Sigma นั้นมีชื่อในเรื่องของเลนส์แต่ในขณะเดียวกันก็ผลิตกล้องคอมแพคที่น่าสนใจอย่าง DP1 และ DP2 ออกมาสู่ท้องตลาด (บอดี้เดียวกันแต่ใช้เลนส์คนละตัว) ส่วนกล้อง DSLR นั้นใช้ชื่อตระกูลว่า SD ที่มี SD9 แบบ 3MP ออกมาเป็นตัวแรกในปี 2002 ตามมาด้วย SP10 ในปี 2003 และ SD14 ในปี 2007 ส่วน SD15 นั้นพัฒนามาจาก SD14 โดยมีหัวใจคือเซ็นเซอร์ Foveon X3 เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆพยายามผลิตเซ็นเซอร์ตัวใหม่ออกมาทุก 2-3 ปี แต่เทคโนโลยีใน Foveon ของ Sigma ดำเนินไปช้ากว่า ทำให้ SD15 เป็นเหมือนกล้องที่ได้รับการออกแบบใหม่มากกว่าที่จะเป็นกล้องตัวใหม่ แม้ว่า SD14 จะออกมาสู่ท้องตลาดได้ 3 ปีแล้วก็ตาม
แม้ Foveon X3 จะมีจำนวนพิกเซลดูน้อยเหมือนกว่าระดับมาตรฐานในปัจจุบัน แต่ตัวเลขที่ว่านั้นกำลังทำให้คุณเข้าใจผิด เพราะว่าวิธีการสร้างภาพถ่ายและระดับความคมชัดของมันนั้นสู้กับกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ APS-C ได้สบาย
แต่ถึงมันจะสู้กล้องดิจิตอลตัวอื่นได้ ก็ยังมีคำถามตามมาว่าทำไมเราจึงควรต้องซื้อ SD15? คำตอบข้อแรกก็คือ ความคมชัดระดับสุดขีดของมัน ที่ทำให้ภาพถ่ายของคุณดูแตกต่างจากกล้องทั่วไป แม้ว่ามันจะมีจำนวนพิกเซลต่ำกว่าก็ตาม ข้อสอง ไฟล์ขนาด 4.7MP ของมันกินเนื้อที่น้อยกว่าภาพขนาด 12-14MP มาก ข้อสาม SD15 มีการออกแบบที่เรียบง่ายทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น และถ้าคุณใช้กล้องเป็นอยู่แล้ว การเข้าถึงคำสั่งหลักๆโดยไม่ต้องผ่านเมนูที่สลับซับซ้อนนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
SD15 เป็นการอัพเกรดจาก SD14 ที่ดูธรรมดา แต่คราวนี้ใช้การ์ดแบบ SD/SDHC ได้ มีอายุชัตเตอร์ 100,000 ครั้ง มีจอ LCD คุณภาพดีที่มีความละเอียด 460,000 จุด และเช่นเดียวกับกล้อง Sigma ตัวอื่นๆ มันมาพร้อมกับโปรแกรม Photo Pro ของ Sigma เอง เพื่อแปลงไฟล์ RAW คุณสามารถเปิดและแปลงไฟล์ RAW ได้ด้วย Adobe Camera Raw ก็จริง แต่โปรแกรมของ Sigma นั้นทำงานร่วมกับโหมดสีของกล้องได้เหมาะกว่าและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับภาพที่มี ISO สูงๆ
คุณภาพงานผลิตและการใช้งาน
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความหนักและความบึกบึนของมัน มันดูแข็งแรงทนทานแต่โครงสร้างพลาสติกทำให้มันดูเหมือนกล้องที่ราคาไม่น่าแพง
มีการออกแบบหลายอย่างที่เข้าท่า ไม่ว่าจะเป็นโหมดล็อกแผ่นกระจกเพื่อลดการสั่นของกล้องเวลาถ่ายแบบมาโครหรือใช้เลนส์เทเลโฟโต้ระยะซูมสูงมากๆ และในกระบอกเลนส์ก็มีชิ้นแก้วที่เป็นอุปกรณ์กันฝุ่นไม่ให้เข้าไปในช่องกระจกเลนส์และเซ็นเซอร์
ปุ่มควบคุมอย่างอื่นก็ให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป บางอย่างก็ให้ความรู้สึกที่ดี อย่างเช่น ปุ่มปรับโหมดหลักซึ่งมีเพียงสี่ตำแหน่งสำหรับโหมด Program, Aperture Priority, Shutter Priority และ Manual ไม่มีโหมด Auto สำหรับมือใหม่ โหมด Scene หรือโหมดถ่ายวิดีโอแต่อย่างใด
ด้านบนซ้ายของกระโหลกกล้องมีแป้นหมุนอีกอันหนึ่งสำหรับปรับตั้งโหมดไดร์ฟ ซึ่งยังคงมีการออกแบบมาอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา
ด้านบนของกริปด้ามจับด้านขวานั้นเป็นปุ่มหมุนควบคุมที่มีเพียงอันเดียว ทำให้เวลาถ่ายด้วยโหมด Manual คุณต้องกดปุ่มปรับค่าชดเชยแสงไปด้วยในขณะที่กดเลือกระหว่างความเร็วชัตเตอร์กับขนาดรูรับแสง กล้อง SLR ส่วนใหญ่ในราคาขนาดนี้มักจะมีปุ่มหมุนสองอัน อีกทั้งปุ่มหมุนนี้ค่อนข้างหนักและมันน่าจะใช้งานได้ถนัดมือกว่าถ้าหากอยู่ด้านหน้าของกริปด้ามจับทางด้านหน้าของกล้อง
ปุ่มควบคุมและคุณสมบัติอื่นๆ
แผงหลังของกล้องนั้นมีปุ่มอยู่กลุ่มหนึ่งที่ด้านบนขวาสำหรับปรับค่า ISO การวัดแสง และจุดโฟกัส แต่คุณอาจกดพลาดไปถูกได้ง่ายมากถ้าวางนิ้วโป้งไว้บริเวณนั้น นอกจากนั้นฟังก์ชั่นของบางปุ่มก็ไม่ชัดเจน มีเครื่องหมายดอกจันสีแดงที่ปุ่มใกล้จอ LCD ซึ่งมีไว้สำหรับทำเครื่องหมายเวลาเลือกชมภาพ สำหรับปรับหมุนภาพหรือล็อกภาพ หากเอาไปรวมไว้ในเมนูน่าจะง่ายกว่า นอกจากนั้นยังมีปุ่ม Cancel ข้างใต้ปุ่มปรับสี่ทิศทางด้านขวามือซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเป็นพิเศษเพราะการกดปุ่ม Menu ก็เป็นการออกจากหน้าเมนูได้เช่นกัน
มีมากกว่าหนึ่งวิธีในการปรับเปลี่ยนค่าในการถ่าย เช่น ปุ่ม Quick Set (QS) นั้นมีไว้สำหรับเปลี่ยนสไตล์ภาพ (ซึ่งมีให้เลือกอย่าง Standard, Vivid, Neutral, Portrait, Landscape) เลือกชนิดไฟล์ (RAW หรือ JPEG) ปรับค่าไวท์บาลานซ์ และคุณภาพของรูป (ถ้าเป็นโหมด JPEG) และก็ยังมีปุ่ม Func สำหรับเลือกโหมดแฟลชและโหมด AF และปุ่มนี้ยังมีไว้สั่งเปิดเส้นหน้าจอเพื่อแสดงจุดออโต้โฟกัสที่กำลังทำงาน นอกจากนั้นยังมีไว้ตั้งค่าในการถ่ายต่างๆเช่น โหมดการรับแสง ค่า ISO ความเร็วชัตเตอร์ และขนาดรูรับแสง แต่มันไม่ได้อยู่บนหน้าเมนูแสดงข้อมูลในการถ่ายแต่เป็นหน้าจอต่างหากซึ่งจะแสดงค่าในการถ่ายเมื่อกดปุ่ม ‘i’ ที่อยู่ข้างจอ LCD บอกตรงๆว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงไม่ใช่น้อย
ไม่มีคุณสมบัติพิเศษใดของ SD15 ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึง มันไม่มีโหมดถ่ายวิดีโอ ไม่มีโหมด Live View หรือ Scene ความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่ 3fps จัดว่าไม่ใช่อะไรโดดเด่นสำหรับกล้องราคาขนาดนี้ แต่มันก็ถ่ายเป็นไฟล์ RAW ได้ต่อเนื่องถึง 21 ภาพต่อครั้ง
อายุแบตเตอรี่ที่ 500 ภาพก็นับว่าเป็นอะไรที่ธรรมดา เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์รับแสงอัตโนมัติที่แบ่งเป็น 77-ส่วนและจะโยงส่วนที่รับแสงเข้ากับจุดโฟกัสที่ใกล้ที่สุดที่คุณเลือก ส่วนโหมดวัดแสงนั้นมีถึง 4 แบบ รวมถึงโหมด ‘Centre Area’ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับโหมด ‘เฉพาะจุด’ เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าและก็คล้ายกับโหมด ’Partial’ ในกล้อง Canon บางรุ่น
อายุแบตเตอรี่ที่ 500 ภาพก็นับว่าเป็นอะไรที่ธรรมดา เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์รับแสงอัตโนมัติที่แบ่งเป็น 77-ส่วนและจะโยงส่วนที่รับแสงเข้ากับจุดโฟกัสที่ใกล้ที่สุดที่คุณเลือก ส่วนโหมดวัดแสงนั้นมีถึง 4 แบบ รวมถึงโหมด ‘Centre Area’ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับโหมด ‘เฉพาะจุด’ เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าและก็คล้ายกับโหมด ’Partial’ ในกล้อง Canon บางรุ่น
คุณภาพของรูปถ่าย
ความสามารถในการวัดแสงที่สลับซับซ้อนของ SD15 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องหรือไม่? คำตอบคือ ไม่เสมอไป โหมดวัดแสงแบบ multi-pattern ของกล้องให้ผลลัพธ์ที่ยากต่อการคาดเดา โดยเฉพาะเมื่อตัวแบบมีคอนทราสต์สูง การปรับมุมมองแม้เพียงเล็กน้อยก็จะสามารถสร้างความแตกต่างในการรับแสงได้เพราะจุดโฟกัสเปลี่ยน ดังนั้นการวัดแสงก็จะเปลี่ยนตามตัวแบบไปด้วย
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว SD15 จัดว่าเป็นกล้องที่น่าประทับใจมาก ถ้าคุณยังไม่เคยเห็นว่าเซ็นเซอร์ Foveon นั้นทำอะไรได้บ้าง คุณจะต้องทึ่งกับความชัดเจนในรายละเอียดที่มันถ่ายทอดออกมา ทุกเม็ดพิกเซลนั้นคมกริบ เลนส์ 17-70มม ของ Sigma ที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้เป็นเลนส์ที่ดี มีระดับการบิดเบือนของภาพต่ำมีสีเพี้ยนเพียงเล็กน้อยและคมชัดทั่วทั้งภาพ
กล้องตัวนี้ไม่สามารถถ่าย RAW และ JPEG พร้อมกันได้ ดังนั้นผู้ใช้ส่วนใหญ่คงจะเลือกถ่ายเป็น RAW มากกว่า ส่วนโปรแกรม Photo Pro สำหรับแปลงไฟล์ที่ Sigma ให้มาด้วยนั้นให้สีที่สดใส อิ่ม มีคอนทราสต์ดี
จนบางครั้งดูเหมือนอิ่มเกินไปถ้าใช้การปรับค่าแบบอัตโนมัติอย่างที่โปรแกรมกำหนดให้ คุณสามารถปรับค่ารับแสง สีสัน ค่าไวท์บาลานซ์ และค่าในการถ่ายอื่นๆได้ หรือจะใช้ค่าในการถ่ายเดิมก็ได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะมีความสม่ำเสมอมากกว่าแต่ก็ต้องเสียเวลามากขึ้น
ที่ ISO ต่ำ แทบไม่มีสัญญาณรบกวนให้เห็น แต่ทันทีที่ปรับ ISO เพิ่ม สัญญาณรบกวนก็ตามมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ SD15 ด้อยกว่ากล้อง DSLR ตัวอื่น แต่กระนั้นเวลาที่แปลงไฟล์ด้วย Photo Pro ของ Sigma จากภาพที่ใช้ ISO 1600 ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ได้เลวร้ายแต่อย่างใด คุณอาจจะเลือกใช้ ISO ที่ต้องการได้ แต่ก็ต้องยอมแลกกับการมีสัญญาณรบกวนเพิ่มหรือไม่ก็ภาพที่นุ่มลง
บทสรุปของเรา
บางคนมองว่าเซ็นเซอร์ Foveon เป็นจุดอ่อนของ SD15 แต่ไม่จริงเลย มันให้ไฟล์ขนาดเล็กก็จริงแต่ความชัดเจนและรายละเอียดที่ออกมานั้นน่าทึ่งมาก ทำให้มันสู้กับกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ได้สบาย
คุณสมบัติบางอย่างที่ขาดหายไปก็ไม่ได้เป็นปัญหาเท่าใด การใช้กล้อง DSLR ที่เลือกจะมีเฉพาะฟังก์ชั่นพื้นฐานสำคัญๆนั้นเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจสำหรับตากล้องที่ผ่านการทำงานมายาวนานซึ่งเลือกที่จะถ่ายภาพด้วยวิธีคิดอย่างมีระบบมากกว่าเลือกที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีอันสลับซับซ้อน
ข้อด้อยของ SD15 เห็นจะได้แก่สิ่งพื้นๆอย่างการออกแบบและการใช้งาน มันใหญ่และแข็งแรงก็จริงแต่ก็ให้ความรู้สึกที่หยาบ และปุ่มปรับทั้งหลายก็แออัดและน่าสับสน มันเป็นกล้องที่ควรจะใช้งานง่ายแต่กลับทำให้ยากเกินจำเป็น
เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะนานๆจะได้เห็นผู้ผลิตกล้องที่มองการถ่ายรูปอย่างสร้างสรรค์ และคุณภาพอันยอดเยี่ยมของเซ็นเซอร์ Foveon X3 เอง เราได้แต่จินตนาการว่ามันจะทำอะไรได้บ้างหากรุ่นต่อไปจะมีความละเอียดมากกว่านี้
คำตัดสินจากการทดสอบ
Sigma SD15, Canon EOS 50D และ Nikon D90 ทั้งสามตัวถูกทดสอบในห้องทดสอบของเราเพื่อทดสอบปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาพถ่าย ผลลัพธ์ที่ได้แม้จะใกล้เคียงกันแต่ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ Foveon ของ Sigma ได้ดี
ระบบการรับแสงของ SD15 นั้นเกือบไม่มีข้อผิดพลาด แม้ความแม่นยำในการถ่ายทอดสีสันจะขาดความสดใสอย่าง Canon หรือ Nikon แต่มันก็ให้ภาพถ่ายที่มีสีสันเป็นธรรมชาติ มีไดนามิคเรนจ์ที่ดีและสัญญาณรบกวนน้อยเมื่อใช้ ISO ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพที่ ISO ต่ำแล้ว คุณภาพของรูปถ่ายที่ได้จาก Sigma นั้นเหนือกว่าอีกสองยี่ห้อ แต่ถ้าคุณใช้ ISO สูงเป็นประจำ ก็ให้เลือก Canon หรือ Nikon
คุณสมบัติ ***
การใช้งาน ***
คุณภาพรูปถ่าย ****
ความคุ้มค่า **
คะแนนรวม ***
สิ่งที่ดีที่สุดของ SD15 คือเซ็นเซอร์ของมัน การเลือกวิธีออกแบบที่เรียบง่ายก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วความรู้สึกที่ได้จากการใช้งานกล้องที่ชวนให้สับสนและราคากล้องที่สูงกลายเป็นข้อเสียของมันไป
ข้อมูลทางเทคนิคเซ็นเซอร์ Foveon
เซ็นเซอร์ทั่วไปนั้นมีพิกเซลสีแดง เขียว เหลืองเพียงชั้นเดียว จากนั้นกล้องจะแปลงสัญญาณออกมาเป็นภาพโดยอาศัยข้อมูลจากเม็ดสีใกล้เคียงมาประกอบ แต่เซ็นเซอร์ Foveon นั้นต่างกัน มันเก็บข้อมูลสีแดง เขียว เหลืองเช่นกัน แต่ใช้แผงซิลิคอนสามชั้นสำหรับสามสีของแต่ละพิกเซล
ซิลิคอนนั้นตอบสนองกับความถี่แสง (หรือสีนั่นเอง) ในแต่ละย่านไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ออกแบบ Foveon จึงได้คิดค้นวิธีแยกและจัดเก็บข้อมูลแต่ละสีซึ่งประกอบกันเข้าเป็นภาพดิจิตัล ดังนั้นเม็ดพิกเซลของทั้งสามสีจะซ้อนกันเป็นสามชั้นแทนที่จะอยู่ติดกันบนเซ็นเซอร์ชั้นเดียวเหมือนเซ็นเซอร์ทั่วไป อย่างที่ Sigma กล่าวว่า ถึง SD15 จะมี 4.7 ล้านพิกเซลแต่ว่าแต่ละพิกเซลจะแยกเป็นสามชั้นสี จึงเหมือนกับว่าแล้วมันมี 14.1 ล้านพิกเซล ซึ่งจะว่าไปแล้ววิธีการนับเม็ดสีรวมทั้งสามสีก็เป็นวิธีเดียวกับที่ผู้ผลิตเจ้าอื่นใช้ในการระบุจำนวนเม็ดพิกเซลนั่นเอง
บทความรีวิวจาก http://www.dcmthailand.com