ss

10 ธันวาคม 2553

เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก

เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก

การถ่ายภาพน้ำตก มิใช่เรื่องยากอะไรนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียวหากผู้ถ่ายภาพไม่ได้ต้องการภาพน้ำตกให้ออกมา เหมือนภาพถ่ายทั่ว ๆ ไปที่กล้องประเภทพกง่ายถ่ายสะดวกก็ถ่ายได้ หากต้องการภาพน้ำตกสวย ๆ ผู้ถ่ายภาพต้องรู้วิธีเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ การควบคุมช่องรับแสง วัดแสงให้ถูกต้องกับภาพที่ต้องการ ที่เหลือคือเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การใช้ฟิลเตอร์ การจัดองค์ประกอบภาพ หรือการรอจังหวะแสง ก็จะได้ภาพน้ำตกสวย ๆ กลับมาเชยชม

เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก

เริ่มต้นด้วยการเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้

1. กล้องชนิดใดก็ได้ครับ compact หรือ dslr
2. ขาตั้งกล้อง
3. สายกดชัตเตอร์
4. C-PL FILTER (ถ้ามี)
5. เสื้อกันฝน ร่ม
6. รองเท้าเดินป่า (ถ้ามี)



เตรียมตัวออกไปถ่ายภาพน้ำตก
โดยปกติ น้ำตกต่าง ๆ จะมีน้ำมากและดูสวยเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว บางแห่งอาจจะมีน้ำเฉพาะช่วงที่มีฝนตกหนักในฤดูฝนเท่านั้น การจะไปถ่ายภาพน้ำตกแต่ละแห่งจึงควรเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตกนั้น ๆ ไปก่อนด้วยว่า ช่วงที่จะไปมีน้ำหรือไม่ หรือเมื่อไรน้ำจะมาก การเดินทางเข้าไปต้องทำอย่างไร มีอันตรายอะไรที่ต้องระวัง น้ำตกหลายแห่งช่วงที่น้ำมากจะอันตรายมาก เจ้าหน้าที่จะไม่ได้อนุญาติให้เดินทางเข้าไป ส่วนน้ำตกอีกหลายที่เมื่อเวลาน้ำมากจะไม่สวยเท่าปริมาณน้ำอยู่ในระดับกลาง ๆ เช่น น้ำตกเหวสุวัติ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งน้ำตกหลายแห่งจะมีน้ำเฉพาะช่วงฝนตกเท่านั้น หากฝนขาดช่วงไม่กี่วันน้ำจะเหลือน้อยทันที เช่น น้ำตกที่ภูกระดึง ก่อนไปถ่ายภาพจึงควรเสาะหาข้อมูลเสียก่อนเพื่อจะได้ไปไม่เสียเวลาในการเดิน ทางไปเปล่า ๆ น้ำตกที่อยู่กลางป่ามักจะมีความงดงามมากเป็นพิเศษจากสภาพแวดล้อมที่ดูร่ม รื่นเขียวขจี เช่น น้ำตกทีลอซู น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น น้ำตกแม่ยะ หากต้องการภาพน้ำตกสวย ๆ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านป่าเขาไปหาน้ำตกสวย ๆ เหล่านั้น ซึ่งน้ำตกหลายแห่ง ถึงแม้จะอยู่กลางป่า แต่ก็เดินทางเข้าไปถึงได้อย่างง่ายดาย มีถนนหนทางและทางเดินสะดวกสบาย แต่หลายแห่งก็ต้องใช้ความมานะอุตสาหะเป็นอย่างสูงในการเดินทางเข้าไปให้ถึง บางครั้งไปถึงแล้วในตกหนักไม่สามารถถ่ายภาพได้ก็มีให้เห็นเป็นประจำ ความประทับใจในการถ่ายภาพน้ำตกอาจจะไม่ได้อยู่ที่ภาพน้ำตกสวย ๆ แต่อาจมาจากการเดินทางอันยากลำบากนั้นเอง
 


เมื่อจะต้องเข้าป่าไปหาน้ำตกสวย ๆ หรือต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่อาจคาดเดาได้ นอกจากการนำกล้องถ่ายภาพและเลนส์ติดตัวไปแล้ว ควรมีการเตรียมตัวในการออกไปถ่ายภาพเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้ภาพสวย ๆ กลับมาอย่างแน่นอน และอุปกรณ์จะอยู่รอดปลอดภัยตลอดการเดินทาง
สิ่งที่ควรเตรียมไปด้วยในการถ่ายภาพน้ำตก

1.เสื้อกันฝน สำหรับคลุมตัวและกระเป๋ากล้องไม่ให้เปียกฝนระหว่างการเดินทาง
2.ถุงพลาสติก สำหรับคลุมกล้อง กระเป๋ากล้อง หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จากฝนและละอองน้ำขณะใช้งาน
3.ผ้าขนหนูผืนเล็ก หรือผ้าอะไรก็ได้ที่ซับน้ำได้ดี สำหรับเช็ดภายนอกตัวกล้องและเลนส์เวลาที่เลนส์โดนน้ำ
4.กระเป๋า กล้อง ควรใช้กระเป๋ากล้องคุณภาพดี แบบที่สามารถกันน้ำกันฝนได้ ถ้าเป็นกระเป๋าคุณภาพต่ำเวลาโดนน้ำ น้ำจะสามารถซึมเข้าไปภายในกระเป๋าได้ ทำให้กล้องและเลนส์ที่อยู่ภายในมีโอกาสเสียหายได้ง่ายมาก และยังทำให้ภายในกระเป๋าชื้น กล้องพวกไฟฟ้ามีโอกาสทำงานผิดปกติและเลนส์ขึ้นราได้หากเก็บกล้องเอาไว้เป็น เวลานาน
5.ผ้าเช็ดเลนส์ สำหรับเช็ดฟิลเตอร์และชิ้นเลนส์เมื่อเลนส์โดนละอองน้ำ จะใช้ผ้าหนังแกะ หรือผ้าแบบไมโครไฟเบอร์ก็ได้
6.ฟิลเตอร์ป้องกันหน้าเลนส์ จะเป็นฟิลเตอร์ UV หรือ Skylight ก็ได้ จะช่วยไม้ให้ละอองน้ำโดนหน้าเลนส์โดยตรง
7.ขาตั้งกล้องและสายกดชัตเตอร์
8.เลนส์ เลนส์ควรเป็นเลนส์มุมกว้างอย่างน้อย 21 มม.ขึ้นไปจะเป็นช่วงที่ใช้งานบ่อย ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้จะสามารถเจาะถ่ายภาพเฉพาะส่วนหรือถ่ายภาพน้ำตกจากระยะไกล ได้ดี
9.ฟิลเตอร์ ND และฟิลเตอร์ PL ฟิลเตอร์ PL เป็นฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงสะท้อนใบไม้ ทำให้ใบไม้มีสีเขียวเข้ม รวมทั้งตัดแสงสะท้อนน้ำ แสงสะท้อนจากก้อนหิน ช่วยให้ภาพมีสีเข้มขึ้น และยังช่วยลดแสงประมาณ 1.5-2 stop ทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงเพื่อให้น้ำดูนุ่มนวล ส่วนฟิลเตอร์ ND ใช้ในการลดแสงเพื่อลดความเร็วชัตเตอร์ลงเพียงอย่างเดียว

[เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก]
นอกจากกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ควรเตรียมไปแล้ว นักถ่ายภาพยังต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเดินทางด้วย โดยเฉพาะการแต่งตัว เช่น รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่เหมาะกับการเดินป่า พื้นควรเป็นยางเนื้อนิ่มจะสามารถเกาะหินและพื้นลื่น ๆ ได้ดี ดอกยางรองเท้าควรเป็นดอกหยาบและเป็นบั้งใหญ่ ๆ เพื่อให้สามารถเกาะพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือโคลนได้ดี ไม่ควรใช้รองเท้ากีฬาแบบพื้นเรียบดอกละเอียดจะลื่นได้ง่าย ใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด โดยเฉพาะการเดินทางสู่น้ำตกที่มีสัตว์หรือแมลงที่เป็นอันตราย เช่น ทาก หรือถ้าเป็นการเดินทางกลุ่มใหญ่และไปใน
ที่อันตราย อาจจะมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นติดไปด้วย
การเดินในเส้นทางที่อันตราย ควรใช้ความระมันระวังสูงมาก ๆ หากประมาทนั้นหมายถึงการเจ็บตัวหรืออุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหาย และอย่าเสี่ยงโดยไม่จำเป็น


พื้นฐานการถ่ายภาพน้ำตก [เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก]การถ่ายภาพน้ำตกจะมีหลักการใหญ่ ๆ อยู่ นอกเหนือไปจากเรื่องของทิศทางของแสง และการจัดองค์ประกอบ คือ
1. การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ หลักการพื้นฐานคือ ความเร็วชัตเตอร์สูงจะหยุดสายน้ำให้นิ่ง ส่วนความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะทำให้สายน้ำดูพลิ้วไหวและนุมนวนเป็นหลัก จะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับใดขึ้นกับว่าช่างภาพต้องการให้สายน้ำออกมา เป็นอย่างไรเป็นสำคัญ สายน้ำนุ่มๆ จะทำให้น้ำตกดูเล็ก ไม่แข็งกร้าว เหมาะกับน้ำตกที่มีน้ำไม่มากเกินไปนัก ส่วนความเร็วชัตเตอร์สูงทำให้น้ำตกดูรุนแรง เหมาะกับน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีพลังมากๆ

ระดับความเร็วชัตเตอร์ที่ทำให้สายน้ำหยุดนิ่งหรือพลิ้วไหวไม่สามารถระบุออก มาได้ว่าเป็นเท่าไร เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณน้ำ ความเร็วของสายน้ำ เลนส์ที่ใช้ เป็นต้น ถ้าสายน้ำไหลเร็ว รุนแรง น้ำมีปริมาณมาก หรือใช้เลนส์เทเลโฟโต้ การจะจับภาพให้หยุดนิ่งจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก เช่น 1/1,000 วินาที เป็นต้น ในขณะที่สายน้ำซึ่งไหลเอื่อยอาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์เพียง 1/125 วินาทีก็สามารถหยุดภาพได้ สำหรับมือใหม่ควรจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ไว้หลาย ๆ ระดับจะได้มีรูปให้เลือกหลาย ๆ แบบ




2. การเลือกใช้ขนาดช่องรับแสง
ช่องรับแสงแคบจะให้ช่วงความชัดหรือ Depth of Field มากกว่าช่องรับแสงกว้าง โดยปกติการถ่ายภาพน้ำตกจะต้องการภาพที่ชัดตั้งแต่ด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง เพื่อให้ได้ภาพใกล้เคียงตาเห็นมากที่สุด ควรเลือกใช้ช่องรับแสงปานกลางถึงแคบเป็นหลัก เช่น f/8 , f/11 , f/16 ทั้งนี้ขึ้นเลนส์และระยะชัดด้วย


3. การวัดแสง การ ถ่ายภาพน้ำตกมักจะเจอปัญหาเรื่องการวัดแสงค่อนข้างมาก หากภาพมีส่วนที่เป็นสายน้ำสีขาวมาก ภาพมักจะมืดกว่าปกติ ทำให้สายน้ำไม่ขาว ส่วนภาพที่มีส่วนต้นไม้ในเงา หรือมีหินสีเข้ม ๆ มาก ภาพมักจะสว่างมากกว่าปกติ รวมทั้งมักจะมีแดดส่องเป็นส่วนๆ แสงไม่สม่ำเสมอ ทำให้ภาพมืดสว่างเป็นส่วนๆ อีกด้วย



กล้องดิจิตอลจะมีระบบวัดแสงให้เลือกใช้อยู่ 3 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่(Multi-segment light metering) ระบบวัดแสงเฉพาะจุด(Spot light metering) และระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง(Center-weight average light metering) หากเป็นมือใหม่แนะนำให้ใช้ระบบวัดแสงแบบแบ่งพื้นที่ จะสามารถแก้ปัญหาภาพมือหรือสว่างเกินไปได้ดีโดยที่ไม่ต้องไปปรับแก้ค่าการ เปิดรับแสงมากนัก แต่ต้องดูค่า Histogram อย่าให้ส่วนสว่างโดยเฉพาะบริเวณสายน้ำตกสว่างเกินไป ส่วนมืดไม่ต้องกังวลมากเพราะสามารถดึงรายละเอียดขึ้นได้ไม่ยากเท่าไรนัก



สำหรับระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง หากมีสายน้ำสีขาวมาก ๆ ในภาพต้องเปิดรับแสงเพิ่มกว่าที่วัดได้ประมาณ 0.5-1.5 stop และถ้ามีส่วนต้นไม้มืด ๆ หรือหินสีเข้ม ๆ มาก ๆ ควรลดค่าการเปิดรับแสงลงจากที่วัดได้ 0.5-2stop และควรดูค่า Histogram เช่นเดียวกัน


ระบบวัดแสงเฉพาะจุดใช้กับการถ่ายภาพน้ำตกได้ดีมาก โดยเบื้อต้นแนะนำให้วัดแสงที่ตัวสายน้ำ โดยให้พื้นที่วัดแสงเข้าไปอยู่ภายในสายน้ำ หากเป็นการถ่ายภาพตามแสงหรือแสงมาจากด้านข้าง มีแดดส่องลงที่สายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เลือกวัดแสงส่วนสายน้ำโดนแสง แล้วเปิดรับแสงเพิ่มขึ้น 2 stop แต่ถ้าเป็นสภาพอากาศครึ้ม ๆ แดดไม่ออก แนะนำให้วัดแสงส่วนสายน้ำที่ขาวที่สุดในภาพ แล้วเปิดรับแสงเพิ่มขึ้น 1-1.5 stop คำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดใหม่ ๆ คือ ควรถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสงเอาไว้ด้วย รวมทั้งดูค่า Histogram ด้วยเช่นกัน


การวัดแสงสำหรับกล้องดิจิตอลมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้1. ควรวัดแสงเฉพาะจุดบริเวณสายน้ำ แล้วชดเชยแสงโอเวอร์ 1.5 stop สำหรับสายน้ำที่โดนแสงปกติ และ 2 stop สำหรับสายน้ำที่โดนแสงแรงๆ
2. ควรถ่ายคร่อมค่าการเปิดรับแสงเอาไว้ (ใช้ขาตั้งกล้อง) เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุดเสมอ และหากภาพมีความแตกต่างของแสงสูงมากๆ ยังสามารถนำภาพที่ถ่ายคร่อมเอาไว้มาทำภาพ HDR ได้อีกด้วย
3. ควรถ่ายภาพเป็น RAW File เพื่อจะสามารถปรับแก้สี แสง ดังรายละเอียดส่วนเงาได้ในภาพหลัง
4. ควรดู Histogram เพื่อตรวจสอบค่าแสงเสมอ


การตั้งสมดุลสีของแสงน้ำตก มักจะอยู่กลางป่าเขา จะมีการสะท้อนแสงสีเขียวค่อนข้างมาก และหากแดดไม่ออกหรือน้ำตกอยู่ในร่ม ภาพจะติดสีน้ำเงินมากเป็นพิเศษ หากมีแดดออกแนะนำให้ตั้งระบบสมดุลสีไว้ที่ Daylight หรือ Auto ก็ได้ หากไม่มีแดดให้ตั้งไว้ที่ Shade หรือ Auto หากอยู่ในป่ากลางหุบและมีแสงสีเขียวสะท้อนมาก แนะนำให้ใช้ Custom White Balance โดยการตั้งสมดุสีของแสงกับสายน้ำสีขาว(ต้องแน่ใจว่าน้ำเป็นสีขาวจริงๆ) หรือนำกระดาษขาวไปตั้งสีก็ได้ ไม่ยุ่งยาก และได้สีของภาพทีดี ส่วนภาพแบบ RAW สามารถแก้สีได้ละเอียดในภายหลัง จึงควรถ่ายภาพ RAW File เอาไว้เสมอ
การตั้งสมดุลสีที่ถูกต้องจะทำให้ได้ภาพน้ำตกและป่าสีสันสดใส เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสีเขียวของใบไม้ และความขาวสดใสของสายน้ำ


การจัดองค์ประกอบภาพเบื้องต้นปกติผมจะถ่ายภาพน้ำตกแบบเรียบง่าย ไม่เน้นมุมภาพที่โลดโผน มักจะเน้นไปที่แสง ให้น้ำตกดูสวยดังตาเห็น ถ่ายทอดความประทับใจผ่านภาพถ่ายมากกว่า การถ่ายภาพน้ำตก โดยปกติจะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ ถ่ายภาพให้เห็นน้ำตกเต็ม ๆ ภาพ ถ่ายภาพน้ำตกโดยมีฉากหน้าประกอบ และถ่ายเจาะเฉพาะส่วนของน้ำตกที่น่าสนใจ



การถ่ายภาพน้ำตกเต็ม ๆ ผมมักจะพยายามหามุมที่จะทำให้ตัวเองไปอยู่ระดับกึ่งกลางของน้ำตก เพื่อให้มุมกล้องไม่อยู่ในมุมเงยหรือก้ม ซึ่งจะทำให้น้ำตกดูเพี้ยนไป ซึ่งทำให้ผมต้องปีนหินปีนเขาขึ้นไปอยู่เสมอ มุมจากด้านหน้าจะให้น้ำตกดูเต็ม ๆ ยิ่งใหญ่ ส่วนมุมด้านข้างเรามักจะได้ภาพที่เร้าใจดี โดยเฉพาะเมื่อมีแสงตกลงมาจากด้านหน้าหรือด้านข้าง มุมด้านข้างจะได้ภาพที่สวยอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อกำหนด เพราะผมก็มักจะเก็บภาพน้ำตกจากมุมต่ำและมุมสูงเอาไว้ด้วยเช่นกัน ไหน ๆ ก็ไปถ่ายภาพทั้งที ถ่ายไว้หลาย ๆ มุมก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร สิ่งที่ผมชอบในการถ่ายภาพน้ำตกเต็มภาพก็คือ จะให้เห็นที่มาที่ไปของสายน้ำเสมอ หากเลนส์ไม่กว้างพอที่จะเก็บภาพทั้งหมด ให้เห็นว่าสายน้ำไหนไปไหนด้วยโดยไม่จำเป็นต้องเห็นที่มาก็ได้ แต่ถ้าสายน้ำเห็นที่มาแต่ไม่เห็นที่ไป ภาพจะดูแปลกๆ



หากต้องการฉากหน้าเข้ามาประกอบด้วย ควรเลือกฉากหน้าที่ไม่ไปรบกวนจุดเด่นของภาพ แต่ควรจะช่วยเสริมทั้งเรื่องราวและองค์ประกอบของภาพให้ดูดีขึ้น ฉากหน้าไม่ควรรกรุงรัง ผมชอบใช้ฉากหน้าที่เป็นต้นไม้ ก้อนหิน บางครั้งก็เป็นกลุ่มของพรรณไม้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นสภาพรอบข้างของน้ำตก บางครั้งก็เอาใบไม้มาบังท้องฟ้าขาว ๆ ที่ดูไม่น่าสนใจ ซ้ำยังจะรบกวนสายตาและทำให้เกิดแสงฟุ้งอยู่เสมอ ฉากหน้าไม่ควรใหญ่หรือมีพื้นที่มากจนรู้สึกว่า น้ำตกกลายเป็นส่วนประกอบ ฉากหน้ากลายเป็นจุดสนใจ การตั้งกล้องบนขาตั้งจะทำให้เรามีสมาธิในการพิจารณาองค์ประกอบภาพในช่องมอง ภาพได้นาน ๆ และไม่เมื่อยล้าพะวงไปกับการถือกล้องให้นิ่ง และควรเปิดช่องรับแสงให้แคบพอที่จะทำให้ภาพชัดลึกเพียงพอ



บางครั้งการหามุมภาพอาจจะเป็นเรื่องลำบาก ปกติผมมักจะเดินหามุมถ่ายภาพให้เจอก่อนโดยไม่ได้แบกกล้องไปด้วย เพราะจะเสี่ยงต่อการลื่น การปีนป่ายก็ยาก จะเริ่มจากการมองด้วยตาเปล่าก่อน เมื่อพบมุมที่ต้องการแล้วจึงมาดูว่า เลนส์ที่ควรนำมาใช้คือเลนส์อะไร การมองมาก ๆ เดินหามุมมาก ๆ จะช่วยให้เราได้ภาพที่ดีขึ้น และไม่ได้ติดอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ การหามุมภาพจากเลนส์จะรู้สึกเหมือนว่า เลนส์ตัวนี้ทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้าเรามองด้วยสายตาก่อนจะรู้สึกว่า เราอยากได้อะไร แล้วอุปกรณ์ชิ้นไหนจะได้ภาพตามที่เราต้องการ ความมีอิสระทางความคิดจะแตกต่างกัน เสร็จแล้วจึงนำกล้องออกมาถ่ายภาพ อย่าสะพายกล้องเดินไปมาเมื่อต้องถ่ายภาพในสภาวะเสี่ยงต่อการเสียหายของ อุปกรณ์



ถ้าผมเจอน้ำตกที่ไม่สวยนัก คือ ถ่ายเต็ม ๆ ก็ไม่สวย หาฉากหน้าแล้วก็ไม่สวย ผมจะเปลี่ยนไปถ่ายภาพสิ่งรอบข้างที่น่าสนใจโดยมีน้ำตกนั้นเป็นฉากหลังของภาพ อาจจะเป็นต้นไม้ ดอกไม้ที่ดูสวย ก้อนหินที่มีรูปทรงแปลก ๆ หรืออะไรก็ได้ที่ดูแล้วจะทำให้ภาพดูน่าสนใจ หรือไม่ก็เจาะถ่ายภาพเฉพาะส่วนที่น่าสนใจของน้ำตก อาจจะเป็นลักษณะของสายน้ำที่โจนตัวลงมา สายน้ำที่กระทบก้อนหิน หรือแสงตกลงที่สายน้ำที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจ ยังไงก็ไม่ยอมเดินกลับออกไปโดยไม่กดชัตเตอร์ซักภาพแน่นอน



แสงกับการถ่ายภาพน้ำตก [เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก]
แสงและเงาจะมีผลต่อรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ของภาพ รวมไปถึงโทนสีด้วย หากเราได้แสงและเงาที่เหมาะสมจะทำให้ภาพดูสวย มีสีสันสดใส น่าสนใจมากขึ้น ปกติหากเป็นการถ่ายภาพน้ำตกเต็ม ๆ ผมจะรอให้แสงตกลงบนน้ำตกสม่ำเสมอ เลือกแสงที่มาจากด้านข้างหรือค่อนบนสักหน่อย(หากสามารถกระทำได้)มากกว่าแสง ที่มาจากหน้าตรง เพราะแสงที่เข้าข้างจะทำให้น้ำดูขาวใส มีรายละเอียดสูง และแยกแยะจากกันได้ดี ไม่ติดกันเป็นผืนเดียว แต่ถ้ามีลักษณะเป็นแสงเงาตกไม่สม่ำเสมอ ผมจะเลือกให้แสงตกที่ตัวน้ำตกซึ่งเป็นจุดเด่นของภาพ หากน้ำตกอยู่ในเงามืดแล้วส่วนที่เป็นองค์ประกอบรอบข้างมีแสงตก เช่น ต้นไม่ข้างน้ำตกโดนแสง ส่วนน้ำตกไม่โดนแสง หากเราคุมค่าการเปิดรับแสงให้น้ำตกเป็นสีขาว ต้นไม้จะสว่างดูซีดไม่สวย แต่ถ้าคุมแสงที่ต้นไม้ให้พอดี น้ำตกก็จะดำเกินไป หากภาพมีลักษณะแบบนี้ ผมจะไม่ถ่ายภาพ รอเวลาให้แสงไปตกที่น้ำตกแล้วค่อยถ่ายภาพ น้ำตกบางแห่งหันหน้าเข้าหาแสงตอนเช้าหรือบ่าย เราต้องรู้เวลาและเลือกไปในช่วงเวลาที่น้ำตกรับแสง แต่ถ้าเป็นน้ำตกที่หันเข้าแนวเหนือใต้และอยู่ในหุบ มักจะไม่มีแสงตก หรืออาจจะมีแสงตกเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งของปีเท่านั้น ไม่สามารถรอเช้าบ่ายได้เหมือนน้ำตกที่หันเข้าแนวออกตก ผมก็จะเลือกสภาพแสงไม่มีแดดถ่ายภาพน้ำตกนั้นเป็นหลัก



แสงที่ลอดใบไม้หรือต้นไม้ไปตกที่สายน้ำก็จะทำให้ภาพดูสวย หากแสงไม่มีความแตกต่างกันมากจนเกินไป ผมมักจะชอบมองหาแสงแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจอ
การออกไปถ่ายภาพธรรมชาติเราคงไม่ได้สมหวัง กลับมาทุกครั้ง ขึ้นกับดวงของผู้ถ่ายภาพอีกด้วย เคยที่ผมออกไปถ่ายภาพน้ำตกกลางฤดูฝน แต่ปรากฏว่าน้ำตกไม่มีน้ำ แต่ไปช่วงปลายฤดูร้อน น้ำตกแห่งเดียวกันนี้กลับมีน้ำเต็ม หากต้องการภาพสวย ๆ กลับมา ไปครั้งเดียวอาจจะไม่พอ ต้องไปครั้งที่สอง สาม สี่ ความอดทนและขยันจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักถ่ายภาพธรรมชาติ ฝีมือและอุปกรณ์ไม่เพียงพอนะครับ


ในสภาพที่แสงแตกต่างกันมาก เราสามารถถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสงเอาไว้ประมาณ +-2stop จากนั้นนำภาพมาทำภาพ HRD เพื่อดึงรายละเอียดส่วนมืดสว่าง จะช่วยให้ได้ภาพน่าประทับใจที่คนอื่นๆ ทำได้ยาก รวมทั้งกล้องหลายๆ รุ่นมีระบบดึงรายละเอียดส่วนสว่าง หรือดึงรายละเอียดส่วนมืด (เช่น D-Lighting ของ Nikon) ซึ่งจะช่วยให้เก็บรายละเอียดได้ใกล้เคียงตาเห็นในสภาพแสงที่แตกต่างกันมากๆ ได้ดีขึ้นด้วย

การรับมือกับละอองน้ำและความชื้นกล้องที่นำไปถ่ายภาพน้ำตกควรมีการดูแลรักษาอย่างดีทั้งก่อนและหลังใช้งาน
กระเป๋า กล้องที่ใช้ควรเป็นแบบกันน้ำ ทั้งเนื้อผ้าและซิบ มิให้น้ำเข้าไปภายในได้ ภายนอกกระเป๋าอาจะใส่ถุงพลาสติกหรือมีผ้ากันน้ำคลุมกันอีกชั้น รวมถึงตัวกล้องด้วย แต่การคลุมหรือการหุ้มพลาสติกควรทำเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อมิให้ละอองน้ำเข้าไปที่ภายในกล้องหรือกระเป๋าเท่านั้น หากคลุมเอาไว้ตลอดจะมีปัญหาเรื่องความร้อนทำให้อายุ CCD สั้น เลนส์เป็นราได้
ในระหว่างการใช้งานกล้องในที่มีละออองน้ำมาก ให้คลุมกล้องด้วยถุงพลาสติกและหมั่นเช็ดเลนส์และกล้องให้แห้งอยู่เสมอ เลนส์ที่มีละอองน้ำจะทำให้ภาพไม่ชัด อย่าถอดเปลี่ยนเลนส์ในที่มีละอองน้ำพัดผ่าน หากจำเป็นให้เอาตัวบัง อยู่ในที่ลมสงบ หรือหาถุงพลาสติกใบใหญ่มาคลุมเอาไว้จะปลอดภัยกว่า
หลัง จากใช้งานเสร็จแล้วควรทำความสะอาดทันที ใช้ลมเป่าไล่ความชื้นทั้งตัวกล้อง เลนส์ แฟลช กระเป๋ากล้องให้แห้งสนิทจริงๆ และอย่าปิดกระเป๋าจนไม่มีทางระบายอากาศ เพื่อให้ความชื้นและไอน้ำระเหยออกมาได้

ทั้ง หมดนี้เป็นเทคนิคในการถ่ายภาพน้ำตกเบื้องต้น สำหรับท่านที่มีเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติมหรือต้องการแบ่งปันภาพสวยๆ


[เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก]

ที่มา :http://camerartmagazine.com/index.php/photo-techniques/52-photo-techniques/189-photography-waterfalls-techniques

บทความกล้องดิจิตอลยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง