ss

25 ตุลาคม 2553

7 เทคนิคง่ายๆของการถ่ายภาพบุคคล [เทคนิคการถ่ายภาพ]

7 เทคนิคง่ายๆของการถ่ายภาพบุคคล [เทคนิคการถ่ายภาพ]


โฟกัสที่ตา
          หลักการสำคัญข้อแรกของการถายภาพบุคคลคือการโฟกัสที่ดวงตา เนื่องจากดวงตานั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาพเนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกและแสดงถึงอารมณ์ของภาพ ถ้าหากว่าเราไม่ได้โฟกัสที่ดวงตาและทำให้ตาไม่ชัดนั้นตัวแบบที่เราถ่ายจะดูเหมือนคนสุขภาพไม่ดีดูเหมือนคนป่วยทำให้ภาพขาดความน่าสนใจไปในทันที เหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการถ่ายภาพบุคคลนั้นเรามักจะใช้รูรับแสงที่กว้างซึ่งจะทำให้มีระยะชัดลึกที่น้อย ถึงแม้ว่าเราจะทำการโฟกัสที่ใบหน้าแล้วก็ตามแต่หลายครั้งเอาอาจพบกรณีที่จมูกชัดแต่ดวงตาไม่ชัดหรือบางครั้งเป็นแก้มหรือว่าใบหูชัดแต่ดวงตาไม่ชัดก็มี การโฟกัสที่ดวงตาให้ชัดนั้นบางครั้งบริเวณไหล่หรือว่าใบหูไม่ชัดก็จะยังสามารถเป็นภาพที่ดีได้ ดวงตานั้นเป็นหน้าต่างของหัวใจการโฟกัสดวงตาให้ชัดจึงสำคัญเป็นประการแรก
อย่าตัดบริเวณข้อต่อ
         หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการจัดองค์ประกอบภาพนั้นอย่าตัดกรอบภาพบริเวณข้อต่อ ซึ่งจะได้แก่ คอ ข้อศอก ข้อมือ เอว หัวเข่า ข้อเท้า เนื่องจากจะทำให้อารมณ์ภาพนั้นดูไม่ดี ความรู้สึกของคนดูภาพจะรู้สึกเหมือนว่าตัวแบบของเรานั้นแขนหรือขาขาดได้ การตัดกรอบภาพบริเวณแขนขาหรือลำตัวนั้นทำได้เพียงแต่เราต้องไม่ตัดบริเวณข้อต่อเท่านั้นเอง เนื่องจากข้อต่อต่างๆเป็นจุดเชื่อมต่อของร่างกายอยู่แล้ว การตัดบริเวณข้อต่อนั้นจะเป็นการเน้นย้ำความรู้สึกคนดูภาพว่าอวัยวะส่วนนั้นอาจขาดหายไปได้มากจนเกินไป การระวังไม่ตัดบริเวณข้อต่อจะทำให้ได้ภาพที่ดีกว่า [เทคนิคการถ่ายภาพ]

สื่อสารกับตัวแบบของคุณให้ชัดเจน
          เพราะว่าการถ่ายภาพ Portrait นั้นช่างภาพไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนกับการถ่ายภาพแนวอื่นเช่นการถ่ายภาพทิวทัศน์ การถ่ายภาพบุคคลนั้นจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ถ่ายและตัวแบบ ซึ่งต้องมีการสื่อสารพูดคุยกันว่าอย่างได้อารมณ์และท่าทางแบบไหน ศิลปะในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกเลย คืออย่าทำให้ตัวแบบเรามีความเครียดอย่างเด็ดขาด เพราะว่าจะทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติออกมาได้ พยายามบอกเล่าและสื่อสารกันให้เข้าใจให้ได้ ว่าท่านต้องการอารมณ์และท่าทางแบบไหน เมื่อสามารถสื่อสารได้ตรงกันแล้วเชื่อแน่นอนได้ว่า คุณจะได้อารมณ์ของภาพแบบที่คุณต้องการได้ไม่ยากนัก

ปล่อยให้เขาเป็นในแบบที่เขาเป็น
          ในการถ่ายภาพบุคคลบางอย่างเช่นภาพแนววิถีชีวิต แนวสารคดีหรือว่าแนวอื่นๆก็ตาม บางครั้งเราต้องถ่ายภาพเพื่อสื่อความเป็นตัวตนของคนๆนั้นออกมา มากกว่าการที่จะให้คนๆนั้นทำตาม Concept ที่เราวางเอาไว้ ซึ่งภาพแนวนี้เราต้องมองให้เห็นและดึงความเป็นตัวตนของเขาออกมา โดยปล่อยให้เขาเป็นในแบบที่เขาเป็น ซึ่งสำหรับภาพแนววิถีชีวิตหรือแนวสารคดีนั้น การเดินเข้าไปถ่ายตรงๆนั้นค่อนข้างจะเสียมารยาทและทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้บ่อย การที่คนมีกล้องมีสิทธิ์ที่จะถ่ายภาพนั้นคนถูกถ่ายก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ถ่ายได้พอๆกัน เราควรที่จะเข้าไปพบปะพูดคุยกันเสียก่อนแสดงความเป็นมิตรกับผู้ที่เราจะถ่ายภาพเขา ถ้าหากว่าเราผูกมิตรกับเขาได้โอกาสที่จะได้ภาพสวยๆนั้นมีความเป็นไปได้สูงครับ บางครั้งเราอาจต้องพูดคุยไปถ่ายไปและคอยจับกริยาท่าทางของเขาและก็ค่อยๆถ่ายไป แน่นอนครับในหลายๆครั้งเราต้องรอจับจังหวะถ่ายเอาเอง เพราะการจะบอกให้เขาทำท่าตามที่เราต้องการนั้นบางครั้งจะทำให้เขาเกร็งได้ครับ [เทคนิคการถ่ายภาพ]

Window light
          การควบคุมทิศทางแสงนั้นถือเป็นเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพบุคคลให้มีความแตกต่าง ในสถานะการณ์ต่างๆนั้นก็จะมีสภาพแสงที่แตกต่างกันไป ซึ่งเราต้องหาให้เจอว่าจะใช้งานแต่ละสภาพแสงนั้นๆอย่างไร หนึ่งเทคนิคที่สามารถใช้งานได้ง่ายคือการใช้งานแสงที่เข้ามาเพียงด้านเดียว ซึ่งจะเรียกว่า Window light เทคนิคนี้ใช้งานไม่ยากและสร้างความแตกต่างในภาพได้ดี เราสามารถใช้เทคนิคนี้ได้โดยการหาสถานที่ที่มีแสงเข้ามาด้านเดียว เช่นด้านข้างหน้าต่าง ประตู หรือว่าช่องกำแพงก็ได้ ขอให้เป็นสถานที่ๆสามารรถบีบให้แสงเข้ามาจากด้านเดียวได้ แล้วจัดให้แสงเข้ามาด้านข้างของตัวแบบ เท่านี้เราก็จะได้ภาพแสงที่แตกต่างจากปกติอยู่พอสมควรแล้วซึ่งเทคนิคนี้ไม่ยากจนเกินไปนัก อยู่ที่เราจะสามารถหาสภาพแสงในสถานที่นั้นๆได้หรือไม่ จากภาพตัวอย่างข้างล่างเป็นภาพที่ให้ตัวแบบยืนข้างๆช่องแสง เพื่อให้มีแสงเข้ามาทางด้านขวาของภาพเพียงด้านเดียว ทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะแปลกตาและน่าค้นหามากขึ้น

ถ่ายภาพย้อนแสง
           หลายครั้งเราอาจเคยได้ยินว่าการถ่ายภาพย้อนแสงนั้นจะให้ให้ตัวแบบหน้าดำและได้ภาพที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพบุคคลย้อนแสงนั้นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ โดยเราจะได้ประกายของเส้นผมเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนแสง ซึ่งสิ่งที่เราเองทำการแก้ไขคือการทำไม่ให้ตัวแบบเรานั้นหน้าดำซึ่งวิธีแก้นั้นจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันได้แก่
1. ใช้การวัดแสงแบบเฉพาะจุดวัดแสงที่บริเวณแก้มของตัวแบบ ( วิธีการนี้อาจทำให้ฉากหลังว่างเกินไป)
2. ใช้แฟลชช่วยเติมแสงบริเวณใบหน้า
3. ใช้ Reflex ในการเติมแสงบริเวณใบหน้า ( วิธีนี้จะให้แสงที่นุ่มและมีมิติมากกว่าการใช้แฟลชธรรมดา แต่ต้องมีคนช่วยถือให้)
          จากสามวิธีการข้างต้นนั้นจะทำให้เราสามารถถ่ายภาพย้อนแสงโดยมีประกายที่เส้นผมได้ โดยที่ไม่ทำให้ตัวแบบของเราหน้าดำอีกต่อไป วิธีการนี้ไม่ยากและนำไปปรับใช้กับสถานะการณ์ต่างๆได้ไม่ยากครับ

การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับทิวทัศน์
          ในหลายๆครั้งที่เราต้องถ่ายภาพบุคคลร่วมกับฉากหลังโดยที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่างเช่น การไปถ่ายรูปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆหรือการถ่ายรูปกับสถานที่สำคัญ เรามักพบว่าโดยทั่วไปมักจะวางตัวแบบไว้ตรงกลางภาพซึ่งในหลายครั้งตัวแบบของเราจะไปบดบังภาพทิวทัศน์เบื้องหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีวิธีง่ายๆที่จะทำให้ทั้งสองสิ่งอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเราสามารถนำหลักการ การวางจุดสนใจในภาพมาใช้งานร่วมกับการถ่ายภาพบุคคลได้เช่นกัน โดยให้เราทำการวางคนไว้ด้านซ้ายหรือด้านขวาภาพตามกฎของจุดตัด 9 ช่องจะทำให้สามารถเก็บภาพของทิวทัศน์เบื้องหลังและภาพของตัวแบบเอาไว้ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ อีกวิธีการหนึ่งก็คือถ้าหากว่าเราต้องการถ่ายร่วมกับตึกหรือสิ่งที่มีลักษณะเป็นทรงตั้ง ให้เราจัดองค์ประกอบภาพเหมือนกับเป็นการถ่ายภาพคู่ก็ได้โดยให้จินตนาการว่าสถานที่นั้นๆเป็นคนอีกคนหนึ่ง [เทคนิคการถ่ายภาพ]

ที่มา : http://my.sony.co.th/tips/103_Alpha/tipn103_th.html

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง