ss

28 กุมภาพันธ์ 2555

ข้อคิดเตือนใจก่อนออกไปถ่ายภาพ

ข้อคิดก่อนถ่ายภาพ : 9 ข้อเตือนใจก่อนออกไปถ่ายภาพ

หลายคนเคยเจอพิษสงของเหตุการณ์ไม่คาดฝันก่อนจะถ่ายภาพมาแล้ว เรานำสิ่งเตือนใจ 9 อย่างมานำเสนอให้ฉุกคิด เพราะชอตเด็ด มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่พร้อม และเมื่อเราพร้อม กล้องก็มักจะไม่พร้อมอยู่ดี นี่คือเรื่องจริงที่หลายคนมีประสบการณ์มาแล้ว

คนถ่ายภาพมากมายต่างก็ได้เจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นตรงหน้า และด้วยสัญชาตญาณที่ถูกเคี่ยวกรำมาอย่างหนักหลังกล้อง ร่างกายก็มักจะถูกสมองสั่งการให้ยกกล้องขึ้นแล้วลั่นชัตเตอร์ภายในเสี้ยววินาที ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่าโอกาสที่มีแค่ครั้งเดียวนั้น ได้หลุดลอยไปด้วยสาเหตุความไม่พร้อมของกล้องและอุปกรณ์อย่างไม่น่าให้อภัย หลายต่อหลายครั้งชอตเด็ดที่ว่าก็มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันได้เตรียมตัว โลกเราควรจะมีภาพเด็ดปรากฏสู่สายตามากกว่านี้อีกหลายเท่า เพียงแค่การเตรียมตัวให้พร้อมของคนถ่ายภาพซึ่งไม่ฝากผลงานเอาไว้กับโชคชะตาเพียงอย่างเดียว แล้วอะไรบ้างล่ะที่เราควรคำนึงถึงเสมอก่อนที่จะเอากล้องออกไปถ่ายภาพ?

1. แบตเตอรี่
หลายคนคงเคยประสบกับเหตุการณ์ประเภทที่ว่าเพิ่งถ่ายภาพได้สอง-สามภาพแล้วกล้องก็กลายเป็นภาระที่หาประโยชน์อันใดมิได้เนื่องจากแบตเตอรี่หมด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถือว่าค่อนข้างอันตรายและน่าเสียอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นงานที่มีการจ้างวานกันเอาไว้แล้วล่ะก็ งานชิ้นนั้นอาจเสียหายได้ในทันที
     ขั้นตอนการชาร์ตแบตเตอรี่นั้นควรที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากกลับถึงที่พักก่อนที่จะไปพักผ่อนก็ควรจะเอาแบตเตอรี่ออกมาเสียบแท่นชาร์จเอาไว้ เพราะเมื่อใดที่คำว่า “อีกสักพัก” หรือ "เดี๋ยวก็ได้" ปรากฏอยู่ในความคิดของเรา โอกาสที่จะลืมและก็ไม่ได้ชาร์จนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเอามากๆ แบตเตอรี่ในที่นี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่เราต้องใช้งานด้วย โดยปกติแล้วเราจะต้องใช้เวลาสำหรับเรื่องนี้ราวๆ 2-6 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับชนิดของแบตฯ) ซึ่งนั่นหมายความว่าการตรวจเช็คก่อนที่จะออกจากบ้านนั้นแทบจะไม่ช่วยอะไร ควรจะต้องดูล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อจะยังพอมีเวลาสำหรับการชาร์จให้เต็มได้อีก แบตเตอรี่ชาร์ตชนิด AA นั้นมีข้อด้อยตรงที่ประจุไฟฟ้าจะลดน้อยลงได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นควรจะกำหนดเวลาการชาร์จที่เหมาะกับการถอดไปใช้งานทันที การชาร์จล่วงหน้ารอเอาไว้หลาย ๆ วันนั้น มีโอกาสสูงที่แบตเตอรี่จะคายประจุ และเหลือ
พลังงานน้อยเต็มทีเมื่อจะต้องใช้งาน

2. เพลทยึดกล้อง (ขาตั้งกล้อง)
หนึ่งในส่วนประกอบอุปกรณ์ยอดฮิตที่มีนักถ่ายภาพลืมทิ้งไว้ที่บ้านมากที่สุด ก่อนที่จะหอบหิ้วขาตั้งกล้องเปล่าๆ ซึ่งใช้งานไม่ได้ติดตัวเดินทางไปด้วยอีกหลายร้อยกิโลเมตร    
นับเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกเมื่อไปถึงที่หมายแล้วหยิบขาตั้งกล้องออกมา ก่อนจะพบว่าแผ่นเพลทหรือตัวยึดขาตั้งกล้องนั้นไม่ได้อยู่ในที่ซึ่งมันควรจะอยู่ (ในที่นี้ก็คือขาตั้งกล้อง) นั่นหมายความว่าขาตั้งกล้องอันนั้นก็จะหมดค่าไปเลย แถมยังเป็นตัวถ่วงที่ไม่สามารถทอดทิ้งได้เสียด้วย (เพราะราคาก็ไม่ใช่น้อย ๆ)
     ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุที่มักจะส่งผลให้เกิดลักษณะข้างต้นก็คือ หลังเลิกใช้งานแล้วก็ยังปล่อยให้แผ่นเพลทติดอยู่กับตัวกล้อง หรือไม่ก็ถอดออกจากกล้องแล้วไม่ยอมใส่กลับคืนไปที่ขาตั้งกล้อง การวางมันเอาไว้ตรงนั้นตรงนี้ก็อาจจะทำให้เราไม่ได้เห็นมันอีกเลยเพราะอาจจะมีคนหยิบเอาไปช่วยใช้แล้วไม่คืนเป็นต้น
     เราต้องพึงระลึกเสมอว่า เพลทยึดกล้องนั้นไม่ควรอยู่ในที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ขา
ตั้งกล้อง ทันทีที่จบการใช้งานก็ควรที่จะถอดมันออกจากกล้องแล้วเก็บเอาไว้ที่ขาตั้งกล้องเหมือนเดิม และก่อนออกจากบ้านก็ลองเอานิ้วคลำสำรวจตรวจสอบดูว่ามันยังอยู่ในตำแหน่งอย่างเดิมหรือเปล่า? การทำบ่อย ๆ ก็ช่วยฝึกนิสัยให้เป็นคนที่ผิดพลาดน้อยลง และที่สำคัญจะได้ไม่ต้องแบกขาตั้งกล้องเปล่าๆ ไปไกลให้เจ็บใจเล่น

3. ฟิลเตอร์ลดแสง
เรื่อง “ลืม” นั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับอุปกรณ์ชนิดนี้ แต่ที่มีผลเสียหายได้มาก ๆ ก็คือการที่สวมฟิลเตอร์ใดๆ คาหน้าเลนส์ที่ใช้งานเอาไว้ ซึ่งในบางครั้งก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งคุณสมบัติของฟิลเตอร์เหล่านั้นเลย
ประเด็นมันอยู่ตรงที่ เมื่อเกิดชอตเด็ดเฉพาะหน้าแล้วยกกล้องขึ้นถ่ายภาพแบบปัจจุบันทันด่วน และก็ให้บังเอิญว่ามีฟิลเตอร์ C-PL สวมติดหน้าเลนส์อยู่พอดี จะมัวแต่หมุนถอดออกมาตอนนั้นก็พอดีไม่ทัน แน่นอนว่าปริมาณแสงที่จะเข้าสู่กล้องย่อมน้อยลง ส่งผลให้สปีดชัตเตอร์ต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชอตเด็ดแบบไม่คาดฝันของเราก็อาจจะเป็นแค่ภาพมืดๆ ภาพหนึ่งที่ดูไม่รู้เรื่องว่าคืออะไร หรือไม่ก็เป็นภาพเบลอๆ จากการสั่นไหวเนื่องจากสปีดชัตเตอร์ช้าลงจนส่งผลต่อภาพที่ได้จังหวะสุดยอดภาพนั้น
เมื่อใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรถอดฟิลเตอร์เหล่านี้ทำความสะอาดแล้วเก็บใส่กล่องเอาไว้ตามเดิม เพราะนอกจากจะเป็นเหตุผลเรื่องโอกาสได้ภาพอย่างที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังจะช่วยืดอายุการใช้งานของฟิลเตอร์ตัวนั้นออกไปได้อีกด้วย

4. สายสะพายกล้อง (คล้องคอ)
มีคนเสียกล้องและเลนส์ราคาแพงเนื่องด้วยสาเหตุที่ไม่น่าเชื่อ นั่นก็คือถูกสายสะพายกล้องที่เรามีไว้เพื่อทำหน้าที่ดูแลให้กล้องอยู่ติดอยู่กับคอของเราตลอดเวลาทรยศหักหลัง แต่เมื่อถึงคราวซวยที่จะได้เสียของและเสียตังค์จริงๆ เรื่องทำนองนี้ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน
บางครั้งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องของดวงซวยเพียงอย่างเดียว สำหรับกรณีสายสะพายกล้องเกิด “ขาด” หรือเลื่อนหลุดออกจากระบบล๊อคของมันเอง เพราะอย่างไรเสีย สายคล้องคอก็มักจะถักทอด้วยเส้นใยชนิดไนล่อนซึ่งมีความเหนียวพิเศษอยู่ในตัว แต่ก็มีความ “ลื่น” อยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้นโอกาสที่มันจะเลื่อนไหลออกจากตัวล๊อคของมันก็เป็นไปได้
    อย่างกรณีหนึ่งก็คือ “ขาด” เพราะสายสะพายเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับ “เหงื่อ” ของเราอยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็เป็นแหล่งกำเนิดของ “เกลือ” ที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน เมื่อผ่านไปนานวันเข้าประกอบกับแรงเสียดสี สายไนล่อนที่ว่าแน่ ๆ ก็อาจจะต้องกลับบ้านเก่าได้เหมือนกัน  ก่อนเอากล้องออกไป ให้ลองเอามันคล้องคอแล้วจับตัวกล้องด้วยสองมือเอาไว้ให้มั่น ลองดันออกจากตัวในลักษณะของการฝืนสายคล้องคอพอประมาณ ถ้ามันมีอาการเลื่อนไหลหรือขาดก็ไม่ต้องเสียดาย เพราะยังดีกว่าไปขาดและปลดปล่อยกล้องออกเป็นอิสระลงสู่พื้นนอกสถานที่เป็นแน่แท้

5. Memory Card
เรามักไม่ค่อยฟอร์แมตการ์ดหน่วยความจำที่เก็บไฟล์ลงเครื่องคอมพิวเตอร์เรียบร้อยไปแล้วสักเท่าไหร่ เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีภาพอยู่ในการ์ด เกิดอะไรขึ้นกับฮาร์ดดิสก์ก็ยังมีภาพสำรองอยู่ดีอันนี้เป็นเรื่องที่มองในแง่ของความไม่ประมาท อย่างไรก็ยังมีแผนสอง
แต่ในโอกาสถัดไปที่เรานำกล้องออกไปถ่ายภาพ เราก็อาจจะลืมไปแล้วว่าในการ์ดนั้นมีอะไรตกค้างอยู่หรือเปล่า? แค่เปิดกล้องแล้วรู้ว่ามีการ์ดอยู่ก็โอเค จากนั้นก็เริ่มกระหน่ำชัตเตอร์อย่างเมามันส์ แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็พบว่าการ์ดเต็ม? นั่นก็เพราะมันยังมีข้อมูลภาพเดิมหลงเหลืออยู่ในการ์ดซึ่งยังใช้พื้นที่อยู่
ทีนี้ก็ต้องมานั่งไล่ลบภาพเก่าทิ้งทีละภาพ เพราะไม่สามารถใช้วิธีฟอร์แมตได้อีกแล้ว ไม่งั้นภาพใหม่ที่เพิ่งถ่ายมาก็จะหายไปด้วย
     ทางแก้วิธีเดียวก็คือนั่งไล่ลบภาพเก่าทีละภาพไปจนกว่าจะเสร็จเรียบร้อย ในขณะที่เพื่อนยังรัวชัตเตอร์กันไม่หยุด แปลกตรงที่ว่าเมื่อแก้ปัญหาเสร็จแล้ว โอกาสงาม ๆ ก็มักจะจูงมือหายไปพร้อมกันด้วย เพราะเรามัวแต่ไล่ลบรูปอยู่นั่นเอง อย่าลืมฟอร์แมตการ์ดก่อนออกจากบ้าน แต่ก็อย่าลืมว่าได้บันทึกภาพเดิม
เหล่านั้นลงฮาร์ดดิสก์ไปแล้วจริง ๆ

6. ISO Setting
บางครั้งเราก็หลงระเริงไปว่าวันนี้มือขึ้น ถ่ายอะไรก็ได้ดั่งใจไปเสียหมด สปีดชัตเตอร์อยู่มือสบายๆ กล้องของเรานี่ช่างอัจฉริยะเสียจริง กว่าจะเริ่มเอะใจก็สายเสียแล้ว เพราะภาพที่ถ่ายไปตั้งเยอะแยะนั้นล้วนอุดมไปด้วยจุดสีรบกวนหรือ “Noise” ที่แพร่กระจายไปทั่วทั้งภาพ
ระบบของกล้องจะจำค่า ISO ที่เราปรับตั้งเอาไว้ล่าสุดเสมอถึงแม้ว่ากล้องจะปิดไปแล้ว เมื่อเปิดขึ้นมาใหม่ก็จะยังใช้ค่าเดิมอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เรื่องน่าเศร้าก็อาจจะเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพคอนเสิร์ตเมื่อคืนที่ต้องดัน ISO ขึ้นไปสูงๆ เพื่อถ่ายภาพในที่มืด รุ่งเช้าของอีกวันก็ออกไปถ่ายภาพพอร์ตเทรตนางแบบสวยแจ่มโลเคชั่นหวานหยดย้อยเพื่อเอาไปใช้งาน แต่ดันลืมปรับค่า ISO ลงมาระดับต่ำอย่างเดิม
ในจอ LCD ด้านหลังกล้องนั้นมักจะมองไม่เห็น Noise เพราะขนาดของมันเล็กเกินไป เราถึงอาจจะยังไม่ทันเฉลียวใจคิด กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว
ฝึกให้เป็นนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างปรับค่าลงมาที่ต่ำสุดทันทีเมื่อการใช้งานสิ้นสุดลง หรือตรวจสอบค่าทุกครั้งก่อนเริ่มใช้งาน ซึ่งก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เรื่องน่าเศร้าอย่างกรณีนี้เกิดขึ้นได้

7. Self-Timer
Self-timer หรือระบบการถ่ายภาพแบบหน่วงเวลานั้นมีประโยชน์มหาศาล ใช้กันทุกระดับตั้งแต่มือใหม่ไปจนถึงมืออาชีพในการถ่ายภาพหลาย ๆ ประเภท มือสมัครเล่นใช้เพื่อถ่ายภาพตัวเอง ในขณะที่มืออาชีพใช้เพื่อความนิ่งร่วมกับสปีดชัตเตอร์ช้า
แต่เสียง Self-timer ที่ดัง ติ๊ด ติ๊ด ยามเมื่อเรากดชัตเตอร์ลงไปในจังหวะที่ดีที่สุดซึ่งเป็นภาพแรกของวันทำให้เรานึกโมโหเสียจนแทบจะกระโดดเตะตัวเอง เพราะจังหวะงามๆ ได้หลุดลอยออกไปอย่างน่าเสียดาย หรือไม่ก็ได้ปล่อยไก่ออกไปตัวเบ้อเริ่มในฐานะที่ดูเป็นมืออาชีพเต็มตัวแต่กล้องไม่ยอมถ่ายภาพในจังหวะนับสาม กลับกลายเป็นเสียง ติ๊ด ติ๊ด ที่กลับฟังดูราวกับเสียงประตูเล้าไก่ถูกเปิดออกไปอย่างแรง
     คนหลังกล้องมักจะพลาดกันบ่อย ๆ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับ ISO ที่เพิ่งผ่านไป เนื่องจากใช้ระบบ Self-timer เพื่อถ่ายภาพเรียบร้อยแล้วไม่ยอมเปลี่ยนกลับมาเป็นระบบปกติ ซึ่งกล้องก็จะยังคงจำค่าเดิมเอาไว้ว่าเรายังต้องการจะถ่ายภาพแบบนับถอยหลังเหมือนเดิม ต่อให้ผ่านการปิดกล้องไปแล้วก็ตามที ดังนั้นจึงควรฝึกให้เป็นนิสัยอย่างยิ่งว่าต้องปืดระบบ Self-Timer หลังจากที่ใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
     จังหวะดี ๆ มีอยู่ไม่มาก หรือไม่ก็อาจจะมีอยู่แค่ครั้งเดียวในชีวิต จงอย่าทำลายมันด้วยเสียง ติ๊ด ติ๊ด ของ Self-timer จากฝีมือการปรับตั้งของเราเองเลย

8. Manual Focus
ทันทีที่ยกกล้องขึ้นเล็งพร้อมกับแตะปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งทาง สิ่งที่เราย่อมอยากเห็นคือจุดสัญลักษณ์ของการยืนยันโฟกัสพร้อมทั้งชิ้นเลนส์เคลื่อนไปจับจุดโฟกัสตามที่เราเล็งไป ซึ่งบางครั้งนั้นมันอาจหมายถึงจังหวะเพียงเสี้ยววินาทีที่เรายอมแลกทุกอย่างกับภาพนี้ได้อย่างไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง แต่เสียดายที่ระบบโฟกัสแบบ Manual ไม่ยอมให้ปรารถนาของเรากลายเป็นจริง
     ในการถ่ายภาพบางประเภทหรือบางจังหวะ เรามักจะต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบโฟกัสแบบหมุนปรับตั้งเอง (Manual) เพื่อความแม่นยำสูงสุด ซึ่งทุกครั้งเราก็มักจะต้องตรวจเช็คดูภาพด้วยความชื่นชมจากจอภาพ จนกระทั่งลืมที่จะปรับระบบโฟกัสกลับมาเป็น Auto เหมือนเดิม แน่นอนว่ากล้องและเลนส์ก็หวังว่าในการถ่ายภาพครั้งต่อไปก็จะต้องมีมือของเจ้านายมาหมุนมันให้ทำหน้าที่อยู่เหมือนเดิม

     ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิด ผลก็คือจังหวะอันสำคัญยิ่งนั้น “วืด” ไปอย่างน่าเสียดาย อาจจะไม่เคยรู้ แต่ท่าทางของคนถ่ายภาพที่ต้องลนลานหาวงแหวนปรับโฟกัสเพื่อพยายามปรับโฟกัสให้ได้พร้อมสีหน้าตกใจในขณะที่ไม่ยอมละสายตาออกจากช่องมองภาพนั่นดูประหลาด+น่าเห็นใจพิลึก 
ถ้าไม่อยากมีท่าทางพิลึกๆ อย่างกรณีนี้ ก็จงอย่าลืมปรับระบบโฟกัสกลับคืนเมื่อเลิกใช้งาน

9. RAW or JPEG
เราต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการเลือกใช้ RAW หรือ JPEG ที่แตกต่างกันไป บางคนต้องการคุณภาพระดับสูงก็เลือก RAW แต่บางคนก็ต้องการประหยัดเนื้อที่หรืออาจจะต้องส่งต่องานทันทีก็ต้องเลือก JPEG ซึ่งหลายๆ คนก็ปฏิเสธ JPEG โดยสิ้นเชิงเพราะแต่งภาพต่อไม่ค่อยสะดวก แต่ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธ RAW เพราะเปิดมันขึ้นมาใช้งานไม่เป็น + สีไม่สวย ฯลฯ
     ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ สำคัญก็คือเราได้เลือกรูปแบบที่ถูกต้องแล้วหรือยัง? หลายคนเซ็งจนหมดอารมณ์เมื่อพบว่าภาพที่บรรจงถ่ายมาทั้งวันเป็นไฟล์ภาพแบบ JPEG แถมยังเป็นไฟล์ขนาดเล็กอีกต่างหาก ซึ่งในการนำไปใช้งานจริงก็อาจจะมีปัญหาด้านคุณภาพได้อย่างแน่นอน ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ สำหรับผู้ที่สลับวิธีการบันทึกภาพทั้งสองรูปแบบนี้กลับไปกลับมา ซึ่งนี่คือสิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง และก็มีอีกหลายคนเพลินกับการถ่ายภาพแบบ RAW จนลืมไปว่าต้องส่งงานทันที...แล้วจะไปหาเครื่องคอมฯ ที่ไหนมาแปลงไฟล์เป็น JPEGกันล่ะ?
    เช่นเดียวกับกรณีของ ISO และ Self-timer ที่ผ่านมากล้องจะจำรูปแบบล่าสุดที่มีการปรับตั้งเอาไว้เสมอ ขอให้รวมเอาหัวข้อนี้เข้าเป็นอีกหนึ่งในรายการเช็ค
กล้องก่อนจะนำเอาออกจากบ้าน เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ทำให้พลาดจังหวะงาม ๆ แต่อาจจะพลาดคุณภาพแจ๋ว ๆ ของภาพ ซึ่งก็ยังไม่พ้นต้องเสียอารมณ์อยู่ดี

สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องตลกขบขันเมื่อออกไปถ่ายภาพกันแบบชิลๆ ในหมู่เพื่อนฝูง แต่กับงานในลักษณะของมืออาชีพแล้วจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงและความศรัทธาที่ลูกค้าจะมีต่อเราทันที ดังนั้นคนถ่ายภาพจึงควรฝึกการตรวจสอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นนิสัย เช่นเดียวกับที่ก่อนออกจากบ้านต้องสำรวจกระเป๋าสตางค์นั่นเลยทีเดียว

ที่มา: www. tsdmag.com 

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง