เทคนิคการถ่ายภาพแบบ ซิลลูเอท (Silhouette) :
เทคนิคการถ่ายภาพแบบเงาดำหรือ ซิลลูเอท (Silhouette) เป็นภาพประเภทที่มีบรรยากาศเฉพาะตัวและให้ความรู้สึกทางด้านจินตนาการสูง เพราะตัวแบบจะปรากฏเป็นเพียงรูปทรงเงาสีดำที่ชวนให้คาดเดาไปได้ต่างๆ นานาในขณะที่ความสวยงามของแสงสีที่ปรากฏอยู่เป็นฉากหลังจะทำให้เกิดความเปรียบต่างสูงกับตัวแบบ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวแบบดูโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก และภาพแบบซิลลูเอทนี้ เป็นการถ่ายภาพอีกประเภทหนึ่ง ที่คนใช้ กล้อง Digital SLR ไม่ควรพลาดสำหรับการบันทึกภาพ...
เทคนิคการถ่ายภาพ แบบเงาดำ มีหลักและวิธีคิดคือ การบันทึกแสงโดยให้ฉากหลังมีปริมาณแสงที่สว่างพอดี แต่ให้ตัวแบบมีแสงน้อยที่สุดเพื่อให้กลายเป็นรูปทรงเงาดำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการถ่ายภาพแบบย้อนแสงนั่นเอง โดยใช้ประโยชน์จากการที่สภาพแสงมีความเปรียบต่างสูงระหว่างตัวแบบและฉากหลัง ซึ่งจะต้องควบคุมทั้งสปีดชัตเตอร์และรูรับแสง หรือเรียกตามศัพท์ถ่ายภาพว่าให้แสงฉากหลังพอดีแต่ตัวแบบอันเดอร์ ความสวยงามของภาพประเภทนี้จะอยู่ที่รูปทรงของตัวแบบ การจัดองค์ประกอบภาพ และลักษณะของแสงฉากหลังที่สวยงามเราจะพบเห็นภาพแบบเงาดำ ที่ถ่ายภาพในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือตกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวแบบก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสมอไป สัตว์ ต้นไม้ อาคาร ก้อนหิน ฯลฯ ก็สามารถใช้เป็นตัวแบบได้ ที่สำคัญคือต้องมีรูปทรงและลักษณะที่น่าสนใจ
กล้อง Digital SLR ทุกตัวสามารถใช้ถ่ายภาพชนิดนี้ได้โดยพื้นฐานอยู่แล้ว จุดสำคัญคือการปรับตั้งค่าการเปิดรับแสงที่ถูกต้องโดยการเลือกใช้โหมดในการบันทึกภาพที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าการใช้โหมดอื่นๆ จะสามารถบันทึกภาพเงาดำได้เช่นกัน แต่โหมดที่เหมาะสมมากที่สุดก็คือโหมด M หรือ โหมดแมนนวลนั่นเองเลนส์ทุกระยะสามารถใช้ในการบันทึกภาพแบบนี้ได้หมด ขึ้นอยู่กับลักษณะมุมภาพที่เราต้องการถ่าย เลนส์ช่วงเทเลจะเน้นไปที่ตัวแบบโดยตรง และหากเป็นการถ่ายภาพที่มีดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในภาพ ก็จะได้ขนาดที่ใหญ่ ในขณะที่เลนส์ช่วงมุมกว้างจะทำให้ภาพดูแปลกตาและเก็บบรรยากาศมาได้โดยรอบแต่ดวงอาทิตย์จะมีขนาดเล็กเนื่องจากระยะของเลนส์นั่นเองขาตั้งและสายลั่นชัตเตอร์ดูจะมีความสำคัญน้อยลงไป แต่สามารถนำมาใช้ร่วมได้เช่นกัน ซึ่งก็จะช่วยให้ภาพของคุณลดอาการสั่นไหวได้ แต่จะขาดความคล่องตัวในการเปลี่ยนตำแหน่งกล้องไป-มา ในการนี้ หากกล้องของคุณมีระบบป้องกันภาพสั่นไหว มันก็จะช่วยคุณได้มาก เพราะเราอาจต้องใช้มือเปล่าถือกล้องในขณะที่ใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำด้วย
- สปีดชัตเตอร์สปีดชัตเตอร์จะขึ้นอยู่กับปริมาณแสงในขณะนั้น แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือสปีดชัตเตอร์จะต่ำเกินไปจนถือกล้องด้วยมือเปล่าไม่ได้ (ซึ่งก็อาจจะต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย) หรือตัวแบบของคุณมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ และต้องการให้ตัวแบบหยุดนิ่งหรือไม่?
- รูรับแสงเป็นเรื่องของการควบคุมระยะชัด (Depth of Field) ยิ่งรูรับแสงแคบ (ตัวเลขค่า F มาก) ระยะชัดก็จะยิ่งครอบคลุมเป็นระยะที่กว้างมากขึ้น (ชัดลึก) แต่ถ้ารูรับแสงกว้าง (ตัวเลขค่า F น้อย) ก็จะมีระยะความคมชัดที่สั้นลง (ชัดตื้น) ดังนั้นต้องคำนึงถึงลักษณะของเราว่าต้องการระยะชัดครอบคลุมขนาดไหน? แล้วปรับค่ารูรับแสงเพื่อควบคุมปัจจัยเหล่านี้
- ค่า ISO ค่าความไวแสงก็ไม่มีกำหนดตายตัว คุณอาจจะเลือกใช้ค่าความไวแสงมากขึ้นหากแสงมีปริมาณน้อยลง หรือใช้ค่าความไวแสงต่ำหากมีปริมาณแสงมาก หรือต้องการใช้เพื่อเหตุผลทางด้านของการปรับตั้งค่าสปีดชัตเตอร์และรูรับแสง สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ยิ่ง ISO ต่ำ ภาพก็ยิ่งมีคุณภาพดี ในทางตรงกันข้าม ยิ่ง ISO สูง คุณภาพของภาพก็จะลดลงเรื่อย ๆ
ตามหลักการที่เราต้องเปิดรับแสงฉากหลังให้พอดี ดังนั้นเราต้องวัดปริมาณแสงที่ฉากหลัง แต่ในเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดก็คือเรื่องคุณภาพของแสงทั้งในด้านของช่วงเวลาและปริมาณ เช่น หากเป็นแสงธรรมชาติก็จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือหนึ่งชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ตกและหลังดวงอาทิตย์ขึ้นหรือที่เรียกว่าช่วงทไวไล้ท์ (Twilight) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวแสงจะมีสีสันมากที่สุด ช่วยให้ภาพเพิ่มความน่าดูมากยิ่งขึ้นปรับกล้องไปที่โหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) แล้วใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดหรือแบบเฉลี่ยหนักกลาง จากนั้นวัดแสงไปที่ท้องฟ้าข้างๆ ดวงอาทิตย์ (ห้ามวัดแสงที่ดวงอาทิตย์เพราะอาจเกิดอันตรายต่อทั้งกล้องและสายตาได้ และอย่าลืมว่าต้องเป็นช่วงที่แสงไม่แรงมากนัก) แล้วปรับค่าสปีดชัตเตอร์และรูรับแสงให้ได้ค่าการเปิดรับแสงที่พอดี (อยู่ที่ระดับ 0 ของสเกลเครื่องวัดแสง) โดยยึดหลักการณ์ของเรื่องสปีดชัตเตอร์และรูรับแสงประกอบการพิจารณา (เช่นเรื่องของชัดลึกและชัดตื้น) เช่นค่าที่เหมาะสมตามสเกลวัดแสงอาจจะเป็น 1/125 f/5.6 แต่เราต้องการระยะชัดที่มากกว่า ก็อาจจะหรี่รูรับแสงลงมาเป็น f/8 และลดสปีดลงมาเหลือ 1/80 เป็นต้นส่วนในกรณีที่คุณใช้โหมด A (Aperture Priority) ก็ให้วัดแสงแบบเดียวกัน จากนั้นก็ล็อคค่าความจำแสงเอาไว้ แล้วปรับโฟกัสใหม่ แต่เราจะเห็นได้ว่าการใช้โหมด M จะสะดวกมากกว่า เพราะค่าการปรับตั้งจะอยู่คงที่ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเมื่อเราจัดองค์ประกอบภาพโดยการเปลี่ยนตำแหน่งกล้องหรือปรับโฟกัสใหม่หลังจากที่วัดแสงจนได้ค่าที่เหมาะสมแล้ว ก็ปรับเปลี่ยนมุมกล้องใหม่เพื่อจัดองค์ประกอบภาพและปรับโฟกัส เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็กดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพ ตรวจสอบภาพว่าได้ผลออกมาเป็นเช่นไร? หากภาพดูสว่างเกินไป ก็อาจจะลดค่าความไวแสงลง (ISO) หรือหรี่รูรับแสงให้แคบลงหรือเพิ่มสปีดชัตเตอร์ให้เร็วมากขึ้น (เพื่อให้แสงมีปริมาณน้อยลง) แต่ถ้าภาพดูมืดเกินไป ก็อาจจะขยายรูรับแสงหรือลดสปีดชัตเตอร์ให้ช้าลง (หรือเพิ่มค่าความไวแสงให้มากขึ้น)
• คุณสามารถทำให้แสงสีในภาพผิดไปจากความเป็นจริงเพื่อผลพิเศษและอารมณ์ของภาพได้ โดยการปรับค่า White Balance ให้ผิดไปจากปกติ หากต้องการให้ภาพออกสีโทนอุ่นหนักไปทางเหลือง-แดง ก็ให้ปรับค่า WB ไปที่ Flash หรือเลือกใช้อุณหภูมิแสงสูงๆ ส่วนการใช้ WB แบบ Daylight หรือปรับใช้อุณหภูมิแสงต่ำๆ ก็จะได้สีออกมาในโทนเย็นหรือน้ำเงิน-เขียว
• ปรับค่า Saturation เพื่อเร่งสีสันให้กับภาพได้อีกหากคุณต้องการสีสันจัดจ้าน โดยเลือกปรับจากในกล้องได้เลย (ดูวิธีปรับตั้งได้จากคู่มือของกล้อง)
• ภาพเงาดำที่ดี ต้องมีตัวแบบที่มีรูปทรงน่าสนใจและคมชัด ดังนั้นมองหาตัวแบบที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้เสียก่อนที่จะทำการถ่ายภาพ
• ตัวแบบอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเงาดำสนิทเสมอไป ในบางครั้งการเกิดแสงตามขอบของรูปทรงหรือ "ริมไลท์" (Rim Light) ก็จะยิ่งทำให้ภาพดูน่าสนใจและมีความสวยงามมากขึ้นไปอีก แต่คุณจำเป็นต้องมีทักษะการควบคุมแสงและการดูมุมของแสงที่ดีด้วย
• ถึงแม้ตะวันจะลับหายไปจากขอบฟ้าแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถถ่ายภาพแบบนี้ได้อีกแล้ว ในทางตรงกันข้าม บางวันที่ปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม มันอาจจะมีความสวยงามมากกว่าช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกเสียอีก ดังนั้นให้คุณดูจนแน่ใจว่าแสงหมดแล้วจริงๆ
• การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ย้อนแสงในขณะที่แสงยังมีความแรงอยู่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงหากคุณไม่แน่ใจ ควรรอให้แสงอ่อนกำลังลงแล้วจะดีกว่า
• ภาพเงาดำจากมุมต่ำโดยใช้เลนส์มุมกว้างจะสร้างความตื่นตาตื่นใจในเรื่องของมุมมองให้กับภาพแบบนี้เป็นพิเศษ ดังนั้นกล้องชนิดที่มีระบบ Live View และมีจอแบบพับมองจากด้านบนได้จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับคุณ
• หลีกเลี่ยงฉากหลังที่รกรุงรัง ซึ่งมันจะทำลายความเด่นของตัวแบบของคุณ ฉากหลังที่โล่งและเต็มไปด้วยแสงสีจะช่วยให้ภาพดูน่าประทับใจได้มากกว่าภาพเงาดำที่ดูวุ่นวาย
• หากตัวแบบของคุณคือคน ให้รอจังหวะที่มีการขยับแขนในอิริยาบทต่างๆ ยิ่งหากคุณสามารถควบคุมได้เองแล้ว ภาพของคุณจะดูมีชีวิตชีวาและบอกเล่าเรื่องราวได้มากขึ้น
เทคนิคการถ่ายภาพ เงาดำหรือ ซิลลูเอท (Silhouette) คืออีกเสน่ห์หนึ่งของ DSLR โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการท่องเที่ยวไปในสถานที่ ที่มีทรรศนียภาพสวยงาม มีมุมที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งผู้คนส่วนมากมักจะประทับใจกับภาพประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนสำคัญของคุณ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรพลาดที่จะศึกษาและฝึกฝนวิธีการถ่ายภาพในแนวนี้เอาไว้บ้าง เพราะเมื่อถึงเวลา ก็สามารถที่จะดึงเอาเทคนิคนี้มาใช้ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งก็จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ดูภาพของคุณได้ไม่ยากเลยครับ