“ถ่ายภาพขาวดำต้องมองเป็นน้ำหนักขาว ดำ”
ถ้าเอ่ยชื่อออกมาแล้ว ในวงการถ่ายภาพขาวดำต้องบอกว่าน้อยคนนักที่จะไม่มีใครรู้จักร หลาย ๆ คนรู้จักเขาในฐานะเป็นลูกศิษย์ของ John Sexton ผู้ช่วยมือหนึ่งของช่างภาพขาวดำระดับโลก Ansel Adams หลาย ๆ คนหลงใหลภาพแลนด์สเคปขาวดำที่น่าทึกของเขา เราไปพบกับตัวตนที่แท้จริงของ “กันต์ สุสังกรกาญจน์”
จุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพ
ผมเป็นคนกรุงเทพฯครับ เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ ม.5 เริ่มจากกล้อง Point and shoot ถ่ายกิจกรรมรูปเพื่อน ๆ ในห้อง แล้วก็มาเป็น PENTEX K1000 ใช้ถ่ายงานกีฬาสีและรูปเพื่อน ๆ ในห้องเพื่อทำหนังสือรุ่น ตลอด 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัย (รัฐศาสตร์ จุฬา) ก็ถ่ายรูปมาตลอด ได้เข้าชมรมถ่ายภาพของมหาวิทยาลัยได้ถ่ายภาพกิจกรรมคณะตลอด ปีหนึ่งปีสองได้ไปถ่ายงานบอลประเพณี ถ่ายเน้นสนุกครับไม่ได้จริงจังแต่ฝีมือเริ่มพัฒนาขึ้น กล้องที่ใช้ก็มี Minolta Maxxum7000 กับ Nikon601
สนใจการถ่ายภาพเพราะความสนุกครับ สนุกกับเครื่องมือเหมือนกับของเล่นชิ้นใหม่ที่มีปุ่มปรับนู่นปรับนี่เยอะแยะเริ่มแรกยังใช้ไม่เป็นหรอกครับ กล้องแมนวล เนี่ยมีพี่สาวเป็นคนสอนครับ ตอนนั้นพี่สาวเรียนอยู่ศิลปากรมีเรียนวิชาถ่ายภาพเป็นครูคนแรกครับ
เรียนกับ John Sexton, ผู้ช่วยของ Ansel Adams
ผมมีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโทที่บอสตัน รัฐแมสซาซูเสทท์ ระหว่าที่เรียนโทที่บอสตันยู ผมก็ได้ไปลงคอร์ส Workshop ถ่ายภาพที่ New England School of Photography เป็นคอร์ส Basic Darkroom เรียน เกี่ยวกับล้างฟิล์มอัดรูปในห้องมืดครับ จากนั้นก็ลงอีกหลาย Workshop ครับ Advanced Darkroom, Zone System, Studio Lighting, Large Format, Fashion, Photoshop เรียกได้ว่าเรียนหมดทุกอย่างที่มีให้เรียนครับ ใช้เวลาอัดรูปวันละหลายชั่วโมงอย่างกระดาษกล่องละร้อยแผ่นนี่สองสามวันหมด ขลุกอยู่ที่โรงเรียนถ่ายรูปมากกว่าที่บอสตันยูเสียอีก จนอาจารย์หลายคนในนั้นนึกว่าเราเป็นนักเรียน Full Time เรียน workshop นี่สนุกและไม่มีแรงกดดันครับ ไม่มีเกรดให้ เราได้ฝึกฝีมือเต็มที่ เรารู้ว่าเราได้อะไรจากสิ่งที่เราทำไม่ต้องคำนึงถึงเกรด
ผมชอบภาพของ Ansel Adams มากครับ ภาพของเขาสวยไม่เหมือนของคนอื่น เห็นแล้วเราอยากทำให้ได้แบบนั้นบ้าง นั่นถือเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากเรียนขาวดำเลยครับ หลังจากเรียน workshop ที่ New England School of Photography หมดแล้วจนไม่มีวิชาให้ลง ผมก็ลง Basic Darkroom ซ้ำอีกอาจารย์ที่สอนก็เข้าใจว่าเราต้องการอัดรูป วันหนึ่งผมก็มองว่า อยากจะเรียน Workshop ขั้นสูงไปกว่านั้นอีก เลยเอาโบชัวร์ไปปรึกษาครู Nick Johnson คนที่เป็นครูสอนห้องมือ ครู Nick แนะนำให้ไปเรียนกับ John Sexton ที่ Maine Photographic Workshops ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ครับแค่เจ็ดวันแต่ได้รับความกระจ่างแจ้งทั้งหมด คำถามที่เกิดจากการอ่านหนังสือ The Print ของ Adams ทึ่งงงง ๆ อยู่เป็นเวลาสองปีได้รับคำตอบในคราวเดียว
John Sexton เป็นคนอัธยาศัยดีเอาใจใส่นักเรียนทุกคน หลายคนในคลาสเป็นครูสอนถ่ายภาพ หลายคนเกษียณแล้ว บางคนทำงาน Kodak ที่เหลือเป็นช่างภาพอาชีพมีทั้งหนุ่มทั้งแก่ ส่วนผมเด็กสุดแถมยังเป็นกะเหรี่ยง อีกด้วย Sexton ใช้เวลาแนะนำในการอัดรูปนานนับชั่วโมง ส่วนนักเรียนรุ่นใหญ่จับกลุ่มดื่มเบียร์กับอาจารย์อยู่นอกห้องอัดสิ่งที่ผมภูมิใจ คือภาพที่อัดในคืนนั้น Sexton ได้นำไป Slide show เป็นผลงานของคลาส
ภาพขาวดำที่ดีเป็นอย่างไร
ขอกล่าวในเชิงเทคนิคนะครับ ควรเป็นภาพที่ดูแล้วมีมิติครับ ถึงแม้ว่ากระดาษอัดรูปเป็นแผ่นสองมิติมีแค่กว้างคูณยาว แต่ภาพขาวดำที่อัดออกมาดีมีน้ำหนักมันจะเป็นภาพสามมิติ คือดูแล้วมีความลึกเหมือนกับว่าเราเข้าไปในภาพได้ ถ้ากล่าวในเชิงศิลปะก็คงต้องเป็นภาพที่กลมกล่อมได้อารมณ์ ที่ศิลปินต้องการแสดงออก ภาพขาวดำไม่จำเป็นที่จะต้องมีโทนครบทุกโทน เหมือนกับเปียโนมี 88 คีย์ เพลงที่ไพเราะก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องกดโน้ตให้ครบทุกตัว
ฟิล์มกับงานขาวดำเคยเป็นคู่กันก็จริงครับ แต่เดี๋ยวนี้ Option มีเยอะครับหลากหลาย แล้วแต่รสนิยมและความสะดวกครับ บางคนถ่ายฟิล์ม พริ้นท์อิงค์เจท หรือบางคนถ่ายดิจิตอลโปรเซสใน Photoshop แล้วจบเป็น Silver Print ก็มี
Artphoto School
ความเป็นมาของ Artphoto School เริ่มจากที่ผมได้ไปเรียน Workshop มามาก อย่างวิธีการชิมไวน์ก็เคยคือ ที่เมืองนอกมี Workshop ทุกอย่างที่เราอยากเรียนแล้วหลากหลายด้วย ข้อดีคือคนที่มาเรียนอยากเรียนจริง ๆ มีความสนใจจริง ๆ ทำให้บรรยากาศกาเรียนการสอนดี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน กลับมาเมืองไทย 2540 รู้สึกว่าไม่มี Workshop ที่ไหนเลยที่สอนถ่ายภาพแบบจริงจัง ผมก็อยากถ่ายทอดวิชาในแบบ Workshop ที่ได้ไปเรียนมา คือเรียนสนุกและได้ความรู้ ปี 2543 ก็เลยเปิด Art Photography Center ขึ้นแต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Artphoto School ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปาก เปิดสอนศิลปะการถ่ายภาพโดยเน้นการถ่ายภาพด้วยฟิล์มขาวดำ
คอร์สที่เปิดสอนประกอบด้วย Basic Darkroom ห้องมืดขั้นพื้นฐาน ล้างฟิล์มอัดรูปเองรวมถึงประวัติศาสตร์ ศิลปะภาพถ่ายและเทคนิคการถ่ายภาพขาว ดำ ถัดจากนั้นก็เป็น Advanced Darkroom สอนเกี่ยวกับการอัดขยายขาวดำอย่างละเอียด ฝึกสายตาให้ดูโทนขาวเทาดำให้คุ้นเคยมากขึ้น แล้วก็เป็น Zone System ที่หลาย ๆ คนอยากรู้เกี่ยวกับวิธีการถ่าย การล้างและการอัดขยายที่ Ansel Adams คิดค้นขึ้นมา แล้วอีกคอร์สที่เพิ่งเปิดคือ Digital Black & White ครับ คาดหวังว่าลูกศิษย์คงจะได้ความรู้และแรงบันดาลใจกลับไปบ้าง ในระยะยาวหวังว่ายังคงสนุกกับการถ่ายรูปอยู่และช่วยเผยแพร่ศิลปะการถ่ายภาพขาวดำ ต่อ ๆ ไปครับ
เทคนิคในการถ่ายภาพและอัดภาพ
โทนครบอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ในเบื้องต้นอัดให้ภาพออกมาโทนครบก็ดีเป็นพื้นฐานในการมองภาพที่ละเอียดอ่อนต่อไป ส่วนเทคนิคซึ่งก็ไม่อยากจะบอกว่าเป็นเทคนิคเท่าไหร่ คือการถ่าย การล้าง ต้องทำอย่างปราณีต การเปิดรับแสง การวัดแสงเฉพาะจุด การวัดอุณหภูมิ น้ำยาเคมีต่าง ๆ ต้องให้คงที่เวลาทำงานต้องมีสมาธิ จอจ่อ อย่าหลงขั้นตอน การจดบันทึกก็มีส่วนสำคัญครับ แต่สิ่งที่ Adams เน้นจริง ๆ คือ Previsualization คือมองเห็นภาพ Final ในใจตั้งแต่ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ คือต้องเข้าใจว่ากล้อง เลนส์ ฟิล์ม น้ำยา กระดาษ มีการตอบสนองต่อสภาพแสงอย่างไร เมื่อเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็จะทำให้ภาพที่เห็นล่วงหน้าแม่นยำขึ้น อุปกรณ์การถ่ายภาพที่ใช้ประกอบไปด้วย กล้อง Philips & Son 8 x 10 หนึ่งตัวนาน ๆ ใช้ ที ZONE VI 4 x 5 หนึ่งตัวใช้ค่อนข้างบ่อย Hasselblad 500 c/m ใช้บ่อยเดินทางไปทริปก็มักจะใช้มีเดีย35403ฟอร์แมทครับ แล้วที่ขาดไม่ได้ (เน้นเสียงเข้ม) ก็คือเครื่องวัดแสง PENTEX Spotmeter Zone VI Modified
แนวคิดและมุมมอง
มุมมองในการถ่ายภาพเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ครับ ตอนที่ถ่ายภาพสีก็มองเป็นสี ถ้าถ่ายขาวดำก็มองเป็นน้ำหนักขาวดำ มีความคิดอะไรกระทบบางทีก็ใส่ไปในภาพหรือมีเครื่องมืออะไรใหม่ ๆ ออกมาก็ทำให้ถ่ายภาพที่ไม่เคยถ่ายได้ ทำให้ได้มุมมองใหม่เหมือนกัน วิธีการปรับปรุงและพัฒนางานนั้น การที่ได้สอนได้เผยแพร่ทำให้เราได้เรียนรู้และอัพเดทตัวเองเสมอ ๆ ต้องอ่านเยอะ ติดตามข่าวสารทั้งด้านศิลปะและตัวเทคโนโลยีเอง ซึ่งก็เปลี่ยนเร็วมาก จนหลายครั้งตามไม่ค่อยจะทัน ต้องให้รุ่นน้อง ๆ คอยบรีฟให้อีกที ส่วนตัวผลงานเองคงจะพัฒนาไปตามอายุของช่างภาพเองมั้งครับ
วงการถ่ายภาพในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือก้าวหน้าขึ้นมาก ถ่ายภาพง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ใคร ๆ ก็เป็นช่างภาพได้ แต่ช่างภาพรุ่นใหม่ขาดความอดทนทำงานไม่ค่อยประณีต เปรียบเทียบให้ดูก็คงเหมือนกับการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ที่ทำได้อย่างรวดเร็วแต่สะกดผิดกันหมดซึ่งจริง ๆ แล้วไวยากรณ์หรือพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
อ.กันต์ ฝากถึงช่างภาพรุ่นใหม่ ๆ ว่า “การที่จะถ่ายภาพขาวดำได้ดีนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัดต้องอาศัยความอดทน ช่างสังเกต ฝึกฝน ต้องมีพื้นฐานทีดี วัดแสงต้องแม่น อยากให้รุ่นน้อง ๆ ได้ลองถ่ายฟิล์มสไลด์ดูบ้างเพื่อฝึกความมั่นใจ หรือถ้าใช้กล้อง DSLR ก็ลองหาเทปมาปิดจอ LCD ดู ฝึกถ่ายไม่ดูจอ ซึ่งผมอยากให้ลอกฝึกวิธีที่ยากดูบ้าง เพื่อจะได้เห็นข้อบกพร่องเราได้ชัดเจนขึ้น อีกอย่างหนึ่งอยากให้พวกเราให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำแล้วในอดีตเพื่อที่เราจะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นเข้าใจในยุคสมัยมากขึ้น และที่สำคัญเพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อไปได้ อีกอย่างที่สำคัญคือสมัยนี้เรานึกว่า Photoshop ทำได้ทุกอย่าง สมัยก่อนที่เป็นฟิล์มขาวดำก็มีคนคิดทำนองเดียวกันคือถ่าย ๆ ไป แล้วไปใช้เทคนิคการอัดช่วยทำให้ภาพสวยงาน ยากมากครับถ้าคิดแบบนั้น สมัยนี้เราก็มองว่า Photoshop แก้ไขข้อบกพร่องได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องเน้นในการถ่ายนักซึ่งผิดถนัด เราจะต้องมองว่าแต่ละชั้นตอนสำคัญเท่า ๆ กัน ต้องเน้นให้ประณีตทุกขั้นตอน เพื่อที่จะให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่ Adams เคยทำเมื่อเจ็บสิบปีที่แล้ว
ที่มา: นิตยสาร Oncamera