ss

28 กุมภาพันธ์ 2555

การถ่ายภาพ Macro ความอัศจรรย์ของโลกใบเล็ก

เรามาทำความรู้จักกับ Macro กันก่อน

     ทุกครั้งที่มีการถ่ายภาพ แมลงหรือดอกไม้ชนิดที่เจาะเข้าไปเห็นรายละเอียดอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ คนดูภาพมักจะมีอาการหยุดเพื่อใช้เวลาพิจารณาภาพนั้นๆ เสมอ นั่นเป็นเพราะมันนำเสนอมุมมองอันแตกต่างจากสายตาปกติในชีวิตประจำวันที่ไม่ มีทางจะมองเห็นอะไรแบบนั้นได้เลย นั่นแหละคือเสน่ห์และความน่าสนใจของภาพถ่ายที่เราเรียกมันว่า “Macro”


การถ่ายภาพ Macro คืออะไร? แล้วเราจะทำมันได้ไหม? ต้องลองอ่านบทความนี้ดู ท้ายที่สุดแล้วตัวคุณเองนี่แหละที่จะบอกได้ว่า “ฉันจะเป็นเจ้าของภาพ Macro อันน่าตื่นตะลึงกับเขาได้บ้างไหมนะ?”

Macro คืออะไร?
    ภาพ Macro คือการถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็กไปจนถึงเล็กจิ๋วเพื่อเปิดเผยรายละเอียดของมันผ่านกล้องถ่ายภาพ รายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาปกติล้วนๆ แต่ด้วยความสามารถในด้านกำลังขยายสูงของภาพ Macro นั้นจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ของโลกใบเล็กให้เราได้เห็นเป็นที่อัศจรรย์

    Macro มิใช่การถ่ายภาพเล่นๆ สนุกสนานเพียงอย่างเดียว มันยังถูกนำไปใช้งานเก็บรายละเอียดของวัตถุสิ่งของค่อนข้างหลากหลายเช่น เครื่องประดับ, พระเครื่อง, งานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือใครที่เป็นแฟนซีรี่ส์ CSI ของฝรั่งก็จะได้เห็นกล้องที่ทำหน้าที่บันทึกภาพแบบ Macro เข้าไปร่วมอยู่ในฉากเสมอๆ เพราะหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดชนิดละเอียดยิบ แน่นอนว่ารวมถึงสิ่งที่สายตาปกติอาจจะมองไม่เห็นหรือมองข้ามไปด้วย

    รับใช้งานทั้งงานบันเทิง งานเรียนรู้ และงานทางวิทยาศาสตร์ นี่คือลักษณะเด่นของ Macro เขาเลยล่ะ

กล้องที่เรามีล่ะ สามารถเล่น Macro ได้ด้วยไหม?
    กล้อง Digital Compact โดยมากจะมีโหมด Macro มาให้ใช้งานด้วย แต่ถ้าพูดถึง DSLR แล้วเราจะพุ่งประเด็นไปที่ “เลนส์” และอุปกรณ์ประกอบเลนส์เป็นหลัก

    แน่นอนว่าอุปกรณ์สำหรับงานถ่ายภาพ Macro อันดับหนึ่งก็ย่อมจะต้องเป็นเลนส์ Macro ที่เราจำใจต้องบอกว่าแพงใช้ได้นอกจากเลนส์ Macro แท้ๆ แล้วก็ยังมีอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นที่ยังพอช่วยให้กล้อมแกล้มไปได้บ้างเหมือนกัน แต่เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า Macro และ Close-up นั้นอาจจะดูคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกันแน่นอน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับทั้งสองคำนี้ก็คือ มันช่วยให้เราโฟกัสแบบเข้าใกล้วัตถุได้มากกว่าปกติทั่วไป ที่ต่างกันก็คือ กำลังในการขยายวัตถุเพื่อที่จะส่งเข้าสู่กล้องถ่ายภาพนั่นเอง


กำลังขยายขนาดวัตถุ
    กำลังในการขยายของวัตถุคือสิ่งที่ทำให้มันต่างกัน แล้วอะไรคือกำลังขยายขนาดของวัตถุกันล่ะ? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เราจะใช้เลขอัตราส่วนในการพูดคุยเรื่องนี้ โดยการแทนค่าแบบนี้ :

    ขนาดที่ปรากฏบนเซนเซอร์รับภาพ :(ต่อ) ขนาดของวัตถุจริง
    ขนาดที่เราจะพูดถึงนี้คือขนาดเป็น “เท่าตัว” ซึ่งเราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นจำนวนผู้สอบแข่งขันมีร้อยคน รับเพียง 10 คน ก็จะเป็นอัตรา 10:1 โจทย์ของเรายกพวกมา 6 คน ในขณะที่เรายืนหน้าซีดอยู่คนเดียวก็เป็นอัตราส่วน 6:1 (ไม่เกี่ยวกับ Macro แค่ยกตัวอย่างทั่วไปเฉยๆ)

    สำหรับอัตราส่วนในการถ่ายภาพอย่างที่บอกไปข้างต้นนั้น จะสามารถอธิบายได้ว่า เลนส์หรืออุปกรณ์เสริมตัวนั้นๆ สามารถถ่ายทอดขนาดของวัตถุจริงเข้าสู่เซนเซอร์รับภาพได้รับดับ (ขนาด) ใดในระยะโฟกัสใกล้สุด

ถ้าเป็น 1:1 ก็หมายความว่า ขนาดของวัตถุจริงจะปรากฏเซนเซอร์รับภาพในขนาดที่เท่ากันเลย แต่ถ้าเป็น 1:2 ก็จะหมายความว่าขนาดบนเซนเซอร์รับภาพเป็น 1 (เท่า) ในขณะที่วัตถุจริงมีขนาดเป็น 2 (เท่า)

    หากเราถ่ายภาพเหรียญบาทซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2cm อัตราส่วน 1:1 หมายความว่าเหรียญบาทก็จะมีขนาด 2cm บนเซนเซอร์รับภาพเช่นกัน (ขนาดเท่าจริง) หากเป็น 1:2 ก็หมายความว่าเหรียญบาทจะมีขนาดเล็กกว่าของจริง 1 เท่า หรืออีกกรณีหนึ่งก็เช่น 2:1 ก็จะหมายความว่าขนาดที่ปรากฏบนเซนเซอร์รับภาพจะใหญ่กว่าของจริง 1 เท่าตัว

    ไม่ยากเกินความเข้าใจ ใช่ไหมล่ะ?

    จำมันเอาไว้ให้ดี “ขนาดที่ปรากฏบนเซนเซอร์รับภาพ : ขนาดของวัตถุจริง”



Macro & Close-up
    คนทั่วไปจะไม่รู้ว่าสองคำนี้แตกต่างกัน แต่สำหรับช่างภาพและคนที่บ้ากล้องเข้าขั้นจะรู้ว่าสองคำนี้ไม่เหมือนกัน แยกแยะโดย “อัตราส่วนกำลังขยาย” ที่เราพูดกันไปเมื่อสักครู่

    สำหรับ Close-up แล้วจะหมายถึง “โฟกัสได้ใกล้” ไม่ว่าจะด้วยอัตราส่วนใดก็ตาม แต่สำหรับมาตรฐานของ Macro แล้ว ต้องว่ากันที่ 1:1 เป็นต้นไปเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่า อย่างน้อยถ้าไม่ได้เท่าขนาดจริงก็จะไม่ใช่ Macro มาตรฐาน

    อัตราขยาย 1:1 มันสำคัญยังไง? ก็ตอบได้ว่าเป็นเรื่องของความได้เปรียบทางด้านคุณภาพของการนำไปใช้งาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มที่นำภาพถ่ายไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์ อัตราขยาย 1:1 ทำให้คุณภาพของภาพที่พิมพ์ออกมาดี ไม่ต้องนำไปขยายซ้ำอีกครั้งซึ่งจะทำให้คุณภาพของภาพแย่ลง (หรือที่เรียกว่า “ภาพแตก”) หรือถ้าต้องขยายจริงๆ อัตราส่วน 1:1 ก็จะได้เปรียบกว่ามาก และถึงแม้ว่าจะเป็นยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล้ำสุดๆ การขยายภาพขึ้นมาจากขนาดจริงก็ยังลดคุณภาพของภาพลงไปเช่นกันอยู่ดี ยิ่งขยายมากคุณภาพก็ยิ่งต่ำลงมาก ดังนั้นอัตราขยายแบบ 1:1 ของ Macro แท้ๆ จึงได้เปรียบด้วยประการฉะนี้

ทำความเข้าใจกับการถ่ายภาพ Macro 
    อย่างน้อยเราควรจะต้องรู้จักคำสามคำต่อไป :

    
MFD (Minimum Focal Distance) ระยะโฟกัสใกล้สุดจากจุดโฟกัสถึงระนาบเซนเซอร์รับภาพ

    
MWD (Minimum Working Distance) ระยะจากวัตถุถึงหน้าเลนส์ของกล้อง มันคือ “ระยะพื้นที่ทำงาน” ของผู้ถ่ายภาพ
    Magnification 
ซึ่งก็คือกำลังขยายที่เราคุยกันไปแล้วนั่นเอง
    ทั้งสามคำนี้มีความสำคัญต่อการพิจารณาการถ่ายภาพ Macro ในแต่ละสถานการณ์เป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจมัน ก็บอกได้ว่ายากและเหนื่อยหน่อย ทั้งวิธีการถ่ายภาพและการเลือกใช้อุปกรณ์ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนซึ่งกันและกัน

    ถ้าจะแยกประเภทของการถ่ายภาพ Macro ด้วยลักษณะของตัวแบบ เราสามารถแยกได้ง่ายๆ 2 แบบคือ ตัวแบบที่ไม่เคลื่อนไหว+สามารถจับต้องได้ และตัวแบบที่คอยจะหนีเราไปอยู่เรื่อย ตัวแบบที่ไม่เคลื่อนไหวและสามารถจับต้องได้เช่น เครื่องประดับ พระเครื่อง ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ นาฬิกา ฯลฯ ส่วนตัวแบบที่คอยจะหนีเราตลอดเวลาก็คือ สิ่งมีชีวิตเช่นพวกแมลง ผีเสื้อ ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะไม่เคยอยู่นิ่ง (น่าจะพอนึกออกนะ) MFD และ MWD จะเข้ามามีส่วนในการพิจารณาตอนนี้แหละ

    อุปกรณ์ที่ให้พื้นที่ MFD และ MWD แก่เรามากๆ จะช่วยให้เราได้เปรียบกว่าในแง่ของตัวที่คอยแต่จะหนีเรา เพราะเราไม่จำเป็นต้องเข้าใกล้ให้มันตื่นตกใจ (เพื่อที่มันจะได้อยู่นิ่งๆ) แต่อาจจะทำให้เราเมื่อยเพราะต้องเดินไปเดินมาในกรณีการถ่ายภาพตัวแบบที่เราสามารถจับต้องได้ เพราะเราต้องขยับจนเปลี่ยนมุมอยู่เรื่อย การเดินไปเดินมาระหว่างกล้องกับตัวแบบก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ซึ่งอย่างหลังนี้อุปกรณ์ที่มีระยะ MFD และ MWD สั้นกว่าจึงได้เปรียบกว่าผู้ถ่ายภาพนั่งอยู่หลังกล้องแล้วเอื้อมมือไปหยิบไปจัดตัวแบบได้ทันที...ไม่ต้องเดินให้เมื่อย

อุปกรณ์การถ่ายภาพ Macro และ Close-up
    มีตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนถึงน่าตกใจ แต่แน่นอนว่าประสิทธิภาพและคุณภาพก็ย่อมจะต่างกันด้วย ลองศึกษาและพิจารณาดูว่าจะเริ่มต้นกับแบบไหนดี?


Close-up Filter
    นี้คืออุปกรณ์ที่ง่ายและย่อมเยา มันก็คือฟิลเตอร์สำหรับสวมหน้าเลนส์โดยที่มันจะมีความหนาของชิ้นแก้วมากกว่าฟิลเตอร์ปกติทั่วไปอยู่สักหน่อย ซึ่งดูเผินๆ แล้วก็เหมือนกับการเอาแว่นขยายมาติดที่เลนส์แน่นแหละ และหน้าที่ของมันก็คือทำตัวเป็นแว่นขยายให้กับเลนส์ธรรมดานั่นเอง

    Close-up Filter มีหลายขนาดทางด้านกำลังขยายให้เลือกใช้ตั้งแต่ +1 ขึ้นไป (เช่นเดียวกับแว่นขยาย) เราอาจจะสวมมันซ้อนกันหลายชั้นเพื่อเพิ่มกำลังขยายเข้าไปอีก

    ถึงแม้ว่ามันจะขยายขนาดของวัตถุได้ก็จริง แต่ข้อเสียของมันก็คือยิ่งขยายมากคุณภาพก็ยิ่งต่ำลงมาก และบริเวณขอบภาพก็จะเกิดอาการ “ฟุ้ง” (ซึ่งเป็นธรรมดาในเลนส์นูนของฟิลเตอร์ชนิดนี้) ยิ่งซ้อนทับกันหลายชั้นนอกจากคุณภาพจะต่ำลงแล้วยังลดปริมาณแสงที่จะเข้าสู่กล้องอีกต่างหาก

Reversing Ring : แหวนกลับเลนส์

    มีลักษณะเป็นแหวนพร้อมเกลียวเพื่อให้เลนส์สองตัวหันหน้ามาประกับกันได้ ซึ่งส่วนท้ายเลนส์ของเลนส์ตัวปลายจะกลายเป็นหน้าเลนส์แทน วิธีการนี้จะให้กำลังขยายสูง แต่ก็อาจจะเสี่ยงกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับท้ายเลนส์และขั้วสัมผัสต่างๆ ซึ่งควรจะถูกปิดมิดชิดอยู่ภายในกล้องโดยปกติ

    อีกแบบหนึ่งก็คือเป็นแหวนกลับเลนส์ที่ใช้กลับเลนส์ตัวเดียวจากเม้าส์แปลงของตัวกล้องเลย ท้ายเลนส์มาอยู่ด้านหน้าเหมือนกัน (ส่วนหน้าเลนส์ปกติมุดไปอยู่ในกล้องเพื่อเซย์ฮัลโหลกับเซนเซอร์) ให้กำลังขยายได้เหมือนกัน แต่เราจะไม่สามารถใช้ระบบโฟกัสอัตโนมัติหรือควบคุมรูรับแสงได้เลย ดังนั้นวิธีนี้จึงเหมาะกับเลนส์รุ่นเก่าที่สามารถปรับทั้งสองอย่างได้โดยการหมุนบนตัวเลนส์โดยตรงมากกว่า



Extension Tube : ท่อต่อเลนส์
      มีลักษณะเหมือนกับกระบอกเลนส์แต่ไม่มีชิ้นเลนส์อยู่ภายใน มันจะทำหน้าที่ในการยืดโฟกัสออกไปจากเดิมโดยมาแทรกอยู่ระหว่างตรงกลางระหว่างกล้องและเลนส์ ซึ่งก็จะช่วยให้เข้าไปโฟกัสที่วัตถุได้ใกล้กว่าเดิม กำลังขยายสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อดีของมันก็คือน้ำหนัก ราคาไม่แพง (ถ้าเป็นรุ่นที่มีขั้วสัญญาณสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลโฟกัสและรูรับแสงราคาจะสูงขึ้นมาอีกกว่าเท่าตัว)

     Extension Tube มี 3 ขนาดให้เลือกใช้เพื่อความเหมาะสมในการเพิ่มกำลังขยาย หรือจะบ้าพลังใส่ซ้อนกันหลายๆ ตัวก็ได้ แต่ข้อเสียของมันก็คือจะทำให้ปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องสูญเสียไปมากพอสมควร และจะไม่สามารถโฟกัสที่ระยะอนันต์ (Infinity) ได้



Bellow
     ลักษณะเป็นท่อยืดเหมือนกับกล้องในสมัยโบราณ ติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่งระหว่างกล้องและเลนส์ (หลักการเดียวกับ Extension Tube) สามารถยืด-หดระยะได้อย่างอิสระโดยการวางบนรางเลื่อนแต่อาจจะวุ่นวายในการพกพาหรือใช้งานอยู่สักหน่อย อุปกรณ์ตัวนี้ให้กำลังขยายค่อนข้างสูงแต่ก็ใช้งานค่อนข้างยากและไม่ค่อยคล่องตัว เราจึงไม่ค่อยได้เห็นมันสักเท่าไหร่นัก
    และเช่นกัน อุปกรณ์ตัวนี้ทำให้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องน้อยลงด้วยเลนส์ Macro

    หลายคนอาจจะสงสัยว่าเลนส์หลายๆ ตัวมีคำว่า “Macro” อยู่ด้วยเช่นกันและก็ต้องตามมาด้วยอัตราส่วนกำลังขยายด้วย ก็เป็นอันรู้กันว่าถ้าไม่ใช่ 1:1 ก็ยังไม่ใช่เลนส์ Macro ในระดับมาตรฐาน

    เลนส์ Macro นั้นก็มีเรื่องระยะโฟกัสเป็น mm และการควบคุมรูรับแสงเช่นเดียวกับเลนส์อื่นๆ ทั่วไป ความพิเศษของมันก็คือความสามารถในการโฟกัสวัตถุในระยะใกล้ได้ถึงระดับ 1:1 ซึ่งจะมากกว่าชาวบ้านเขานั่นเอง

    เลนส์ Macro ในท้องตลาดปัจจุบันมีตั้งแต่ระยะ 35mm ไปจนถึง 200mm ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม (และกำลังทรัพย์) ในแนวคิดเดียวกับเลนส์อื่นๆ แต่ก่อนที่จะพูดถึงงบประมาณในการเลือกซื้อก็อย่าลืมเอาเรื่องของ MFD และ MWD เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ Macro ระยะ 60mm ย่อมจะมีราคาต่ำกว่าเลนส์ Macro ระยะ 180mm แต่ทั้งสองตัวนี้ให้ในเรื่อง MFD และ MWD ที่ต่างกัน เลนส์ 60 mm จะต้องเข้าใกล้ตัวแบบมากกว่า ในขณะที่ 180mm ต้องออกห่างจากตัวแบบ (มีระยะ MFD และ MWD มากกว่า) หลักวิธีการคิดก็อย่างที่ได้บอกไปแล้ว อย่าลืมเรื่องตัวแบบที่จับต้องได้กับตัวแบบที่จะคอยหนีเราอยู่เรื่อยไปล่ะ

ถ่ายภาพ Macro
    เหมือนเดิมว่าขึ้นอยู่กับตัวแบบ ถ้าเป็นตัวแบบที่อยู่นิ่งๆ เราก็จะใช้ขาตั้งกล้องช่วยจับกล้องเพื่อความชัวร์ แต่สำหรับตัวแบบที่ไม่อยู่นิ่งการใช้ขาตั้งกล้องก็แปลว่าไม่ทันกิน ซึ่งก็ต้องใช้วิทยายุทธ์ชั้นสูงกันเลยทีเดียว

    ความยากของการถ่ายภาพ Macro นั้นก็คือการ “โฟกัส” เพราะเนื่องจากมันเป็นเลนส์ที่สามารถจับโฟกัสเจาะเข้าไปได้ใกล้มากๆ ดังนั้น ดังนั้น “ช่วงระยะความคมชัด” หรือ Depth of Field ของมันจึงสั้นมาก เมื่อวางจุดโฟกัสที่ดวงตาของแมลง ส่วนหัวตาก็อาจจะอยู่นอกระยะโฟกัสไปเสียแล้ว

    เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องใช้การ “หรี่” รูรับแสงแคบลงเพื่อให้เกิดลักษณะความ “ชัดลึก” จะได้มีพื้นที่โฟกัสที่ครอบคลุมมากขึ้น แน่นอนว่าเราทำอย่างนั้นได้แต่มีปัญหาก็คือแสงจะเข้าสู่กล้องน้อยลงทำให้สปีดชัตเตอร์ช้าลง เมื่อสปีดชัตเตอร์ช้าลงก็จะเสี่ยงกับอาการภาพสั่นไหว แต่ถ้าเพิ่ม ISO ขึ้น Noise ก็ยกทัพมากันอีก ดังนั้นก็ต้องเพิ่มแสงเข้าไป ฯลฯ ซ้ำร้ายช่วงลั่นชัตเตอร์แรงสั่นสะเทือนเพียงน้อยนิดแค่แมงหวี่กระพือปีกก็อาจจะทำให้หลุดโฟกัสได้ ตัวช่วยอีกตัวก็อาจจะเป็นพวกสายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทอะไรก็ว่ากันไป เพราะช่วยให้กล้องนิ่งขึ้นเพราะไม่มีแรงกดจากนิ้วของเราโดยตรง

    ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอลแบบระบบไร้สาย อุปกรณ์ถ่ายภาพหลายอย่างก็มีคุณสมบัตินี้ด้วย โดยเฉพาะ “แฟลช” ระบบไร้สายที่จะเข้ามาช่วยงานเราในการถ่ายภาพ Macro ได้เป็นอย่างมาก โดยการเพื่มแสงแฟลชเข้าไปเพื่อให้ใช้สปีดชัตเตอร์ได้สูงขึ้น ซึ่งการถ่ายภาพ Macro ในระบบนี้ก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะก็ไม่ใช่ขาตั้งกล้อง (เพราะไม่ทันเวลา) เพราะมือหนึ่งถือแฟลชมือหนึ่งถือกล้องแล้วซัดกันเลย...ซึ่งเสี่ยงกับการหลุดโฟกัสเอามากๆ (แต่มันส์มาก ต้องลองดู!)

    นี่แหละคือวิทยายุทธ์ขั้นสูงที่ว่า หาซื้อที่ไหนไม่ได้จำต้องขวนขายฝึกเอาเอง หรือใครพอมีทุนทรัพย์หน่อยก็หาซื้อแฟลชสำหรับงาน Macro โดยเฉพาะมาใช้เลยก็ได้ ราคาสูงหน่อยแต่ก็สะดวกดี ไม่ต้องไปถือเองให้เมื่อย เอาเวลาและมือไปประคองกล้องจับโฟกัสแม่นๆ ดีกว่า

    สำหรับมือใหม่แล้ว ขอให้ฝึกโดยใช้ขาตั้งกล้องเสียก่อน เรียนรู้การจับโฟกัส การควบคุมกล้องและเลนส์ การบังคับรูรับแสง และพื้นฐานอื่นๆ ให้แม่น ช่วงแรกๆ ไม่ต้องไปฝึกกับแมลงให้ปวดหัว หาสิ่งของเล็กๆ ในบ้าน มาลองถ่ายภาพดู หาคำตอบเบื้องต้นให้ได้เสียก่อนว่าจะทำให้วัตถุที่เราถ่ายนั้นชัดตั้งแต่หน้าไปถึงหลังจะต้องทำยังไง? และเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง? และควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร?

...อย่างเพิ่งในร้อนออกภาคสนาม

     เพราะขอบอกว่ามันไม่ง่ายกว่าจะได้ภาพดีๆ สักภาพหนึ่ง ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยถอดใจหันหลังให้ Macro เพราะมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ก็เพราะยังไม่ได้ฝึกพื้นฐานให้ชินและทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนนั่นเอง...น่าเสียดาย

    ถ่ายภาพ Macro จะไม่ยากเลยถ้าเราไม่เริ่ม แต่ถ้าคิดจะเป็นเจ้าของภาพอัศจรรย์จากโลกใบเล็กแนวนี้แล้วล่ะก็ การเริ่มต้นบนความยากนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อไหมว่าความยากจะไม่อยู่กับเรานานนักถ้าเราตั้งใจจริงที่จะทำความเข้าใจมัน หลังจากนั้นก็ลองพลิกแพลงเทคนิคแบบนู้นแบบนี้ดู หาความรู้เพิ่มเติม ดูภาพถ่ายของผู้อื่นให้มากๆ แล้วก็หาเวลาฝึกฝนจริงควบคู่กันไป
    เช่นเดียวกับการถ่ายภาพแบบอื่นๆ ที่รู้แค่ทฤษฏีอย่างเดียวไม่มีทางไปได้ถึงไหน อยากก้าวไกลต้องเดินหน้าฝึกฝนเท่านั้น...
    ...แล้วโลกใบเล็กที่เรียกว่า Macro จะเปิดเผยสิ่งที่น่าตื่นตะลึงให้คุณได้บันทึกภาพเอง!

ขอบคุณบทความจาก: www.tsdmag.com

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง