดก็ตัดสินเปลี่ยนโล เคชั่น จึงรีบบึ่งรถ civic คู่ชีพตรงไปยัง อุทยานแห่งชาติแหลมสน ทันที หลังจากเข้าห้อง น้ำ ดื่มน้ำดื่มท่าที่ทางอุทยานมีให้บริการนักท่องเที่ยวไว้จนหายเหนื่อยแล้ว นายป๊อดก็เดินลุยทะลุทิวสนที่ให้ความร่มรื่นกับอุทยานแห่งนี้เป็นอย่างดี มุ่ง ตรงไปยังชายหาดทันที เมื่อมองซ้ายมองขวา สองรอบ นายป๊อดก็ตัดสินใจที่จะกดชัตเตอร์บนกล้องแสนรักอีกครั้งหนึ่ง
เหมือนกับ โชคช่วยหรือฟ้าประทาน นายป๊อดเห็นฝรั่งคู่หนึ่งเดินเข้ามาใน view finder ของเขา
เมื่อจัดองค์ประกอบให้คู่รักคู่นี้อยู่ตรงจุดตัดเก้าจุด จากกฏสามส่วนจนได้ที่ ก็ถึงเวลาที่นายป๊อดจะกดชัตเตอร์แล้ว!!! "แชะ.....!!!" ใจเต้นเล็กน้อย นายป๊อดก้มดูภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ LCD ทันที......โอ้ว "ปาติหาน" มีจริง ทำไมภาพมันช่างให้ความรู้สึกแตกต่างจากภาพที่แล้วนัก ทั้งที่ภาพสองภาพ นี้คล้ายกันมาก แค่มีฝรั่งมายืนอยู่ก็ทำให้ภาพมีเรื่องราวขึ้นมาทันที นายป๊อดถึงกับน้ำตานองหน้า (เว่อร์แล้วนายป๊อด น้อยๆหน่อย) หลับตาก็ได้แต่นึกถึงภาพที่ตัวเองถ่ายไปเมื่อกี๊

IPB Image

หลังจากภาคภูมิใจกับความสำเร็จครั้ง ยิ่งใหญ่ในชีวิต นายป๊อดเดินทางกลับบ้านพร้อมกับซาลาเปาทับหลีอีก 12 ลูก โค้กหนึ่งกระป๋อง และบทเรียนจากโรงเรียนธรรมชาติครั้งนี้ ด้วยรอยยิ้มที่อาบแก้มและซาลาเปาที่เลอะขอบปาก นายป๊อดขับรถกลับบ้านอย่างมีความสุข....

แล้วถ้าตรงนั้นไม่มีคนละครับ จะทำไงให้ภาพออกมาดูน่าสนใจขึ้น ถ้าไม่มีคนก็ไม่มีปัญหาครับ หาขอนไม้ กิ่งไม้ รองเท้า หรือว่าเงาของคุณเองก็ได้ นำไปใส่ไว้ในเฟรม รับรองว่าดีกว่าถ่ายทะเลโล่งๆแน่นอนครับ หรือถ้าหาของประกอบฉากไม่ได้ ก็ลองเปลี่ยนมุมมองดูครับ จากการถ่ายทะเลโล่งๆ เราก็โฟกัสไปที่เกลียวคืน ระลอกคลื่นบนหาดทรายก็ได้ครับ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก : http://www.siamfreestyle.com/forum/index.php?showtopic=24

การจัดแสงสำหรับถ่ายรูปวิวทิวทัศน์

เทคนิคการถ่ายภาพ : การจัดแสงสำหรับถ่ายรูปวิวทิวทัศน์


ในการถ่าย รูปวิวทิวทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา, City Landscape, หรือทะเล สิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงถึงก็คือเรื่องของการจัดแสง เรื่องแสงนี้เราก็ ต้องมาดูกันก่อนนะครับว่า สิ่งที่ผู้ถ่ายต้องการตอนนั้นคืออะไร ต้องการอารมณ์ภาพเป็นแบบไหน ซึ่งลักษณะแสงที่ปรากฏก็จะมีหลักๆ 2 แบบด้วยกันคือ

การถ่ายภาพตามแสง >> ในการถ่ายภาพตามแสงนั้น ภาพที่ออกมา จะได้รายละเอียดที่ค่อนข้างครบถ้วน อย่างเช่นเราจะถ่าย วิวภูเขา หรือเกาะแก่งต่าง ๆ การถ่ายภาพตามแสงนั้นจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น

"follow_light.JPG" F/13 : Shutter Speed 1/100s : ISO 100
Cannon EOS 350D: Lens - Sigma 18-200 mm

IPB Image


ซึ่งการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ส่วนใหญ่นั้นจะใช้วิธีการถ่ายภาพตามแสงครับ เพื่อที่จะได้รายละเอียด สื่อไปถึงคนที่จะมาชมภาพครับ ว่าทิวทัศน์หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เราได้ไปเก็บภาพมา มีลักษณะอย่างไร รายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถเห็นได้จากภาพได้ทันทีครับ

ส่วนในเรื่องการวัดแสงนั้นควรจะตั้งโหมดวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพครับ และถ้าต้องการความสดของสีที่เกิดขึ้น ก็ควรจะใส่ฟิลเตอร์ CPL ไว้ด้วยนะครับ ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อเราใช้ถ่ายภาพทะเลครับ CPL จะตัดแสงสะท้อนออก ให้เหลือแต่แสงสีที่แท้จริงของท้องฟ้าและทะเล ทำให้ได้ทะเลสีมรกต
และท้องฟ้าสีฟ้าสวยงามครับ 

2. การถ่ายภาพย้อนแสง >> การถ่ายภาพประเภทนี้จะไม่เน้นรายละเอียดของวัตถุที่เราจะเอามาเป็นแบบครับ คนทั่วไปจะหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพย้อนแสงครับ เพราะมันไม่เห็นรายละเอียด เห็นแต่อะไรก็ไม่รู้มืดๆ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราจัดองค์ประกอบได้ดีและเข้าใจอารมณ์ที่จะถ่ายทอดออกมาทางภาพ
ภาพที่ได้ก็จะออกมาอย่างสวยงามได้อารมณ์เป็นอย่างมากครับ

จุดประสงค์ของการถ่ายภาพย้อนแสง จริงๆแล้วจะเน้นอารมณ์ของภาพมากกว่ารายละเอียดครับ อย่างเช่นการถ่ายภาพชีวิตชาวเล ตอนพระอาทิตย์ตกดิน หรือภาพทิวเขาหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งแม้ภาพเหล่านี้จะไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก แต่ว่าจะได้อารมณ์บรรยากาศของสถานที่ ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างดีทีเดียว

"stn_att660005003.jpg" : F/12: Shutter Speed 1/40s : ISO 100
Cannon 350D: Lens Kit - 18-55mm

IPB Image


ทั้งการถ่ายภาพตามแสงและย้อนแสง ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการจัดองค์ประกอบภาพ และการวัดแสงที่เหมาะสม เพื่อให้ภาพที่ออกมานั้น สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของผู้ถ่ายไปยังผู้รับได้อย่างสมบูรณ์และสวยงามครับ 
ถ้าจะถ่ายคนแบบย้อนแสงล่ะครับจะถ่ายยังไงให้ออกมาสวย
ถ้าถ่ายคนแบบย้อนแสง ต้องดูว่าเราจะให้ภาพเล่าเรื่องอะไรน่ะครับ ถ้าต้องการบอกเล่าบรรยากาศตอนเย็นๆดวงอาทิตย์ตกมีเพื่อนๆนั่งคุยนั่งเล่น กีตาร์กัน อันนี้ไม่ต้องคิดมากครับ ถ่ายออกมาให้เห็นแสงสีแดงส้มของท้องฟ้า เห็นคนเป็นเงาตะคุ่มๆ แบบไม่ต้องเห็นรายละเอียดว่าหน้าใครเป็นไงได้เลยครับ ได้บรรยากาศดี

IPB Image


แต่ ถ้าจะถ่ายภาพบุคคลในตอนกลางวัน ซึ่งเราต้องการรายละเอียดของใบหน้าแบบ ถ้าเกิดถ่ายแบบย้อนแสงก็จะเกิดอาการหน้ามืดได้ครับ วิธีแก้ไขก็ให้เปิด แฟลชครับ จะทำให้เห็นรายละเอียดใบหน้าของแบบได้ชัดเจนขึ้น

ที่มาจาก : http://www.siamfreestyle.com/forum/index.php?showtopic=14

ความยาวโฟกัส กับ ทัศนมิติของภาพ

วันนี้หยิบยกเรื่อง ความยาวโฟกัส กับ ทัศนมิติของภาพ มาให้ชมกันครับ


ทัศนมิติ หรือ Perspective คือมุมมองของภาพที่แสดงให้เห็นถึงความลึกตื้นของวัตถุกับฉากหลังครับซึ่ง สิ่งที่ทำให้ทัศนมิติของภาพแตกต่างกันไป ก็คือ ความยาวโฟกัส (Focal Length) นั่นเอง

ในการทดลองที่จะให้เห็นถึงผลของความยาวโฟกัส และทัศนมิติภาพนั้น ผมใช้การถ่ายภาพมา 3 ภาพครับถ่ายโดยที่ตัวแบบ และฉากหลัง อยู่ในตำแหน่งเดิมตลอด ไม่เปลี่ยนแปลง

ภาพทั้งสามจะถ่าย ให้ขนาดของแบบที่ออกมานั้นเท่ากันทั้งหมด(ขนาดของแบบ เทียบกับขนาดของภาพ) เพียง แต่เปลี่ยนตำแหน่งของกล้อง ให้ไกลขึ้น และใช้ความยาวโฟกัสต่างๆกัน 



ภาพที่ใช้ความยาวโฟกัสสั้นกว่าจะมีทัศนมิติที่ลึกกว่าภาพ ที่ใช้ความยาวโฟกัสมาก
ทำให้เราเห็นว่าฉากหลัง ในภาพที่ใช้ความยาวโฟกัสสั้นนั้นอยู่ไกลแบบกว่า ภาพที่ใช้ความยาวโฟกัสมาก 
ในทางกลับกันคือภาพที่ใช้ความยาวโฟกัสมาก จะเห็นฉากหลังอยู่ใกล้ แบบมากกว่า นั่นเองครับ

เทคนิค ความรู้เบื้องต้น แต่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ภาพที่สวยๆ และมีมุมมองที่น่าสนใจขึ้นครับ 
เมื่อทราบจากด้านบนก็ให้คำนึงถึงฉากหลังดูนะครับ ยิ่งฉากหลังห่างจากวัตถุมากเท่าไหร่ ฉากหลังก็จะเบลอมากขึ้นเท่านั้นนะครับ


ที่มาจาก : siamfreestyle.com

เลนส์ของกล้องดิจิตอล


เลนส์ของกล้องดิจิตอล
   
กล้องดิจิตอลต้องอาศัยเลนส์เช่นเดียวกับกล้องใช้ฟิล์ม เลนส์ของกล้องดิจิตอลทำหน้าที่รวมแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุ ทำให้เกิดภาพบน Image Sensor เช่น เดียวกับเลนส์ตาทำหน้าที่รวมแสงให้เกิดภาพ เลนส์ทำหน้าที่ควบคุมมุมการรับภาพ หรือมุมการมองเห็นของอิมเมจเซ็นเซอร์ว่าจะเก็บภาพได้กว้างหรือแคบเพียงไร เลนส์มีผลต่อขนาดวัตถุที่ปรากฏในภาพเลนส์มุมกว้างให้ภาพมุมกว้าง วัตถุที่ปรากฏในภาพมีขนาดเล็ก ส่วนเลนส์ถ่ายไกลให้ภาพที่ปรากฏเป็นมุมแคบๆ เจาะส่วน และขนาดภาพที่ปรากฏจะใหญ่ เลนส์มีผลต่อสัดส่วนของภาพ และเลนส์ทำหน้าควบคุมปริมาณแสง คุณภาพของเลนส์มีผลอย่างมากต่อสีสัน ความคมชัด และรายละเอียดบน Image Sensor เลนส์คุณภาพสูงหรือเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้องดิจิตอลโดยเฉพาะจะให้ภาพที่ดีกว่าเลนส์ทั่วไปมากๆ เมื่อใช้กับกล้องดิจิตอล
   
เลนส์ ของกล้องดิจิตอลและกล้องถ่ายภาพทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็นเลนส์ประเภทต่างๆ โดยอาศัยทางยาวโฟกัสของเลนส์ ซึ่งทางยาวโฟกัสคือ ระยะทางระหว่างกึ่งกลางของเลนส์ (ในกรณีที่เป็นเลนส์ชิ้นเดียว) จนถึงอิมเมจเซ็นเซอร์ เลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นที่มุม การรับภาพกว้าง เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงมีมุมการรับภาพแคบ เลนส์ตัวเดียวกันเมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ต่างขนาดกัน มุมการรับภาพก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น เลนส์ 25 มม.  เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1/2 นิ้วจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ แต่เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1.5 นิ้ว กลับกลายเป็นเลนส์มุมกว้าง

    1. เลนส์ตาปลา (Fish-eye) คือ เลนส์ที่มีมุมการรับภาพกว้าง 180 องศา ทุกอย่างที่อยู่หน้าเลนส์จะปรากฏลงบนอิมเมจเซ็นเซอร์มี 2 แบบคือ เลนส์ตาปลาแบบวงกลม จะเป็นภาพวงกลมขอบดำ และเลนส์ตาปลาแบบเต็มภาพ (Full-Frame) ขอบภาพที่เป็นเส้นตรงจะบิดโค้งมากๆ เหมาะกับภาพที่ต้องการมุมการรับภาพกว้างมากๆ หรือภาพที่ต้องการความบิดเบือนของเส้นตรง
    2. เลนส์มุมกว้าง (Wide-Angle Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อยกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ มีตั้งแต่ให้มุมภาพกว้างมากๆ (Super Wide) และเลนส์มุมกว้างปกติ (Wide) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการมุมภาพกว้างๆ หรือถ่ายภาพกว้างในพื้นที่จำกัด ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ภาพหมู่ หรือภาพถ่ายในระยะใกล้ๆ เพื่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของสัดส่วน
    3. เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto)  คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเซ็นเซอร์ มุมการรับภาพจะแคบ เหมาะกับการถ่ายภาพระยะไกลให้ดูใกล้ ภาพในลักษณะแอบถ่ายจากระยะไกล ภาพสัตว์ป่า ภาพบุคคล ฯลฯ เลนส์ถ่ายไกลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Telephoto และ Super Telephoto
    4. เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากับเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ ใช้ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป
    5. เลนส์ซูม (Zoom Lens) คือเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ในตัวเดียวกัน สามารถให้ภาพกว้างและแคบได้ เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกและยังให้คุณภาพที่ดียอมรับได้ สามารถแบ่งออกเป็นหมวดย่อยๆ เช่น เลนส์ซูมมุมกว้าง เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เลนส์ซูมมุมกว้าง-เทเลโฟโต้ ส่วนเลนส์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้เรียกว่าเลนส์เดี่ยว (Fixed Focal Length Lens) จะให้คุณภาพที่ดีกว่าเลนส์ซูม แต่ไม่สะดวกในการใช้งานเท่าไรนัก เหมาะกับการถ่ายภาพคุณภาพสูงมากๆ เป็นหลัก

    นอกจากการแบ่งตามความยาวโฟกัสของเลนส์แล้ว  ยังแบ่งเลนส์ออกเป็นหมวดย่อยๆ ตามลักษณะพิเศษของเลนส์ได้ เช่น

    1. เลนส์มาโคร (Macro Lens) คือ เลนส์ที่ออกแบบให้ใช้ถ่ายภาพในระยะใกล้กว่าปกติ ซึ่งเลนส์ทั่วไปจะไม่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ ได้ เช่น เลนส์ 105 มม.มาโคร 200 มม.มาโคร
    2. เลนส์ Soft เป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพบุคคล สามารถทำให้ภาพนุ่มๆ ได้และปรับระดับความนุ่มนวลได้อีกด้วย เช่น 135 มม.F/2 DC
    3. เลนส์กระจก (Mirror Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้กระจกสะท้อนภาพแทนชิ้นเลนส์ใส เพื่อลดขนาดเลนส์และทำให้เลนส์มีต้นทุนถูกลง เช่น 500 มม. f/Mirror แต่คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จะไม่ดีเท่าไรนัก
    4. เลนส์ควบคุมสัดส่วนของภาพ (Perspective Control Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถแก้การบิดเบือนของภาพ ใช้ในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพทิวทัศน์ที่ต้องการความสมจริง หรือใช้ในการเปลี่ยนแปลงระนาบความคมชัดเพื่อให้ได้คามชัดลึกสูงสุด เช่น 28 มม.PC
    5. เลนส์ป้องกันความสั่นไหวของภาพ (Vibration Control Lens) เป็นเลนส์ที่มีกลไกพิเศษช่วยป้องกันการสั่นไหวของภาพได้ เหมาะกับการถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยๆ หรือภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัดเตอร์ต่ำ เพื่อป้องกันการสั่นไหวของมือ แต่ไม่สามารถชดเชยการเคลื่อนที่ของวัตถุได้
    6. เลนส์แก้ความคลาดสี (Aporhromatic Correction Lens) มักใช้ชื่อทางการค้าว่า ED, L, APO คือ เลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่มีการกระจายแสงต่ำ ดัชนีหักเหสูง (High Reflexive Index Low Dispersion Glass) เพื่อลดความคลาดสีบริเวณขอบภาพ ทำให้ภาพมีความคมชัดสีสันสมจริงมากยิ่งขึ้น
    7. เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม เป็นเลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่ผิวหน้าไม่เป็นทรงกลม เรียกว่าชิ้นเลนส์ Aspherical Lens (เลนส์ ปกติผิวหน้าจะเป็นทรงโค้งวงกลม) เพื่อแก้แสงบริเวณของภาพให้ตกในระนาบเดียวกันทำให้ภาพกลางภาพและขอบภาพมี ความคมชัดใกล้เคียงกัน ซึ่งมักใช้ในเลนส์มุมกว้างและเลนส์ซูมคุณภาพสูง 
 
เลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคจะเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างเทเลโฟโต้ เพื่อให้ใช้งานได้หลายหลาย ส่วนเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบ SLR จะ เป็นเลนส์ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ จะเป็นเลนส์เดี่ยวหรือซูมขึ้นกับผู้ซื้อ การเลือกควรดูว่าจะนำไปใช้งานอย่างไร เพราะเลนส์แต่ละเลนส์ประเภทมีจุดประสงค์และจุดเด่นในการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปควรมีเลนส์ตั้งแต่มุมกว้างปานกลาง (0.25เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ไปจนถึงเทเลโฟโต้ปานกลาง (4เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ซึ่งทางยาวโฟกัสจะเป็นเท่าไรนั้นขึ้นกับว่าขนาดอิมเมจเซ็นเซอร์มีขนาดเท่าไร ไม่สามารถระบุได้ ต้องดูกล้องเป็นรุ่นๆ ไป
   
กล้อง ดิจิตอล มักจะระบุทางยาวโฟกัสของเลนส์ไว้ 2 แบบ คือ ทางยาวโฟกัสที่แท้จริง กับทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากล้อง 35มม. ที่ใช้ฟิล์มขนาด 135 ภาพ ขนาด 24x36 มิลลิเมตร เช่น เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 5-40 มม. จะเทียบเท่าเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 25-200 มม. เป็นต้น
    ทางยาวโฟกัสของเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอล SLR มัก บอกทางยาวโฟกัสเป็นค่าทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับกล้องฟิล์ม 135 และระบุตัวคูณทางยาวโฟกัส เช่น 1.7 เท่า เพื่อให้ทราบว่าเมื่อนำเลนส์ไปใช้กับกล้องดิจิตอลจะมีขนาดทางยาวโฟกัสเท่าไร เช่น เลนส์ 50 มม. เมื่อนำไปใช้กับกล้องดิจิตอล 1.5 เท่า จะกลายเป็นเลนส์ขนาด 75 มม. เป็นต้น

ที่มาจาก : camera-station.com

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง