ss

9 ธันวาคม 2553

รีวิว Sony ALPHA 450

Sony ALPHA 450

 

          จนถึงบัดนี้ คงไม่มีใครพูดแล้วว่า Sony ไม่สนใจทำตลาดกล้อง DSLR จริงจังนัก เพราะในระยะเวลาเพียง 8 เดือน Sony ได้ออกกล้อง DSLR ใหม่รวดเดียวถึง 7 รุ่น!!! ไล่เรียงมาตั้งแต่อนุกรม 8xx สำหรับช่างภาพระดับมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่จริงจัง

          อนุกรม 2xx และ 3xx อย่าง 230 330 และ 380 ที่เน้นให้ขนาดกล้องเล็กเหมาะสำหรับคุณสุภาพสตรีและผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนจากกล้อง Compact มาใช้ DSLR และกล้องตระกูล 5xx คือ 500 และ 550 ที่เน้นสำหรับผู้ที่ใช้งานระดับเริ่มต้นไปถึงระดับกึ่งจริงจัง ซึ่งเป็น Segment หลักในการขายเลยก็ว่าได้ และเพื่อปิดจุดบอดของตัวเอง สร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้ได้มากขึ้น และสร้างแรงกดดันให้กับคู่แข่งในตลาด Sony ได้ทำการออกกล้องในตระกูล 4xx คือ Alpha 450 ที่มีระบบการทำงานใกล้เคียงกับตระกูล 5xx แต่ราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นกล้องที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ครับ
จุดเด่นของ
*เซ็นเซอร์รับภาพ Exmor™ ขนาด 14.2 ล้านพิกเซล เพื่อภาพที่ใสสะอาด ความอิ่มตัวของสีสูงและสัญญาณรบกวนต่ำ
Sony เลือกที่จะใช้เซ็นเซอร์ CMOS Exmor™ ขนาด14.2ล้านพิกเซล จากรุ่นสูงกว่าคือ ALPHA 550 ที่มีการปรับปรุงจากกล้องรุ่นเก่าของ Sony เองหลายๆ จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดสัญญาณรบกวนที่ความไวแสงสูง ด้วยการใช้ระบบลดสัญญาณรบกวนตั้งแต่ก่อนและหลังการแปลงสัญญาณจาก Digital to Analoc convertor ทั้งนี้เพื่อให้คุณภาพไฟล์ที่ดีแม้ที่ความไวแสงสูงก็ตาม
*ระบบประมวลผลภาพ BIONZ™ engine
Sony ยังคงเลือกใช้ระบบประมวลผล BIONZ™ engine ในการประมวลผลการทำงานของกล้องทั้งหมด เพราะให้ความรวดเร็วในการทำงานสูง ให้การจัดการสีที่ถูกต้องแม่นยำ
*ความไวแสงของเซ็นเซอร์ดียิ่งขึ้น สูงสุดได้ถึง ISO12800 ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ ได้อย่างมั่นใจ
ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเซ็นเซอร์และระบบประมวลผลภาพ ทำให้ Sony ALPHA 450 สามารถใช้ความไวแสงสูงมากที่ ISO 12800 ได้ไม่ต่างจากรุ่นพี่อย่าง ALPHA 500 และ 550 เลย นั่นหมายถึงโอกาสได้ภาพในสภาพแสงจำกัดมากขึ้นตามไปด้วย
*ระบบช่วยปรับแก้โทน และระบบการถ่ายภาพแบบช่วงการรับแสงกว้างมากเป็นพิเศษ
ในกรณีที่ต้องถ่ายภาพในสภาวะที่มีความเปรียบต่างของแสงมากเป็นพิเศษ ALPHA 450 สามารถช่วยลดความเปรียบต่างของภาพลงได้ โดยที่มีการทำงานให้เลือกถึงสองแบบ นั่นคือ DRO (D-Range Optimizer) ที่จะช่วยปรับแก้ในส่วนของโทนกลางและส่วนเงามืด และระบบ HDR (High Dynamic Range) ที่จะบันทึกภาพสองภาพแบบต่อเนื่อง แล้วนำภาพที่ได้มาทำการรวมส่วนที่ช่วยให้ภาพมีส่วนมืดและส่วนสว่างที่ไม่มืดทึบเกินไปหรือขาวจ้าเกินไป ช่วยลดความผิดพลาดในการเปิดรับแสงได้เป็นอย่างดี
*Manual Focus Check Live View
ถึงจะไม่มีระบบ Quick AF LiveView ที่เป็นจุดเด่นของ Sonyเพราะทำงานรวดเร็วและหาระยะชัดรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับทุกยี่ห้อ แต่เพื่อเป็นการตอบสนองต่อผู้ที่ชื่นชอบการโฟกัสภาพด้วยตนเอง ALPHA 450 ก็ยังมีระบบ Manual Focus Check Live View ซึ่งจะขยายภาพในส่วนที่โฟกัสขึ้นมาจนคุณพอใจ ช่วยให้การหาระยะชัดง่ายดายขึ้นมาก
*ช่องต่อหน่วยความจำสองแบบ รองรับทั้ง SDHC และ Memory stick
*ระบบป้องกันภาพสั่นไหวติดมากับตัวกล้อง ใช้กับเลนส์ได้ทุกตัว
*ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง สูงสุดถึง 7 ภาพ/วินาที
*ระบบการแสดงผลและการเข้าถึงระบบการทำงานเป็นแบบอ่านง่าย เข้าใจง่าย


ผลการทดลองใช้
ผมได้รับกล้องมาเป็นเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ โดยที่ทาง Sony ได้ให้ตัวกล้องพร้อมกับเลนส์ Carl Zeiss ZA 16-80 mm. F3.5-4.5 ที่คุณภาพสูงมาก และราคาก็สูงด้วย ผมจึงได้หยิบยืมเลนส์ Sony DT 18-55 mm. F3.5-5.6 SAM ซึ่งเป็นเลนส์ Kit ที่จะมาในชุดจำหน่ายจริง และ Sony Lens 75-300 mm. F4.5-5.6 ที่ผมเชื่อว่าผู้ที่สนใจจะซื้อกล้องรุ่นนี้คงจะเลือกใช้กับเลนส์ระดับราคาที่เหมาะกันอยู่ครับ ได้ลองเอาไปใช้งานที่เขาหลัก จังหวัดพังงาอยู่สองสามวัน ผลการทดลองใช้พอจะเอามาคุยกันได้ดังนี้ครับ

ภายนอก
ผมเชื่อว่า หลังจาก A700 A900 และ A850 แล้ว ทางโซนี่คงจะใช้ทีมออกแบบกล้องชุดใหม่แน่ๆ เพราะการออกแบบกล้องเปลี่ยนไปพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูล 2xx และ 3xx ที่ใช้กริปจับทรงประหลาดที่จับไม่ถนัดมือนัก แต่กับ ALPHA 450 และ 5xx นี่ถือว่าโซนี่แก้ไขได้ดีขึ้นมากครับ แต่ก็ยังเปลี่ยนไปจากกล้องรุ่นโปรอยู่พอสมควร กริปจับมีขนาดหนาขึ้นกว่า 2xx 3xx มาก และย้ายปุ่มปิดเปิดจากด้านหลังกล้องฝั่งซ้ายมาเป็นแป้นล้อมรอบปุ่มกดชัตเตอร์แทน ปุ่มกดชัตเตอร์ถูกยกสูงขึ้นมาจากเดิมมากและทำมุมเอียงไปด้านหน้าเหมือนๆ Sony Compact อย่าง DSC F828 และ DSC R1 ซึ่งวางนิ้วชี้ได้ถนัดดี แต่ปุ่มกดชัตเตอร์ค่อนข้างเบาและจังหวะลั่นค่อนข้างตื้น จัดเรียงปุ่มด้านบนเสียใหม่ให้เป็นแนวนอน เพราะไม่ต้องมีเนื้อที่สำหรับจอ LCD จิ๋วๆ แบบกล้องโปร โดยวางปุ่มเข้าระบบ Live view ไว้ทางด้านหน้า แล้วเรียงปุ่ม D-range ปุ่มปรับระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง/ตั้งถ่ายตนเอง และปุ่ม ISO เรียงเป็นแถวอยู่ทางด้านหลัง การเข้าสู่เมนูทางลัดโดยการกดปุ่ม FN เปลี่ยนไปจากกล้องรุ่นโปรเล็กน้อย กล่าวคือกล้องรุ่นโปรเมื่อกดปุ่มนี้และใช้จอยสติ๊กเลื่อนไปยังเมนูที่ต้องการและกดจอยสติ๊กลง 1 ครั้ง จะสามารถเลือกระบบจากหน้าจอได้โดยตรงและปรับแก้ได้ทันที แต่กับ 450 เมื่อกดปุ่ม FN กล้องจะเข้าหน้าปรับตั้งต่างหาก และค่อยเลือกเมนูที่ต้องการปรับ แล้วกดปุ่ม AF เพื่อเข้าสู่การปรับตั้งอีกทีหนึ่งซึ่งทำให้ความคล่องตัวลดลงไปจากรุ่นโปร แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากมายนักครับ จอ LCD หลังกล้องเป็นจุดที่ถูกลดลงมาจาก A550 พอสมควร จากขนาดจอ 3 นิ้ว 9 แสนพิกเซลที่พับและพลิกหน้าจอได้หลายแบบ มาเป็นจอแบบติดตายตัวขนาด 2.7 นิ้ว ความละเอียด 230,000 พิกเซล ที่ให้คุณภาพของภาพบนจออยู่ในเกณฑ์ปานกลาง การแสดงรายละเอียดของระบบบันทึกภาพในจอ LCD ออกแบบได้ดี สามารถเลือกให้แสดงผลในแบบมาตรฐาน หรือแสดงผลในแบบกึ่งกราฟฟิคที่มือใหม่ๆ จะเข้าใจได้มากกว่า เมื่อลองบันทึกภาพและดูภาพจากจอ พบว่าจอ LCD ที่ติดด้านหลังกล้องให้ความละเอียดในเกณฑ์ปานกลาง ให้สีอมฟ้านิดๆ ครับ


ช่องมองภาพ ระบบโฟกัส ระบบวัดแสง และ MF Check Liveview
ถึงแม้ว่า ALPHA 450 จะเป็นกล้องระดับกลาง แต่ก็มีช่องมองภาพในขนาดที่ใหญ่พอสมควร มองภาพได้สบายตากว่าสมัย ALPHA 350 มากครับ กรอบโฟกัสแบบกว้าง 9 จุด ที่จุดกลางเป็นแบบ Crosstype ทำ Pattern แปลกกว่าเดิมเล็กน้อย คือแทนที่จะจัดเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแบบ ALPHA 850 900 กลับเรียงเป็นทรงนาฬิกาทราย คือแถวกลางจะแคบกว่าแถบบนล่างเล็กน้อย แต่ก็ครอบคลุมพื้นที่ได้ดี และหาโฟกัสได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำครับ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ที่ใช้มอเตอร์จากตัวกล้องอย่าง Carl zeiss 16-80 ZA หรือใช้มอเตอร์ในตัวเลนส์เองอย่าง DT 18-55 mm. SAM ก็ตามที เพียงแต่หากใช้ระบบ Manual Focus กับเลนส์ที่ออกแบบมาใช้กับระบบ DMF ที่มีในกล้องรุ่นใหญ่ๆ ได้ (เช่น ZA 16-80 ที่นำมาทดสอบร่วม) น้ำหนักของวงแหวนโฟกัสจะหนักไปหน่อย เลนส์จะหมุนหาโฟกัสด้วยมือค่อนข้างยาก และเวลาที่กล้องหาโฟกัสแบบอัตโนมัติ วงแหวนโฟกัสเองจะมีการดิ้นนิดหน่อยให้พอรู้สึกครับ แต่กับเลนส์อย่าง Sony 75-300 mm. นั้นทำงานได้เป็นปกติครับ
ส่วนระบบ Live view นั้น ALPHA 450 ตัดระบบ Quick AF Live view ออก แต่ยังคงมีระบบ MF Check Live view มาให้ ซึ่งจะทำงานเหมือนกับกล้องยี่ห้ออื่นๆ คือเมื่อสั่งให้ทำงานในระบบนี้ หากต้องการหาโฟกัสในระบบ AF กล้องจะปิดกระจกก่อนแล้วใช้ระบบ AF แบบเดิม แล้วระบบ Live view ค่อยทำงานอีกครั้ง หรือหากต้องการดูว่าภาพที่กล้องหาโฟกัสหรือเราหมุนโฟกัสเองนั้นคมชัดเพียงใด ก็สามารถใช้ปุ่ม AEL เพื่อเพิ่มอัตราขยายได้ทันทีครับ แต่ที่แปลกกว่ากล้องยี่ห้ออื่นเล็กน้อยก็คือเมื่อเราบันทึกภาพแล้ว กล้องจะยกเลิกระบบ MF Check Live view โดยอัตโนมัติ หากจะใช้ระบบ live view ต่อ ต้องกดปุ่มเริ่มการทำงานใหม่ทุกครั้งไปครับ ตรงนี้อยากจะให้การทำงานเป็นแบบต่อเนื่องจนกว่าผู้ใช้จะยกเลิกเองมากกว่าครับ
ส่วนระบบวัดแสง Sony ยังคงเชื่อมั่นในระบบวัดแสงแบบ Honeycomb รังผึ้ง 40 ส่วน รวมถึงระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางและระบบวัดแสงเฉพาะจุด ซึ่งยังทำงานแม่นยำดีครับ มีการชดเชยแสงบ้างเพียงเล็กน้อยในสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันสูงมากๆ ซึ่งไม่ว่ายี่ห้อไหนก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่ระบบที่ผมอยากให้มีในกล้องระดับนี้ และอยากให้ทาง Sony นำระบบนี้มาใส่ไว้ในรุ่นต่อไปจริงๆ ก็คือระบบ Intelligent Preview เพราะมันจะช่วยให้การทำงานของมือใหม่ง่ายขึ้นมากๆ ครับ

ไฟล์ภาพ สัญญาณรบกวน และระบบแก้ไขภาพ
ผมลองใช้กล้องตัวนี้ โดยเซทกล้องในระบบ Aperture Priority เป็นหลัก ตั้ง Parameter แบบ Standard แต่เพิ่ม Sharpness +1 เท่านั้น ซึ่งไฟล์ภาพที่ได้อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ครับ ความคมชัดดีกว่าSony A700 ที่ผมเคยใช้อยู่พอสมควร และคมชัดใช้ได้แม้จะใช้กับเลนส์ DT 18-55 SAM ที่เป็นเลนส์ Kit ด้วยซ้ำ การถ่ายทอดสีและคอนทราสอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ไม่จัดจ้านมากนัก WB แบบ Auto มักจะให้โทนภาพอมฟ้านิดๆ หากใช้ระบบ Preset WB เลือกให้ตรงกับสภาพแสงจะให้ค่าสีที่สมดุลดีกว่าครับ ซึ่งหากท่านที่ใช้อยู่ต้องการสีสันที่จัดจ้านและคอนทราสที่สูงกว่านี้ สามารถปรับตั้ง Parameter ในตัวกล้องได้อย่างง่ายๆ ครับ
ระบบ DRO และระบบ HDR นั้น ถ้าอยู่ในสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันมากจริงๆ และต้องการภาพที่ไล่โทนจริงๆ ก็เปิดได้ครับ แต่ต้องยอมรับกับนอยซ์ในส่วน Midtone และส่วนมืดที่กล้องได้ยกขึ้นมาด้วย และหากใช้ระบบ HDR แนะนำว่าควรใช้ขาตั้งกล้องและบันทึกภาพกับวัตถุที่อยู่นิ่งเท่านั้น เนื่องจากระบบนี้กล้องจะทำการบันทึกภาพ 2 ครั้งและนำภาพที่ได้มารวมกัน หากบันทึกภาพเคลื่อนไหวเช่นธงที่พลิ้วสะบัดหรือรถวิ่ง เราจะได้ภาพซับเจคที่ไม่ซ้อนกันสนิทดีเพราะมีการเคลื่อนไหวครับ ผมจึงไม่ใช้ทั้งสองระบบนี้เลยครับ
ส่วนเรื่องสัญญาณรบกวน จากการเปลี่ยนมาใช้ CMOS Exmor™ ทำให้ประสิทธิภาพด้านนี้ของ Alpha 450 550 ทิ้งห่างจากกล้องรุ่นเก่าอย่าง ALPHA 700 ไปไกล ภาพที่ได้ที่ ISO 800 ให้ภาพที่ใสเคลียร์และคมชัดกว่า A700 มากครับ อาการภาพนุ่มๆ เบลอๆ น้อยลงไปมาก ถือว่า SONY แก้ไขได้ดีมากครับ
ส่วนเรื่องพลังงานที่ใช้ ALPHA 450 ใช้แบตเตอรี่ความจุสูงตัวเดียวกับ ALPHA 700 850 900 ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ให้กำลังไฟสูงมาก ผมสามารถถ่ายภาพได้มากกว่า 400 รูปทั้ง RAW และ JPGF โดยที่สัญลักษณ์แบตเตอรี่ลดลงไปเพียง 1/3 ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานหนักใน 1 วันได้โดยไม่ต้องอาศัยแบตเตอรี่สำรองครับ

สรุป
การออกกล้องรุ่นต่างๆ ใน Segment เดียวกันแบบถี่ยิบ ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่า กล้องรุ่นนี้จะเหมาะสมกับผู้ใช้ในแนวไหน ซึ่งก็คงจะบอกได้ว่า คนที่จะชื่นชอบ SONY ALPHA 450 ก็คือนักถ่ายภาพที่ต้องการกล้องที่ใช้งานง่าย จับถือถนัดมือ ความละเอียดสูง 14 ล้านพิกเซล ที่มีสัญญาณรบกวนต่ำ แต่ไม่สนใจระบบ Live view มากนัก ด้วยราคาที่ถูกกว่า A500 แต่ให้พิกเซลมากกว่าเสียอีก ทำให้มันเป็นกล้องที่น่าจะถูกใจบรรดาแฟนานุแฟนของ Sony Alpha ได้อีกรุ่นหนึ่งครับ


ที่มา : http://camerartmagazine.com/index.php/product-review/slr-camerar-review/234-sony-alpha-450
ALPHA 450

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง