ss

5 กรกฎาคม 2555

เลนส์ของกล้องดิจิตอล


เลนส์ของกล้องดิจิตอล
   
กล้องดิจิตอลต้องอาศัยเลนส์เช่นเดียวกับกล้องใช้ฟิล์ม เลนส์ของกล้องดิจิตอลทำหน้าที่รวมแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุ ทำให้เกิดภาพบน Image Sensor เช่น เดียวกับเลนส์ตาทำหน้าที่รวมแสงให้เกิดภาพ เลนส์ทำหน้าที่ควบคุมมุมการรับภาพ หรือมุมการมองเห็นของอิมเมจเซ็นเซอร์ว่าจะเก็บภาพได้กว้างหรือแคบเพียงไร เลนส์มีผลต่อขนาดวัตถุที่ปรากฏในภาพเลนส์มุมกว้างให้ภาพมุมกว้าง วัตถุที่ปรากฏในภาพมีขนาดเล็ก ส่วนเลนส์ถ่ายไกลให้ภาพที่ปรากฏเป็นมุมแคบๆ เจาะส่วน และขนาดภาพที่ปรากฏจะใหญ่ เลนส์มีผลต่อสัดส่วนของภาพ และเลนส์ทำหน้าควบคุมปริมาณแสง คุณภาพของเลนส์มีผลอย่างมากต่อสีสัน ความคมชัด และรายละเอียดบน Image Sensor เลนส์คุณภาพสูงหรือเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้องดิจิตอลโดยเฉพาะจะให้ภาพที่ดีกว่าเลนส์ทั่วไปมากๆ เมื่อใช้กับกล้องดิจิตอล
   
เลนส์ ของกล้องดิจิตอลและกล้องถ่ายภาพทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็นเลนส์ประเภทต่างๆ โดยอาศัยทางยาวโฟกัสของเลนส์ ซึ่งทางยาวโฟกัสคือ ระยะทางระหว่างกึ่งกลางของเลนส์ (ในกรณีที่เป็นเลนส์ชิ้นเดียว) จนถึงอิมเมจเซ็นเซอร์ เลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นที่มุม การรับภาพกว้าง เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงมีมุมการรับภาพแคบ เลนส์ตัวเดียวกันเมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ต่างขนาดกัน มุมการรับภาพก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น เลนส์ 25 มม.  เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1/2 นิ้วจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ แต่เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1.5 นิ้ว กลับกลายเป็นเลนส์มุมกว้าง

    1. เลนส์ตาปลา (Fish-eye) คือ เลนส์ที่มีมุมการรับภาพกว้าง 180 องศา ทุกอย่างที่อยู่หน้าเลนส์จะปรากฏลงบนอิมเมจเซ็นเซอร์มี 2 แบบคือ เลนส์ตาปลาแบบวงกลม จะเป็นภาพวงกลมขอบดำ และเลนส์ตาปลาแบบเต็มภาพ (Full-Frame) ขอบภาพที่เป็นเส้นตรงจะบิดโค้งมากๆ เหมาะกับภาพที่ต้องการมุมการรับภาพกว้างมากๆ หรือภาพที่ต้องการความบิดเบือนของเส้นตรง
    2. เลนส์มุมกว้าง (Wide-Angle Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อยกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ มีตั้งแต่ให้มุมภาพกว้างมากๆ (Super Wide) และเลนส์มุมกว้างปกติ (Wide) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการมุมภาพกว้างๆ หรือถ่ายภาพกว้างในพื้นที่จำกัด ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ภาพหมู่ หรือภาพถ่ายในระยะใกล้ๆ เพื่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของสัดส่วน
    3. เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto)  คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเซ็นเซอร์ มุมการรับภาพจะแคบ เหมาะกับการถ่ายภาพระยะไกลให้ดูใกล้ ภาพในลักษณะแอบถ่ายจากระยะไกล ภาพสัตว์ป่า ภาพบุคคล ฯลฯ เลนส์ถ่ายไกลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Telephoto และ Super Telephoto
    4. เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากับเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ ใช้ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป
    5. เลนส์ซูม (Zoom Lens) คือเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ในตัวเดียวกัน สามารถให้ภาพกว้างและแคบได้ เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกและยังให้คุณภาพที่ดียอมรับได้ สามารถแบ่งออกเป็นหมวดย่อยๆ เช่น เลนส์ซูมมุมกว้าง เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เลนส์ซูมมุมกว้าง-เทเลโฟโต้ ส่วนเลนส์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้เรียกว่าเลนส์เดี่ยว (Fixed Focal Length Lens) จะให้คุณภาพที่ดีกว่าเลนส์ซูม แต่ไม่สะดวกในการใช้งานเท่าไรนัก เหมาะกับการถ่ายภาพคุณภาพสูงมากๆ เป็นหลัก

    นอกจากการแบ่งตามความยาวโฟกัสของเลนส์แล้ว  ยังแบ่งเลนส์ออกเป็นหมวดย่อยๆ ตามลักษณะพิเศษของเลนส์ได้ เช่น

    1. เลนส์มาโคร (Macro Lens) คือ เลนส์ที่ออกแบบให้ใช้ถ่ายภาพในระยะใกล้กว่าปกติ ซึ่งเลนส์ทั่วไปจะไม่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ ได้ เช่น เลนส์ 105 มม.มาโคร 200 มม.มาโคร
    2. เลนส์ Soft เป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพบุคคล สามารถทำให้ภาพนุ่มๆ ได้และปรับระดับความนุ่มนวลได้อีกด้วย เช่น 135 มม.F/2 DC
    3. เลนส์กระจก (Mirror Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้กระจกสะท้อนภาพแทนชิ้นเลนส์ใส เพื่อลดขนาดเลนส์และทำให้เลนส์มีต้นทุนถูกลง เช่น 500 มม. f/Mirror แต่คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จะไม่ดีเท่าไรนัก
    4. เลนส์ควบคุมสัดส่วนของภาพ (Perspective Control Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถแก้การบิดเบือนของภาพ ใช้ในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพทิวทัศน์ที่ต้องการความสมจริง หรือใช้ในการเปลี่ยนแปลงระนาบความคมชัดเพื่อให้ได้คามชัดลึกสูงสุด เช่น 28 มม.PC
    5. เลนส์ป้องกันความสั่นไหวของภาพ (Vibration Control Lens) เป็นเลนส์ที่มีกลไกพิเศษช่วยป้องกันการสั่นไหวของภาพได้ เหมาะกับการถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยๆ หรือภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัดเตอร์ต่ำ เพื่อป้องกันการสั่นไหวของมือ แต่ไม่สามารถชดเชยการเคลื่อนที่ของวัตถุได้
    6. เลนส์แก้ความคลาดสี (Aporhromatic Correction Lens) มักใช้ชื่อทางการค้าว่า ED, L, APO คือ เลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่มีการกระจายแสงต่ำ ดัชนีหักเหสูง (High Reflexive Index Low Dispersion Glass) เพื่อลดความคลาดสีบริเวณขอบภาพ ทำให้ภาพมีความคมชัดสีสันสมจริงมากยิ่งขึ้น
    7. เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม เป็นเลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่ผิวหน้าไม่เป็นทรงกลม เรียกว่าชิ้นเลนส์ Aspherical Lens (เลนส์ ปกติผิวหน้าจะเป็นทรงโค้งวงกลม) เพื่อแก้แสงบริเวณของภาพให้ตกในระนาบเดียวกันทำให้ภาพกลางภาพและขอบภาพมี ความคมชัดใกล้เคียงกัน ซึ่งมักใช้ในเลนส์มุมกว้างและเลนส์ซูมคุณภาพสูง 
 
เลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคจะเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างเทเลโฟโต้ เพื่อให้ใช้งานได้หลายหลาย ส่วนเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบ SLR จะ เป็นเลนส์ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ จะเป็นเลนส์เดี่ยวหรือซูมขึ้นกับผู้ซื้อ การเลือกควรดูว่าจะนำไปใช้งานอย่างไร เพราะเลนส์แต่ละเลนส์ประเภทมีจุดประสงค์และจุดเด่นในการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปควรมีเลนส์ตั้งแต่มุมกว้างปานกลาง (0.25เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ไปจนถึงเทเลโฟโต้ปานกลาง (4เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ซึ่งทางยาวโฟกัสจะเป็นเท่าไรนั้นขึ้นกับว่าขนาดอิมเมจเซ็นเซอร์มีขนาดเท่าไร ไม่สามารถระบุได้ ต้องดูกล้องเป็นรุ่นๆ ไป
   
กล้อง ดิจิตอล มักจะระบุทางยาวโฟกัสของเลนส์ไว้ 2 แบบ คือ ทางยาวโฟกัสที่แท้จริง กับทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากล้อง 35มม. ที่ใช้ฟิล์มขนาด 135 ภาพ ขนาด 24x36 มิลลิเมตร เช่น เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 5-40 มม. จะเทียบเท่าเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 25-200 มม. เป็นต้น
    ทางยาวโฟกัสของเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอล SLR มัก บอกทางยาวโฟกัสเป็นค่าทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับกล้องฟิล์ม 135 และระบุตัวคูณทางยาวโฟกัส เช่น 1.7 เท่า เพื่อให้ทราบว่าเมื่อนำเลนส์ไปใช้กับกล้องดิจิตอลจะมีขนาดทางยาวโฟกัสเท่าไร เช่น เลนส์ 50 มม. เมื่อนำไปใช้กับกล้องดิจิตอล 1.5 เท่า จะกลายเป็นเลนส์ขนาด 75 มม. เป็นต้น

ที่มาจาก : camera-station.com

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง