ss

9 ธันวาคม 2553

รีวิว OLYMPUS E-PL

OLYMPUS E-PL


ในที่สุด Olympus ได้ออกกล้องรุ่นใหม่ในรุ่น E-PL1 ที่มีราคาประหยัดมากขึ้น เปลี่ยนวัสดุจากโลหะเป็นพลาสติก

คุณสมบัติหลักของกล้อง
* เป็นกล้องในระบบ Micro Four Third
* ใช้เซ็นเซอร์ Live MOS ความเร็วสูง ให้ภาพขนาด 12.3 เมกกะพิกเซล
* สามารถเชื่อมต่อช่องมองภาพแบบอีเลคโทรนิคส์ (Electronic View Finer) ติดตั้งบนฐานแฟลช
* มีระบบกำจัดฝุ่นแบบ Supersonic Wave Filter (SSWF) ซึ่งเป็นระบบกำจัดฝุ่นด้วยคลื่นความถี่สูง
* มีแฟลชในตัว และสามารถ ทำเป็น wireless flash control กับแฟลชรุ่น FL-36R และ FL-50R
* ระบบกำจัดฝุ่นแบบ Supersonic
* มีระบบป้องกันการสั่นไหว และใช้ได้กับเลนส์แบบแมนนวล โดยการกำหนดค่าทางยาวโฟกัสไว้
* สามารถเลือกอัตราส่วนภาพได้ 4 แบบ 4:3 16:9 3:2 และ 6:6
* ART Filter สำหรับถ่ายภาพในแนวสร้างสรรค์ 6 โหมด
* SCENE Mode 19 แบบ
* ใช้การ์ดบันทึกภาพแบบ SDHC และ SD
* ใช้แบตเตอรี่แบบลิเที่ยมไอออน ขนาด 7.2 โวลท์ ความจุ 1,150 มิลลิแอมป์
* จุดโฟกัสมากถึง 11 จุด สามารถย้ายจุดโฟกัสไปมาในตำแหน่งที่ต้องการได้
* ถ่ายวิดิโอ คุณภาพระดับ HD 720p 30 เฟรม/วินาที
* ถ่ายภาพซ้อนได้สองภาพ บนเฟรมเดียวกัน




ขนาดและรูปร่าง
รูปร่างของ E-PL1 นั้นจะแหวกแนวไปจากรุ่น E-P1 และ E-P2   ดูเหมือนจะเพรียวเท่า แต่ก็จับถนัดกว่า โดยเฉพาะกริปด้านหน้าที่เป็นสันนูนขึ้นมานั้น ช่วยให้จับถนัด และกระชับมือมากขึ้น ผิดกับสองรุ่นแรกที่กริปเป็นหนังนูนขึ้นมานิดเดียว ไม่ได้ช่วยให้กระชับมือสักเท่าไร ปุ่มเลือกฟังก์ชั่นใช้งานถูกย้ายไปไว้ด้านบน ติดกับปุ่มกดชัตเตอร์ ในสไตล์กล้อง DSLR ใช้งานได้คล่องมือดี ด้านบนตรงเหนือเลนส์ จะเป็นฮ๊อตชูส์สำหรับเสียบแฟลชภายนอก และจะเป็นที่เสียบขาของอุปกรณ์มองภาพแบบอีเล็คทรอนิคส์ หรือ EVF (Electronic View Finer) โดยมีช่องเชื่อมต่อสัญญาณใต้ฐานแฟลชอีกที ตัวกล้อง เป็นพลาสติก แต่แปลนเมาท์เลนส์เป็นโลหะ แม้จะเป็นพลาสติกแต่ตัวกล้องก็มีความแน่นหนาแข็งแรง และผลิตอย่างประณีต รูปทรงของกล้องออกไปในแนวเป็นกล่องสี่เหลี่ยม
E-PL1 มีจอ LCD ขนาด 2.7 นิ้ว แบบ Hyper Crystal ให้ภาพคมชัดสบายตา และแม้จะถ่ายภาพกลางแจ้งก็ยังมองเห็นได้เพราะมีการเคลือบตัดแสงสะท้อน กล้องรุ่นนี้มีมีแฟลชป๊อบอัพขนาดเล็กไกด์นัมเบอร์ 7 ติดตั้งมาให้ด้วย ทำให้สามารถถ่ายภาพโดยใช้ช่องมองภาพ EVF พร้อมกับการใช้แฟลชตัวพร้อมกันได้ แบตเตอรี่รุ่น BLS-1ขนาด 1,150 มิลิแอมป์ สามารถถ่ายภาพได้เกือบๆ สามร้อยภาพ

การทดสอบใช้งาน
การจับถือ กล้องรุ่น E-PL1 มีกริปที่เป็นสันนูนขึ้นมาทำให้จับถือกล้องได้กระชับมากขึ้นกว่าในรุ่น E-P1 และ E-P2 วัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติกเกรดดี การประกอบมีความประณีต ทำให้เวลาจับถือรู้สึกได้ว่ากล้องมีความแข็งแรงแน่นหนา จนลืมไปเลยว่าตัวกล้องเป็นพลาสติก และแม้ว่าจะเป็นพลาสติก แต่น้ำหนักของกล้องก็แทบไม่ได้ต่างไปจาก E-P1 และ E-P2 ที่เป็นโลหะสักเท่าใด

คุณภาพไฟล์ ในการทดสอบใช้งานนั้นพบว่า ขนาดและคุณภาพของไฟล์นั้นเทียบได้กับ DSLR ไม่ต่างไปจากในรุ่น E-P1 และ E-P2 ขนาดไฟล์ภาพ 12.3 ล้านพิกเซลนั้น เพียงพอจะนำไปใช้งานจริงจังได้ สีสัน และความคมชัดนั้นน่าประทับใจ การถ่ายภาพที่ไอเอสโอต่ำๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไอเอสโอไม่เกิน 400 นั้นภาพจะเนียนใส แต่ถ้าเกินกว่านั้นขึ้นไปก็สามารถมองเห็นนอยซ์ได้ชัดเจน
ระบบการทำงาน กล่าวได้ว่ากล้องรุ่นนี้ คือกล้องรุ่นประหยัดของระบบ Micro Four-Third เพราะได้ตัด และลดหลายๆ สิ่งออกไปเช่น วงล้อหมุนปรับตั้งค่าต่างๆ ไม่มีเหลืออยู่เลยการปรับตั้งค่าเป็นแบบกดปุ่มแบบเดียวกับกล้องคอมแพค คนที่เคยใช้กล้องคอมแพคมาคงคุ้นเคย และรู้สึกสะดวกดี แต่สำหรับคนที่เคยใช้ DSLR หรือ รุ่น E-P1 และ E-P2 มาแล้ว แรกๆ จะรู้สึกหงุดหงิดอยู่สักหน่อย ต้องใช้ไปสักระยะก็จะชินมือเอง การที่ไม่มีวงล้อหมุนปรับตั้งค่าต่างๆ ทำให้ควบคุมกล้องได้ช้าลงไปเหมือนกัน เพราะต้องกดปุ่มเข้าเมนู เลื่อนไปเลื่อนมาซึ่งอาจไม่สะดวกเท่าแบบวงล้อ ในรุ่น E-P1 และ E-P2 มีให้ใช้ถึง 2 วงล้อเลย แต่ในรุ่นนี้ไม่มีสักอัน สิ่งที่หายไปอีกอย่างคือช่องเสียบสายลั่นชัตเตอร์ อันนี้อาจทำให้ผู้ที่ชอบถ่ายภาพกลางคืน หรือ พลุ ที่ต้องถ่ายภาพแบบความเร็วต่ำๆ หรือ ใช้ชัตเตอร์ B ซึ่งปกติแล้วควรจะต้องใช้คู่กับสายลั่นชัตเตอร์ แต่รุ่นนี้ไม่มีให้ใช้ อาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจได้มากเลยเพราะไม่มีช่องเสียบสายลั่นชัตเตอร์ให้มา แต่กล้องก็ชดเชยให้ด้วยการมีระบบ Bulb แบบตั้งเวลา ได้ระหว่าง 1-30 นาที คล้ายๆ กับโหมด S (Shutter Priority) มาให้ แต่คงไม่สะดวกเท่าชัตเตอร์ B แท้ๆ ควบคู่กับสายลั่นชัตเตอร์ ที่นึกอยากจะกด ก็กด อยากจะปล่อยก็ปล่อย ได้ตามใจชอบ
การทำงานของกล้องนั้นไม่ต่างไปจากในรุ่น E-P1 และ E-P2 นัก ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการหาโฟกัส และความเร็วในการถ่ายต่อเนื่อง คือมันไม่ได้รวดเร็วมากมายนัก จึงเป็นกล้องที่เหมาะกับการถ่ายภาพแบบพิถีพิถัน ไม่รีบร้อน ระบบการทำงานยังไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบระบบการทำงานกับ DSLR ได้ แต่คุณภาพไฟล์นั้นสู้ได้สบาย กล้องรุ่นนี้ถึงแม้จะเป็นกล้องรุ่นประหยัด และถูกตัดโน่นตัดนี่ไปหลายๆ อย่าง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา และนับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากก็มี เช่น ปุ่มบันทึกถ่ายวีดีโอ ที่แยกออกมาต่างหาก ที่วางอยู่ตรงตำแหน่งหัวแม่มือ ทำให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ทันทีไม่ต้องปรับเข้าโหมดวีดีโอก่อน และการที่แยกปุ่มออกมาต่างนี้ยังมีประโยชน์ทำให้เราสามารถบันทึกภาพนิ่งไปพร้อมๆ กับภาพเคลื่อนไหวได้ทันที
อีกอย่างที่ชอบมากคือ ปุ่มกดเพื่อขยายภาพขึ้นได้ถึง 7-14 เท่า เพื่อไว้ช่วยปรับโฟกัสแบบละเอียด อันนี้มีประโยชน์มากๆ สำหรับผู้ที่นิยมนำเลนส์แมนนวลมาต่อใช้งาน เพราะมันจะขยายภาพขึ้นมา ทำให้สามารถปรับโฟกัสได้คมชัดที่สุด และปุ่มนี้ก็ใช้สะดวก ยิ่งถ้าใช้ควบคู่กับระบบป้องกันการสั่นไหวที่สามารถตั้งค่าตามขนาดเลนส์ที่ใช้ จะยิ่งทำให้ได้ภาพที่คมชัดทีเดียว ส่วนกรณีที่ใช้เลนส์แบบ Micro Four-Third อยู่แล้วนอกจากใช้ปุ่มนี้ได้แล้ว ยังสามารถเปิดระบบช่วยหาโฟกัสที่จะทำการขยายภาพขึ้น เมื่อหมุนวงแหวนปรับโฟกัส โดยต้องเข้าไปตั้งเปิดระบบในเมนู ปกติกล้องในตระกูล E-P1, E-P2 และ E-PL1 นั้นการโฟกัสไม่ค่อยจะทันใจนัก แต่ถ้าใช้ระบบช่วยโฟกัสที่กล่าวมานี้ช่วยแล้ว จะให้ถ่ายภาพได้เร็ว และสนุกขึ้น

การโฟกัสภาพ ของกล้องรุ่นนี้ยังเป็นปัญหาเหมือนในรุ่น E-P1, E-P2 วัตถุที่ต้องการถ่ายภาพต้องมีความเปรียบต่างมากสักหน่อย จึงจะโฟกัสได้ง่ายๆ แต่ถ้าพื้นผิวเรียบๆ ไม่ค่อยมีความเปรียบต่างของสี หรือ แสงแล้ว การหาโฟกัสจะยากขึ้น เลนส์จะมีอาการวืดวาด กว่าจะหาโฟกัสเจอ ทำให้รู้สึกหงุดหงิดได้ การนำเลนส์ตัวใหญ่ในระบบ 4/3 ต่อผ่านอแดปเตอร์ จะพบว่าโฟกัสช้าไม่ทันใจเลนส์จะมีอาการวืดวาดไปมา ระบบช่วยหาโฟกัสจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเลนส์ยาวๆ
ถ่ายวีดีโอคุณภาพระดับ Hidefinition กล้อง E-PL1 สามารถถ่ายวีดีโอให้คุณภาพที่คมชัดในระดับ HD 720 p ยิ่งเมื่อต่อดูบนจอภาพ LCD ผ่านช่อง MDMI นั้นคมชัดมาก ภาพวีดีโอในสภาพแสงกลางวันคมชัด สีสันสดใสดี และในสถานที่แสงน้อยๆ ก็ยังเก็บแสงได้ดีพอควร เท่าที่ทดสอบน่าถ่ายได้ที่แสงประมาณสัก 3-4 LUX ความเร็วต่ำสุดที่กล้องทำได้คือ 1/30 แต่การถ่ายวีดีโอในสภาพแสงน้อย หรือ กลางคืนต้องปรับ ISO ให้สูงขึ้นด้วยจึงจะได้ภาพที่ดีกว่า ซึ่งสามารถปรับได้ระหว่าง 200-1600 แม้ว่าระบบวีดีโอจะบันทึกภาพที่ 30 เฟรม/วินาที ภาพที่ได้ยังมีอาการกระตุกของภาพให้เห็น แต่ก็ยังนับว่ามีคุณภาพที่ดี ระบบกันสั่นแบบ IS ที่มีในกล้องเมื่อใช้กับโหมดวีดีโอ ควรจะเปิดไว้ตลอดด้วยเพราะจะช่วยทำให้ได้ภาพที่มีความนิ่งดูสบายตา
การปรับโฟกัส เมื่อใช้เลนส์รุ่น Micro Four Third เองนั้น การโฟกัสนั้นทำได้ดีพอควรไม่ช้าเท่าใดนัก แต่ถ้านำเลนส์ระบบ Four Third มาต่อผ่านอแดปเตอร์รุ่น MMF-1 จะโฟกัสได้ค่อนข้างช้า อย่างที่ได้กล่าวไว้ E-PL1 ต้องการวัตถุต้องที่มีความเปรียบต่างมากสักหน่อย จึงจะจับโฟกัสถ่ายภาพเร็วขึ้น แต่เลนส์ 4/3 ของโอลิมปัสเองที่ต่อผ่านอแดปเตอร์ ระบบโฟกัสสามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้ทุกตัว
การมองภาพและหาโฟกัสโดยใช้จอ LCD จอ LCD แบบ Hyper Crystal ขนาดใหญ่ถึง 2.7 นิ้ว สีดำสนิท เคลือบสารลดแสงสะท้อน ช่วยให้ใช้งานกลางแจ้งได้ดีขึ้น ความสว่างของจอสามารถปรับได้ 15 ระดับ จอภาพเห็นภาพได้ 100% ให้ข้อมูลถ่ายภาพได้ครบถ้วน และสามารถเปิดใช้เส้นตารางกริดแบบดิจิตอลเหมาะสำหรับงานที่ต้องรักษาแนวเส้นตั้ง หรือนอน จอ LCD แม้ความละเอียดจะแค่ 230,000 ล้านพิกเซล แต่ก็มีความคมชัดดี ใช้มองภาพหาโฟกัสในสภาพทั่วไปได้ดี แต่ในที่แสงแรงมากๆ จะเป็นอุปสรรคอยู่มากเหมือนกัน แต่กล้องรุ่นนี้มีช่องต่อเชื่อมสำหรับช่องมองภาพอีเล็คทรอนิคส์รุ่น VF2 มาให้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยช่องมองภาพ VF2 นี้ก็จะแสดงข้อมูลได้ครบถ้วนเช่นกัน
ระบบกันสั่น หรือ IS (Image Stabilizer) ระบบกันสั่นที่มีอยู่ภายในกล้องนั้นมีประโยชน์มาก ช่วยให้การถ่ายภาพโดยใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำกว่า เศษหนึ่งส่วนทางยาวโฟกัสได้ถึง 3-4 สต๊อป หวังผลได้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ E-PL1 มีโหมดป้องกันการสั่นไหว 3 โหมด คือ IS1 IS2 และ IS3 แต่การติดตั้งกล้องไว้บนขาตั้งกล้องควรจะปิดระบบกันสั่นนี้ไว้ เพราะอาจทำให้เกิดการชดเชยความสั่นที่ผิดพลาด กลับจะยิ่งทำให้ภาพสั่นไหวไปซะอีก ระบบป้องกันการสั่นไหวนี้สามารถ ใช้กับเลนส์แมนนวลได้ด้วย แต่ต้องไม่ลืมที่จะตั้งค่าขนาดของเลนส์ที่ใช้ให้ตรงด้วย มิฉะนั้นอาจเกิดการชดเชยการสั่นที่ผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้ภาพกลับไม่ชัดก็เป็นไปได้
ระบบกำจัดฝุ่น ระบบกำจัดฝุ่นของกล้องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกล้องดิจิตอล โดยเฉพาะกล้องที่มีเซ็นเซอร์ รับภาพแบบไลฟ์มอส อย่าง E-PL1 ที่เซ็นเซอร์ต้องเปิดรับภาพตลอดเวลา ม่านชัตเตอร์จะเคลื่อนมาปิดก็เฉพาะเวลาลั่นชัตเตอร์ ระบบกำจัดฝุ่นนี้จะทำเริ่มทำงานทันทีที่เปิดระบบการทำงานของกล้อง โดยระบบการกำจัดฝุ่นของกล้องรุ่นนี้จะเป็นแบบ กำจัดฝุ่นจากหน้าตัวรับภาพด้วยคลื่นความถี่สูง หรือ SSWF (Super Sonic Wave Filter) ซึ่งเป็นระบบที่เยี่ยมยอดที่สุดในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีควรหลีกเลี่ยงการถอดเปลี่ยนเลนส์บริเวณที่มีฝุ่นมาก หรือลมแรงเป็นอย่างยิ่ง

ระบบตรวจจับใบหน้าคน Face Detection ระบบตรวจจับโฟกัสใบหน้าคนยังคงมีให้ใช้ เหมือนกับของกล้องคอมแพคทำให้สะดวกเวลาถ่ายภาพบุคคล แค่กดชัตเตอร์เบาๆ ก็จะจับโฟกัสใบหน้าได้ทันที แต่ถ้าถ่ายภาพวิว หรืออื่นๆ ก็ควรจะปิดระบบนี้ เพราะตำแหน่งโฟกัสอาจผิดพลาดไม่ตรงกับตำแหน่งที่เราต้องการได้
การสร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยอาร์ตฟิลเตอร์ CREATIVITY WITH ART FILTERS
E-PL1 มีโหมดฟังก์ชั่นแบบ ART/SCN เอาไว้ให้ใช้สร้างสรรค์ภาพแบบแปลกๆ ตั้งแต่ตอนถ่ายเลย โดยที่ไม่ต้องไปเปิดทำในคอมพิวเตอร์ในภายหลัง ทำให้เราสามารถสร้างภาพแบบสำเร็จรูป  ด้วย 6 อาร์ต และ 19 ซีนที่มีมาให้ ด้วยโหมด ART เราสามารถทำภาพให้สีจัด หรือสีซีดจาง ทำภาพซอฟท์ ภาพไฮคีย์/โลว์คีย์ ภาพหลุดโฟกัส หรือจะถ่ายภาพที่มีขอบมืดทั้งสี่ด้าน ในสไตล์โลโม่ และในโหมด SCN เราสามารถเลือกใช้ตามสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยทำให้การได้ภาพที่ดี เป็นเรื่องง่ายดาย แต่การใช้ฟังก์ชั่นอาร์ตต่างๆ เหล่านี้จะทำให้กล้องทำงานช้าลงตอนบันทึกภาพลงในการ์ด เพราะต้องไปเสียเวลาไปจัดการภาพตามฟิลเตอร์ให้
ART 1.Pop Art, 2.Soft Focus, 3.Grainy Film, 4.Pin Hole, 5.Diorama, 6.Gentle Sepia
SCN 1.Portrait, 2.e-Portrait, 3.Landscape, 4.Landscape+Portrait, 5.Macro, 6.Nature Macro, 7.Sport, 8.Night Scene, 9.Night+Portrait, 10.Children, 11.High Key, 12.Low Key, 13.DIS mode, 14.Candle, 15.Sunset, 16.Document, 17.Panorama, 18. Firework s, 19.Beach & Snow
แม้ว่ากล้องโอลิมปัส E-PL1 จะเป็นกล้องในระบบ Micro Four Third ในรุ่นประหยัดที่ตัดสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆ อย่างออกไป เช่น วงล้อหมุนปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นทั้ง 2 อัน ไม่มีช่องเสียบสายลั่นชัตเตอร์ ไม่มีระบบ G-sensor และอื่นๆ อีก รวมทั้งวัสดุที่ใช้ทำตัวกล้องก็เปลี่ยนจากโลหะมาเป็นพลาสติกเพื่อเป็นการลดต้นทุนลง แต่ก็มีสิ่งที่เพิ่มมาที่มีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นแฟลชในตัวที่สามารถทำเป็นระบบ Wireless Flash ได้กับภายนอกรุ่น FL-36R และ FL-50R ที่ไม่มีในรุ่น E-P1 และ E-P2 ปุ่มขยายภาพเพื่อช่วยในการหาโฟกัส รวมทั้งปุ่มบันทึกภาพวีดีโอแยกต่างหาก ที่ทำให้สามารถบันทึกภาพนิ่งในระหว่างถ่ายวีดีโอได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้เป็นอย่างมาก เท่าที่ทดสอบใช้งาน แม้ตัวกล้องจะเป็นพลาสติกแต่ก็เป็นพลาสติกเกรดดี กริปที่หนาขึ้นทำให้การจับถือถนัดมือยิ่งขึ้น ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ถูกตัดออกไป แลกกับราคาที่ลดลงจะเป็นส่วนที่คุ้มค่าสำหรับผู้ใช้มากขึ้น เพราะระบบพื้นฐานยังคงมีอยู่ครบถ้วนใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าจะให้ดีน่าจะคงช่องเสียบสายลั่นชัตเตอร์เอาไว้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ที่มา :http://camerartmagazine.com/index.php/product-review/slr-camerar-review/255-olympus-e-pl1

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง