ss

11 กุมภาพันธ์ 2555

ความหมายของคำว่ากล้องฟูลเฟรม

เป็นคำถามที่แม้แต่บางครั้งคนที่เล่นกล้องมานานแล้ว ยังอาจจะตอบได้ไม่ครบถ้วนดีพอ โดยมากจะตอบว่าก็เพราะ CCD ใหญ่กว่าก็เลยดีกว่า ไม่ผิด... แต่ฟังแล้วคนที่ไม่รู้เรื่องการถ่ายภาพมากนักก็ยังไม่หายสงสัย นอกจากจำไปบอกต่อว่า  "ฟูลเฟรม CCD ใหญ่กว่าเลยดีกว่า" กลายเป็นเรื่องจำมาเล่าปากต่อปากไป

ปัจจุบันเป็นสงครามของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องพิกเซล แข่งกันขายพิกเซลให้ผู้บริโภค จนคนสับสนงุนงง "พี่ๆ กล้องคอมแพคผมได้ตั้ง 14 ล้าน เยอะกว่า nikon D700 ฟูลเฟรมอีก"  แม้แต่มือถือก็เอาพิกเซลมาหลอกล่อกันจนสนุกสนาน ใครจะรู้ว่า ขนาดเซ็นเซอร์คืออะไร ใหญ่กว่าดีอย่างไร?

สมมุติให้กล้องสามชนิดมีจำนวนพิเซลเท่ากันที่ 12 ล้านพิกเซล



1.กล้องคอมแพค (1/1.8")
2.กล้อง SLR เซ็นเซอร์ตัวคูณ (APS-C 16X24mm,)
3.กล้อง SLR เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม (มาตราฐานมาจากขนาดของฟิล์ม135 24X36mm.)

เมื่อเทียบด้วยจำนวนพิกเซลที่เท่ากัน แต่ขนาดเซ็นเซอร์ที่ต่างกัน นั่นหมายความว่าขนาดพิกเซลย่อมต้องต่างกันนั่นเอง ในกล้องคอมแพคที่เซ็นเซอร์มีขนาดเล็กมากๆ จะมีขนาดเม็ดพิกเซลที่เล็กเพื่ออัดลงไปในพื้นที่ ที่จำกัดให้ได้ การที่มีพิกเซลขนาดเล็ก หมายความว่าพื้นที่ในการรับแสงมีน้อย ประสิทธิภาพในการรับแสงที่น้อย การที่จะเพิ่มจำนวนพิกเซลเข้าไปมากๆใน CCD ที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่การออกแบบที่ดีที่สุด เนื่องจากจะต้องบีบอัดสูง และเมื่อแปลงสัญญาณแล้ว จะต้องขยายสัญญาณมาก สิ่งที่ตามมาคือสัญญาณรบกวน noise ที่มากมาย แม้แต่ในกล้องคอมแพครุ่นที่แพงที่สุด ก็ยังมีคุณภาพเทียบไม่ได้กับกล้องเซ็นเซอร์ตัวคูณระดับราคาถูกเลย เริ่มมองเห็นหรือยังครับว่า จำนวนพิกเซลที่มากในขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็กเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไร

ในกล้องเปลี่ยนเลนส์แบบใช้เซ็นเซอร์ตัวคูณ จะมีขนาดเซ็นเซอร์เล็กกว่ากล้องฟูลเฟรมอยู่ 2-2.5 เท่า เป็นที่นิยมในปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากราคาที่ไม่สูง เลนส์ที่มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่มุมกว้าง มากๆ อย่างช่วง 10mm. ที่คูณแล้วยังมีมุมรับภาพกว้างเทียบเท่าช่วง 15mm. (ในกล้อง nikon) และ16mm.(ในกล้อง canon) ด้วยเลนส์ที่ออกแบบเฉพาะ ในราคาที่ถูก ถ้าเป็นเลนส์ wide ช่วงนี้ในกล้องฟูลเฟรมคุณอาจต้องเสียเงินหลายๆหมื่นเพื่อให้ได้ความกว้างเช่นนี้มา  ในช่วง tele กล้องตัวคูณก็ให้คุณได้มากกว่าที่ต้องการ มาลองดูตัวอย่างเลนส์ 70-300 มีระบบกันสั่น เท่ากับว่าเลนส์จะมีมุมมองเทียบเท่ากับ 112mm.X480mm. (X1.6) เป็น super tele ไปเลยทีเดียว

ด้วยคุณสมบัติเรื่องราคาและเลนส์ ทำให้กล้องตัวคูณได้รับการยอมรับในตลาดกล้องมาก เท่านี้น่าจะพอใจได้แล้ว ทำไมต้องฟูลเฟรม? ผมหลอกให้คุณชื่นชมในความสามารถของกล้องตัวคูณจนลืมเรื่องที่ว่า เซ็นเซอร์ก็ยังมีขนาดที่เล็กกว่ากล้องแบบฟูลเฟรมอยู่ 2-2.5 เท่าไง การที่เราคิดว่าได้เลนส์เทเลเพิ่มมาฟรีๆอาจจะถูก อาจจะผิด มาลองฟังเหตุผลดูซักนิดนึง ตัวอย่างเราเลือกเลนส์มาตัวหนึ่งเป็นเลนส์ normal 50mm. เมื่อนำมาใช้กับกล้องตัวคุณ จะเหมือนกับว่าคุณได้เลนส์ 80 mm.ซึ่งเหมาะแก่การถ่าย portrait มากมาฟรีๆ ที่จริง perspective distortion ที่มีในเลนส์ 50mm. ยังคงมีลักษณะของเลนส์ 50 เหมือนเดิมที่เมื่อถ่ายภาพบุคคลครึ่งตัวหรือ head shots แล้วอาจจะดูบวมเล็กน้อย เพียงแต่เราเสียพื้นที่ด้านข้างของเฟรมไปจากการครอป ด้วยขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่า

ไม่ต่างจากการใช้เลนส์ 50mm.ในกล้องฟูลเฟรมถ่ายแล้วนำภาพมาครอปภายหลังให้มีขนาดสมมุติเหมือนได้จากเลนส์ ช่วง 80mm. ถ้าคุณเคยนำภาพมา crop ภายหลังคงจะพอจินตนาการตามออก นั่นแหละตัวคูณ แปลว่าพื้นที่หายไป หรือจะลองช่วงเทเลก็เช่นกัน เมื่อใช้กล้องฟูลเฟรมกับเลนส์ 300mm.ราคาประหยัด แล้วนำภาพที่ถ่ายได้มาครอปออกทั้ง 4 มุม จะเท่ากับ 480mm. ของกล้องตัวคูณ พูดให้ถูกใจก็คือได้เลนส์เทเลมาฟรีเหมือนกัน แต่ได้มาทีหลังการถ่าย ในคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันเท่าไร ช่างเป็นการมองโลกในแง่บวกจริงๆ "เหมือนได้เลนส์เทเลมาฟรีๆ"


...แน่นอนสัญญาณรบกวนต่างๆก็เป็นของฟรีที่ได้มากจากการที่ต้องขยายสัญญาณที่มากกว่ากล้องฟูลเฟรมเช่นกัน ขนาดของเม็ดพิกเซล 12 ล้านเท่ากันแต่เม็ดพิกเซลมีขนาดเล็กกว่าเพื่อบีบอัดลงไปในพื้นที่ๆเล็กกว่า ความสามารถในการรับแสงจึงเทียบเท่าฟูลเฟรมที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ได้ เมื่อแปลงสัญญาณต้องมีการเร่งขยายสัญญาณมาก เมื่อขยายมากความคมชัดต่อเม็ดพิกเซลที่เล็ก ก็จะลดลงไปตามการขยาย ขนาดพิกเซลที่เล็กยังมีความสามารถในการรับแสงที่น้อยกว่าและจากความหนาแน่นที่มากกว่า เมื่อรับแสงในปริมาณมาก ทำให้แสงที่ตกกระทบมีโอกาศกระจายสะท้อนไปในพื้นที่ข้างๆได้ เราจึงเคยเห็นภาพที่วุ้นๆ นมๆ ฟุ้งๆ ไม่คมชัดจากกล้องตัวคูณอยู่บ่อยๆ และยิ่งเกิดมากในกล้องคอมแพค แสงฟุ้งชนิดนี้เรียกว่า "Blooming"

เซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรมนั้นมาจากมาตราฐานขนาดของฟิล์ม 135 คนยุคฟิล์มอย่างผมคงรู้จักกันทุกคน "พี่ๆ นี่มันยุคดิจิตอลแล้ว 55" มาตราฐานฟิล์มนั้นได้รับการพัฒนาคุณภาพมานานมากจนถึงจุดสูงสุดในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันคนส่วนมากแทบจะทั้งหมดก็ยังไม่ทราบว่ากล้องดิจิตอลยังคงใช้ฟิล์มเป็นมาตราฐานวัดคุณภาพอยู่ ถ้าไม่ทราบตรงนี้ต่างหากถึงเชย ตกยุค หลังเขา 55 ว่าไป เนื่องจากฟิล์มมีคุณภาพสูงที่สุด ให้รายละเอียดที่สูง ไม่มีสัญญาณรบกวน เนื่องจากไม่มีเม็ดพิกเซล กล้องฟิล์มขนาดใหญ่ก็ยังมีคุณภาพที่สูงกว่ากล้องมีเดียมดิจิตอลขนาด 39 ล้านพิกเซลอย่างไร้ข้อกังขา ผู้ผลิตกล้องดิจิตอลล้วนรู้ซึ้งในคุณภาพของฟิล์มและพยายามสร้างกล้องดิจิตอลให้มีคุณภาพใกล้เคียงฟิล์มที่สุดเสมอมา ถึงวันนี้เราน่าจะดีใจที่มีกล้องดิจิตอลคุณภาพสูงให้ใช้กันชนิดที่ว่าไม่อายฟิล์ม

เซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรมมีขนาดเท่ากับฟิล์ม 135 คือ 24X36mm. เมื่อเทียบจำนวนพิกเซลที่เท่ากันในจำนวน 12 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรมจะมีขนาดพิกเซลที่ใหญ่กว่ากล้องคอมแพคและกล้องตัวคูณ ขนาดใครว่าไม่สำคัญ? ด้วยขนาดพิกเซลที่ใหญ่นี่เอง ทำให้ประสิทธิภาพในการรับแสง การเก็บรายละเอียด การบีบอัดน้อย อัตราขยายได้มากกว่า จึงทำให้มีความคมชัดต่อพิกเซลสูง สัญญาณรบกวนต่ำเพราะไม่ต้องใช้การเร่งขยายสัญญาณช่วย แม้ว่าจะเพิ่มเป็น 21 ล้านพิกเซลในกล้องฟูลเฟรม ขนาดของพิกเซลก็ยังคงใหญ่กว่าพิกเซลในกล้องตัวคูณอยู่ดี และให้รายละเอียดที่สูงกว่า แต่ต้องอาศัยการประมวลผลของกล้องที่ทรงพลังมากขึ้นเพื่อรองรับพิกเซลจำนวนมหาศาล 

ขนาดของพิกเซลมีหน่วยเรียกเป็น"ไมโครเมตร" กล้องตัวคูณที่มีขนาดพิกเซล 5.1 ไมโครเมตร มีความหนาแน่น 3.8 ล้านพิกเซล/ตารางเซนติเมตร ในขณะที่กล้องฟูลเฟรมเช่น Nikon D700 มีขนาดพิกเซลที่ใหญ่กว่า 8.4 ไมโครเมตร แต่มีความหนาแน่นเพียง 1.4 ล้านพิกเซล/ตร.ซม. เข้าใจได้ว่า
กล้องฟูลเฟรมมีขนาดพิกเซลที่ใหญ่กว่า แต่มีความหนาแน่นบีบอัดที่ต่ำกว่า สิ่งนี้เองคือคุณภาพที่มีในกล้องที่คุณภาพสูงอย่างกล้องฟูลเฟรม

จุดเด่นที่มีการกล่าวถึงบ่อยๆของกล้องแบบฟูลเฟรมนี้คือมีช่วง "Dynamic Range" ช่วงรับแสงที่กว้างทำให้สามารถเก็บรายละเอียดในส่วนสว่างของภาพ ไม่หลุดขาวโพลนได้ง่ายอย่างกล้องตัวคูณ ในขณะเดียวกันก็มี noise ที่น้อยในส่วนมืดของภาพ และการเบลอฉากหลังที่สวยงามเป็นธรรมชาติ มีมิติมากกว่า "Depth of Field" เป็นสิ่งที่หาได้ยากในกล้องตัวคูณ ที่จริงมีปัจจัยเกี่ยวกับเลนส์ข้อหนึ่งคือเมื่อกล้องตัวคูณใช้ร่วมกับเลนส์ 28mm. จะถูก crop เหลือมุมมองเท่ากับช่วงเลนส์ 45 คุณสมบัติทั้งหมดของเลนส์ 28 ยังคงเหมือนเดิม ในขณะที่ผู้ใช้ส่วนมากมักคิดว่าได้เลนส์ normal มา ...ที่จริงมันคือเลนส์ 28mm. ลักษณะที่เราทราบกันทั่วไปว่าเลนส์ wide จะให้ความชัดลึกสูง นั่นทำให้เราหลงคิดว่ากล้องตัวคูณให้ความชัดลึกมากกว่ากล้องฟูลเฟรม ลองมาเทียบดูเมื่อใช้เลนส์ 50mm. กับกล้องตัวคูณ อย่าไปคิดว่าใช้เลนส์ 80mm. และจะได้ความชัดตื้นเท่ากับเลนส์ 80mm. จำไว้ว่าคุณกำลังใช้เลนส์ 50mm. ที่ให้ความชัดลึกชัดตื้นอย่างเลนส์ 50mm. แต่cropภาพมาเพียงแค่เทียบเท่าขนาดเมื่อใช้ 80mm. ข้อนี้ผมไม่รู้ว่าผู้ผลิตทำให้ผู้ใช้สับสนจากการให้ข้อมูลผิดๆในลักษณหาจุดขายมาชวนเชื่อ หรือว่าผู้ใช้งงกันไปเอง...

เอาง่ายๆเป็นว่า ฉากหลังที่ละลายอย่างสวยงามเป็นเสน่ห์ที่เคยมีในกล้องฟิล์ม เราได้มันกลับมาแล้วในกล้องดิจิตอลฟูลเฟรม ...เมื่อถ่ายในลักษณะที่ต้องการชัดลึก ใช้รูรับแสงแคบ ก็ไล่ความชัดลึกได้สูง ละเอียด แต่เนียนตา เข้าใกล้ความเป็นฟิล์มสิ่งที่หายไปจากกล้องฟิล์มค่อยๆกลับคืนมา ในขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆของอุปกรณ์ถ่ายภาพกำลังก้าวล้ำไปข้างหน้า เพื่อรองรับโลกที่อะไรๆก็หมุนไปเร็วเสียทุกเรื่อง

ข้อเสียของกล้องแบบฟูลเฟรมคือราคาในปัจจุบันยังสูงอยู่ และการเลือกหาเลนส์ที่ต้องลงทุนอีกมากทีเดียว แต่ไม่ใช่ไม่มีทางเลือกเลย กล้อง Canon 5D MK I เป็นกล้องฟูลเฟรมรุ่นแรกๆที่หลายคนเคยเอื้อมไม่ถึง ในราคา 130,000 บาท แต่ตอนนี้ในปัจจุบัน ราคาตกลงมาเหลือเพียง 4 หมื่นกว่าบาท หาได้ทั้งมือหนึ่งและมือสองตามท้องตลาด แม้ว่าเทคโนโลยีจะล้าหลังไปแล้ว แต่มันก็ยังคงแสดงพลังของเซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรม ด้วยไฟล์ที่มีคุณภาพสูงเกินหน้าเกินตากล้องรุ่นใหม่ๆไปหลายตัว

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือการที่กล้องฟูลเฟรมมาอยู่ในมือของผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น ด้วยราคาที่ถูกลงครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ช่างภาพมืออาชีพส่วนมากไม่ต้องใช้กล้องตัวคูณอย่าง Nikon D90 หรือ Canon 50D ไปรับงานอีกต่อไปทั้งๆที่เขาเหล่านั้นอยากได้คุณภาพจากกล้องแบบฟูลเฟรมมานานในราคาที่ช่างภาพกินเงินเดือนและผู้ใช้ทั่วไปพอจะเก็บเงินกันซื้้อกันไหว ขณะที่ตลาดของกล้องตัวคูณยังคงคึกคักเป็นที่นิยมเหมือนเดิม มีเลนส์ให้เลือกมากมาย กอบโกยรายได้จากผู้ใช้ทั่วไปได้อีกนาน



บทความโดยคุณ chonlatid

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง