ss

5 เมษายน 2554

อนันต์ชัย จันทรัตน์ ช่างภาพกีฬา ผู้ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานมาอย่างโชกโชน


“สำหรับผมแล้ว งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมทำงาน ผมจะทุ่มเท ทั้งชีวิต และจิตใจ” นั่นเป็นถ้อยคำที่ออกมาจากใจของคนชื่อ “อนันต์ชัย จันทรัตน์ หรือ พี่อ๋อ” ช่างภาพกีฬา ผู้ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่แรกเริ่มของการเป็นนักข่าวและช่างภาพกีฬา จนก้าวขึ้นมาสู่ช่างภาพแอ๊คชั่นอาชีพระดับแถวหน้า

นั่นเป็นถ้อยคำที่ออกมาจากใจของคนชื่อ “อนันต์ชัย จันทรัตน์ หรือ พี่อ๋อ” ช่างภาพกีฬา ผู้ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่แรกเริ่มของการเป็นนักข่าวและช่างภาพกีฬา จนก้าวขึ้นมาสู่ช่างภาพแอ๊คชั่นอาชีพระดับแถวหน้า

จุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพกีฬา
“ผมก็เริ่มจากเป็นช่างภาพธรรมดานี่แหละ ชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว” พี่อ๋อ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพแอ๊คชั่นมืออาชีพ “เริ่มจากถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเวลาที่ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เรื่อยมาจนถึงตอนที่เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย ก็ยังถ่ายภาพอยู่ ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกเรียนวิชาเอกพลศึกษา วิชาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา หลังจากที่เรียนจบมา ผมก็ได้เข้ามาทำงานในสายของสื่อมวลชน คือได้ทำข่าวกีฬาที่หนังสือพิมพ์โลกกีฬามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ช่วงนั้นผมทำงานไปด้วยและรับงานถ่ายภาพไปด้วย งานที่รับก็เป็นงานบวช งานแต่งงานแล้วก็งานรับปริญญานี่แหละครับ”

พี่อ๋อเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานในครั้งแรกๆ ว่า “ในช่วงที่ทำข่าวกีฬาก็มีโอกาสได้เดินทางอยู่บ่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเทศแรกที่เดินทางไปคือประเทศจีน ตอนนั้นไปทำข่าวกีฬาเอเชี่ยนเกมส์หรือปักกิ่งเกมส์ ในปี พ.ศ. 2533 ก็ไปปักหลักทำข่าวอยู่ที่ประเทศจีนเกือบๆ เดือน เป็นครั้งแรกของชีวิตที่เดินทางไปทำข่าวต่างประเทศ”

“ตอนนั้นผมยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ เพราะภาษาก็ยังไม่เก่ง อีกทั้งเพิ่งได้เข้ามาทำงานในสายอาชีพนี้ ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ทั้งการถ่ายภาพ และการเขียนข่าว เพราะประสบการณ์ของเราเองก็ยังมีน้อยอยู่ แต่พออยู่ได้ประมาณซัก 1 อาทิตย์ ก็เริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ในยุคนั้นยังใช้ฟิล์มอยู่ พอถ่ายภาพเสร็จแล้วต้องรีบหาที่ล้างฟิล์ม แล้วก็มาเขียนบรรยายใต้ภาพ จากนั้นก็ส่งทางเครื่องบินกลับมาที่โรงพิมพ์ ตอนนั้นค่อนข้างลำบากเหมือนกันนะ แต่ก็ผ่านจุดนั้นมาได้ด้วยดี”

“หลังจากนั้นประมาณ 2-3 ปี ก็มีระบบการส่งข้อมูลทางโทรสาร แต่ก็เป็นเฉพาะเนื้อข่าวเท่านั้น แต่ยังส่งภาพไม่ได้ หลังจากนั้นประมาณ 5-6 ปี ก็มีการพัฒนาจนสามารถส่งภาพได้ โดยเอาฟิล์มไปสแกน แล้วส่งเป็นโทรภาพ แต่ภาพที่ได้ไม่ละเอียดนัก พอเข้ามาช่วงหลัง สักประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อดิจิตอลเข้ามาสู่วงการถ่ายภาพ ก็ช่วยให้ทุกอย่างสะดวกขึ้นมาก”

ชนะเลิศประกวดภาพข่าวกีฬา 7 ปี
เห็นว่าช่วงที่ทำข่าวอยู่นั้น ส่งภาพประกวดด้วยและก็ได้รางวัลอยู่บ่อยๆ “ใช่ครับ ในช่วงที่ทำงานเป็นนักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์โลกกีฬา ก็ได้ส่งภาพข่าวกีฬาเข้าประกวดอยู่เรื่อยๆ แล้วผมก็ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดภาพกีฬานี้มาถึง 7 ปี รวมทั้งรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล ซึ่งจุดนี้ก็ถือได้ว่าผมประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว”

ก้าวสู่การเป็นฟรีแลนซ์
เมื่อถามถึงการเป็นฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน พี่อ๋ออธิบายว่า “หลังจากที่ทำงานประจำอยู่ประมาณ 10 ปี ก็ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ สาเหตุที่ลาออกก็เพราะช่วงหลังๆ ผมถ่ายภาพได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว และผมก็คิดว่าเดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วัน ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลาและก็ทำให้มีประสบการณ์สูงขึ้น แต่ก็เหนื่อยมากครับ จากดีกรีที่ประสบความสำเร็จในการประกวดภาพ ทำให้ผมมีฝีมือดีขึ้นระดับหนึ่ง และมีความมั่นใจมากขึ้น ตอนนั้นผมได้เงินเดือนประมาณ 20,000 กว่าบาท ผมคิดว่าจากความตั้งใจบวกกับประสบการณ์ จากความพยายามและความทะเยอทะยาน ผมควรจะได้ค่าตอบแทนมากกว่านั้น ผมเลยตัดสินใจลาออก แล้วก็รับงานแบบฟรีแลนซ์มาตลอด”

ฝีไม้ลายมือ มาจากประสบการณ์ล้วนๆ
กว่าที่จะก้าวมาจนมีฝีไม้ลายมือในระดับนี้ได้นั้น ต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อถามถึงผู้ที่ถ่ายทอดวิชาในด้านนี้ให้ พี่อ๋อตอบว่า “การถ่ายภาพของผมมาจากประสบการณ์ทั้งหมด ไม่มีใครสอน ผมเรียนรู้ด้วยตัวเอง พัฒนาฝีมือจากงานที่ได้รับมา เรียนรู้มาเรื่อยๆ แม้กระทั่งตอนที่ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ผมยังไม่มีแนวทางการถ่ายภาพอย่างเด่นชัด ก็ยังรับงานรับปริญญา งานแต่งงาน และงานอื่นๆ อยู่”

“จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 จึงตัดสินใจเลือกถ่ายภาพเฉพาะทาง คือ มอเตอร์สปอร์ตและกอล์ฟ ที่เลือก 2 ประเภทนี้ก็เพราะผมถ่ายกีฬาแข่งรถอยู่บ่อยๆ และมีความชำนาญอยู่แล้ว เมื่อเจ้าของงานเรียกผมไปทำงาน ผมก็ได้ถ่ายภาพบ่อยขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมชำนาญมากขึ้นไปอีก เมื่อมีความชำนาญมากขึ้นบวกกับผลงาน ชื่อเสียงของผมก็เริ่มเป็นที่รู้จัก”

“ส่วนกอล์ฟ ในแวดวงของกีฬากอล์ฟของเมืองไทย และการแข่งขันกอล์ฟของเบียร์สิงห์ ผู้รับผิดชอบงานก็เรียกตัวผมไปลองถ่ายดู และผลงานเข้าตา ถูกใจลูกค้า ผมก็เลยได้รับงานกอล์ฟของสิงห์มาตลอด หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสถ่ายกอล์ฟแมทช์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น กอล์ฟจอห์นนี่วอล์คเกอร์คลาสสิก ที่สนามกอล์ฟอัลไพน์ ผลงานของผมก็เลยเป็นที่รู้จัก และตอนหลังๆ ที่มีต่างประเทศเข้ามาจัดกอล์ฟระดับอินเตอร์ในบ้านเรา ผมก็ถูกเรียกใช้งานมากขึ้น จึงทำให้ผมได้พัฒนาฝีมืออยู่ตลอดเวลา จนล่าสุดก็ได้ทำงานกอล์ฟ แอลพีจีเอทัวร์ระดับโลก 3 ปีซ้อน แล้วก็ยังได้รับการทาบทามให้ทำงานระดับโลกนี้อีกหลายรายการ”

ความเป็นมืออาชีพ
กับคำถามที่ว่า รู้สึกอย่างไรกับคำว่ามืออาชีพ พี่อ๋อย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า “เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา ผมถูกเรียกว่ามืออาชีพ ซึ่งเหมือนเป็นความท้าทายของผม กับคำๆ นี้ บางคนอาจจะดูว่าเป็นการให้เกียรติ แต่สำหรับผมมันเป็นความท้าทาย ท้าทายตรงที่ว่าผมกล้ารับคำท้านี้หรือไม่ ถ้ากล้ารับ ผมก็ต้องพัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นไปอีก รวมทั้งพัฒนาวิธีการ และระบบระเบียบในการทำงานให้มากขึ้น และมีความผิดพลาดน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย”

พี่อ๋ออธิบายถึงงานที่ทำอยู่ประจำว่า “แมทช์การแข่งขันใหญ่ๆ ในประเทศไทยตอนนี้คือ ซูเปอร์คาร์ไทยแลนด์ โตโยต้าวันเมคเรซ ซูเปอร์คลับไทยแลนด์ ครอสคันทรี่ชิงแชมป์ประเทศไทย แรลลี่ครอสเอเชีย-แปซิฟิก เป็นแมทช์ใหญ่ที่ผมทำอยู่ประจำ ส่วนการแข่งกอล์ฟที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานคือ จอห์นนี่วอล์คเกอร์คลาสสิก กอล์ฟเอเชี่ยนทัวร์ กอล์ฟสิงห์มาสเตอร์ กอล์ฟแอลพีจีเอทัวร์ กอล์ฟรอยัลโทรฟี่ รวมทั้งแมทช์ใหญ่ๆ ของประเทศไทยอีกหลายแมทช์ที่ถูกเรียกใช้งานอยู่ตลอด”

“แมทช์การแข่งขันใหญ่ๆ แบบนี้แหละที่ช่วยพัฒนาฝีมือผม รวมกับความเป็นอินเตอร์ที่ได้ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ เราก็ได้ลักษณะการทำงานของเขามาด้วย เช่น ไม่ผิดพลาด ตรงต่อเวลา และวิธีทำงานต่างๆ เราก็ได้เก็บเกี่ยวและนำประสบการณ์ที่ร่วมงานกับชาวต่างชาติมาใช้ในเมืองไทย กับลูกค้าชาวไทย เขาก็เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของเรา ผมก็เลยมีงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงคุยกับตัวเองว่ารับงานรถแข่งกับงานกอล์ฟ ก็โอเคแล้ว แต่ถ้ามีงานที่ท้าทายเข้ามาอีก แล้วพอจะมีเวลาก็จะไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นเสียไปครับ”

เชี่ยวชาญในเรื่องภาพแอ๊คชั่น
ต่อคำถามที่ว่า ถ้าพูดถึงการถ่ายภาพกีฬามอเตอร์สปอร์และกอล์ฟแล้ว พี่อยู่ในอันดับหัวแถวเลยใช่มั้ย พี่อ๋อตอบว่า “ถ้าพูดถึงการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ผมมีฝีมือในระดับหนึ่ง อาจจะไม่เก่งถึงระดับประเทศ แต่ผมเชื่อว่าในสิ่งที่ผมทำอยู่นั้น ใน field นี้ ยังไม่มีใครทำได้เหมือนผม ฉะนั้นเวลาที่มีงานในลักษณะนี้ ผมมักจะได้รับโอกาสในการทำงานนั้นอยู่เสมอ อาจจะเป็นเพราะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า มีความเป็นมืออาชีพ งานไม่พลาด เลยได้รับความไว้วางใจมาโดยตลอด”

“ในช่วงหลังๆ ผมสกรีนงานมากขึ้น เป็นผู้จัดการตัวเอง เป็นเจ้านายตัวเอง เมื่อมีงานถ่ายถาพนิ่งธรรมดาที่ไม่ใช่งานแอ๊คชั่น ผมก็จะไม่รับ แต่ไม่ใช่ว่าจะปฏิเสธไปเลย ก็จะแนะนำลูกค้าว่า เรามีลูกน้องที่เทรนขึ้นมาจนสามารถรับงานได้ และราคาก็จะถูกลง ในครั้งแรก ลูกค้าก็อาจจะยังไม่เชื่อใจ แต่เมื่อเห็นงานก็ยอมรับมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างและพัฒนาฝีมือลูกน้อง” แต่ถ้าเป็นภาพแอ๊คชั่น ลูกค้าก็จะระบุว่าให้พี่เป็นคนทำใช่มั้ยครับ “ใช่แล้วครับ ถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือภาพแอ๊คชั่น ก็ยังสเป็คมาที่ผมอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ก็พยายามทำงานให้ดีที่สุด เพราะผมจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่าทำอะไรก็ตามแต่ ทำให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ แล้วผลงานที่ออกมาก็จะเต็มที่ตอบแทนเราเอง ผู้ว่าจ้างก็แฮปปี้ในงานที่เราทำ ผลงานที่เราทำออกไป บวกกับความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะทำให้เรามีงานทำ เพราะฉะนั้น การเป็นฟรีแลนซ์ของผม ถ้าฝีไม้ลายมือไม่ดี ความรับผิดชอบไม่ถึง ก็จะไม่มีคนจ้าง และก็ไม่มีงานทำ”

พี่อ๋อเสริมตรงจุดนี้ว่า “ผมไม่มีเงินเดือน ผมอยู่ได้จากงานจ๊อบ เป็นจ๊อบๆ ไปเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าผมมาถึงจุดนี้ ผมเลือกงานที่จะทำ เพื่อลดภาระความรับผิดชอบ และความถี่ของการทำงานให้น้อยลง แต่การเลือกทำงานแข่งรถกับกอล์ฟนั้น กลับเป็นงานที่ซีเรียสมาก เพราะมีอันตรายสูง พยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุดและเซฟตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อให้ยืนอยู่ตรงนี้ได้นานที่สุด มันจะมี factor หลายๆ อย่างในการทำงาน ต้องคิดให้ดีและวางแผนการทำงานให้ครอบคลุม ตลอดจนต้องคิดและสร้างผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ”
เตรียมตัวไปถ่ายภาพ

เมื่อถามว่ามีการเตรียมตัวในการทำงานต่างๆ อย่างไรบ้าง พี่อ๋อเล่าว่า “เวลาผมไปทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศ ประการแรกเลยคือต้องรู้ว่าจะไปที่ไหน ลักษณะงานเป็นอย่างไร เมื่อรู้ขอบข่ายของงานแล้วก็จะมาถึงเรื่องอุปกรณ์ ซึ่งจะมาดูว่าจะเอาอะไรไปทำงานบ้าง โดยปกติแล้วผมจะเอาไปแค่ 3 ระยะ 3 ชิ้นเท่านั้น ชิ้นแรกเลยคือระยะประชิดตัว นั่นคือเลนส์ไวด์ ต่อไปคือเลนส์ขนาดกลาง บางครั้งก็เป็น 24-105 มม. บางครั้งก็เป็น 70-200 มม. อีกชิ้นหนึ่งก็เป็นเลนส์ขนาดยาว คือพวกซูเปอร์เทเลโฟโต้และแฟลช ส่วนบอดี้จะพกไป 2 ตัว เพราะถ้าหากกล้องเกิดพังหรือเป็นอะไรขึ้นมา ก็จะใช้ทดแทนกันได้ แบตเตอรี่ก็จะเตรียมสำรองไป 4 ชุด และอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมไปคือโน๊ตบุ๊ค ซึ่งต้องมีสเป็คสูงพอที่จะซับพอร์ตงานของเราได้ มีความจุมากๆ และทำงานได้รวดเร็ว เพราะไฟล์งานของผมจะเป็นไฟล์ใหญ่ ลูกค้าสามารถนำไปขยายหรือทำอะไรได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า”

พี่อ๋อเล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติตัวเวลาที่ต้องอยู่ในสนามว่า “เวลาทำงาน ผมจะไม่พกอุปกรณ์ให้รุงรัง จะมีเฉพาะที่ต้องใช้งานเท่านั้น และก็ไม่ใช้กระเป๋ากล้อง ผมจะใช้เข็มขัดและกระเป๋าเลนส์อยู่รอบๆ เอว ซึ่งคล่องตัวกว่า และจุดที่ผมอยู่ ผมจะต้องดูว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ผมจะต้องหลบไปทางไหน บางครั้งถ้าหากว่าต้องไปถ่ายภาพในพื้นที่ที่เป็นดินโคลน ผมจะใช้รองเท้าจิกพื้นให้เป็นหลุม เพื่อเวลาที่จะออกจากจุดนั้น จะได้เคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว เผื่อว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้ไม่ลื่นล้ม เพราะถ้าหากคุณล้มเมื่อไหร่ อันตรายจะมาถึงตัวคุณทันที”

พี่อ๋อเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บให้ฟังว่า “ตอนไปถ่ายภาพงานบางแสน ซูเปอร์คาร์ ไทยแลนด์ ผมอยู่ตรงโค้งสุดทางตรง แต่อยู่หลังรั้ว เวลาถ่ายภาพก็ถ่ายลอดช่องตาข่ายออกไป งานในลักษณะนี้ ผมจะไม่ให้นักข่าวอยู่ด้วย เพราะอยู่การอยู่หลายคน ยิ่งจะทำให้การหลบหลีกลำบากขึ้น ขณะที่กำลังถ่ายภาพอยู่นั้น รถเกิดเสียหลัก เบรกล้อล็อค หลุดโค้งมาตรงจุดที่ผมอยู่ แถมมีรถอีกคันเบรกไม่ทัน ชนซ้ำเข้าไปอีก ทำให้รถไถลมายังรั้วที่ผมอยู่ และจากประสบการณ์ของผม เมื่อรถที่พุ่งเข้ามามีขนาดใหญ่กว่าปกติจากการมองผ่านเลนส์ จะต้องหนีจากจุดที่อยู่นั้นทันที แต่...มีช่างภาพคนอื่นมาอยู่ข้างหลัง โดยที่ผมไม่รู้ เมื่อผมถอยหลัง ก็เลยชนกับเขาจนผมล้ม แล้วรถก็พุ่งมาชนรั้วล้มลงมากระแทกผมจนหน้าแตก เลือดอาบใบหน้า แต่หลังจากที่ออกไปทำแผลเสร็จ ผมก็กลับเข้ามาประจำยังจุดเดิม เพราะวางช่างภาพตามจุดต่างๆ ไว้หมดแล้ว ถ้าผมไม่กลับมา จุดนั้นต้องขาดหายไป นี่ก็เป็นอีกข้อคิดหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ว่า ความเป็นมืออาชีพต้องมีความรับผิดชอบสูงสุด”

ปัญหาในการทำงาน
“ปัญหาในการเดินทางก็มีบ้าง เรื่องความล่าช้า การเดินทางที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายก็มีบ้าง แต่โดยปกติเมื่อเราก้าวขึ้นมาทำงานตรงจุดนี้ มีมืออาชีพมาจ้างเราทำงาน เขาจะดูแลเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตั่วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก อาหาร และคนรับรองที่จะพาเราเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ”

“ปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาหน้างานมากกว่า เพราะงานแบบผม ถึงแม้ว่าจะเป็นการแข่งรถแมทช์เดียวกับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน เพราะเวลารถกำลังแข่งกันอยู่ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เกิดที่ไหน และเมื่อไหร่ นั่นคือปัญหาของเรา เราต้องทำงานให้ครอบคลุม และดีที่สุด ที่สำคัญคือเร็วที่สุด เพื่อแข่งกับรถที่เคลื่อนที่อยู่ตลอด ต้อง active ตลอดเวลา เวลาไหนควรจะอยู่ area ไหน ต้องคิดตลอดเวลา เพราะการแข่งขันรถ ทุกคนต้องทำเวลาให้น้อยที่สุดในแต่ละรอบ ฉะนั้นเวลาที่เราทำงานต้องรวดเร็วและแม่นยำที่สุด เพื่อที่จะครอบคลุมงานและตอบแทนผู้ว่าจ้างด้วยประสิทธิภาพของงานได้สูงสุด”

ปัจจัยที่ส่งให้ขึ้นสู่ระดับมืออาชีพ
“มาถึงวันนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว และจุดที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในระดับนี้ ผมคิดว่ามาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น หนึ่งมีฝีไม้ลายมือที่ดี สองคือมีอุปกรณ์ที่เยี่ยม สามมีประสบการณ์และความตั้งใจจริง สี่มีความอดทน และห้ามีความรับผิดชอบสูง ทั้งหมดถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกันเป็นความสำเร็จที่ผมได้มา ส่วนอุปสรรคที่เจอ ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จ อุปสรรคสำหรับผมไม่ได้มีไว้เดินข้าม แต่อุปสรรคผมมีไว้เพื่อแก้ไข แล้วนำไปเป็นประสบการณ์ ผมอยากให้น้องๆ ช่างภาพนำไปคิดเป็นแบบอย่างครับ”

อุปกรณ์ในยุคดิจิตอลกับความสำเร็จ
เมื่อถามว่า อุปกรณ์ที่ดีมีความจำเป็นแค่ไหน พี่อ๋ออธิบายว่า “ถ้าถามว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพในยุคนี้มีส่วนช่วยงานได้มากขึ้นหรือเปล่า ผมก็ขอตอบเลยว่า ฝีมือเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอที่จะทำให้เราก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ บางครั้งถ้าอุปกรณ์ที่ไม่รวดเร็วพอ ก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสนั้นๆ ไปด้วย ดังนั้นจึงต้องมีอุปกรณ์ที่ดีด้วย อุปกรณ์ที่ดีจะช่วยลดภาระการทำงานของเราให้กระชับขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำขึ้น ตรงนี้ขอยืนยันเลยว่าอุปกรณ์มีส่วนช่วยในการทำงานเป็นอย่างมาก และอีกอย่างหนึ่ง ที่ผมคิดว่าต้องมีและพกติดตัวเสมอก็คือโชคและดวงครับ”

ช่างภาพกีฬาที่ดี
พี่อ๋อแนะนำถึงบุคลลิกของช่างภาพกีฬาไว้ว่า “การเป็นช่างภาพประเภทแอ๊คชั่นที่ดี จะต้องเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ควรจะมีพื้นฐานทางด้านกีฬา เพราะจะช่วยให้เราดูเกมส์ออก และรู้ว่าแอ๊คชั่นไหนที่สวย และรู้ว่าควรจะไปอยู่ที่จุดไหน ต้องเป็นคนที่รู้จักฉวยโอกาส และจังหวะ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ”

“นอกจากนี้แล้วยังต้องเป็นคนที่ทะเยอทะยาน อยากจะมีความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่ ต้องมีความตั้งใจ และอีกอย่างหนึ่งที่พูดไปแล้วก็คือ ต้องมีโชคและดวงด้วย เพราะเราไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไหร่ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในจุดที่เราอยู่นั้น เราต้องไม่พลาด แต่ทั้งนี้ตัวเราเองก็ต้องมีความพร้อมตลอดเวลาด้วย เพื่อที่จะฉกฉวยโอกาสนั้นๆ มาเป็นของเราให้ได้”

เคล็ดลับภาพสวย
“จะพูดว่าเป็นเคล็ดลับก็คงจะไม่เชิงซะทีเดียว แต่สิ่งที่ให้ผมมีโอกาสได้ทำงานตรงนี้คือ ผมไม่เชื่อว่าผมจะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมจะบอกกับตัวเองเสมอว่าผมทำได้ รวมกับความตั้งใจและความอดทน ความกล้า บางครั้งก็ดูบ้าบิ่น ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ ผมจะต้องทำให้ได้ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า ถ้าผมทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ ผมอาจจะไม่ได้ทำ แต่ถ้าผมทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ผมจะได้ทำเสมอๆ”

ที่มา : นิตยสาร shutterphoto

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง